โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus)

ความหมาย โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus)

Hantavirus หรือไวรัสฮันตา เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้มากในสัตว์ฟันแทะ โดยเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดหรือโรคปอดอักเสบ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม มีน้ำคั่งในปอด ความดันโลหิตต่ำ และอาจส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลวได้

Hantavirus เข้าสู่ร่างกายได้โดยการสูดดมละอองสารคัดหลั่งของสัตว์ฟันแทะเป็นหลัก การสัมผัสหรือการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนกับเชื้อนี้ แม้การติดเชื้อ Hantavirus จะพบได้น้อย แต่อาจส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาหรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Hantavirus ได้โดยตรง จึงทำได้เพียงลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ

Hantavirus

อาการของโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา 

ผู้ที่ติดเชื้อ Hantavirus จะเริ่มแสดงอาการภายในเวลา 1–8 สัปดาห์หลังการได้รับเชื้อไวรัสจากปัสสาวะ อุจจาระหรือน้ำลายของสัตว์ฟันแทะ โดยอาการที่เกิดขึ้นแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ

  • อาการระยะเริ่มต้น อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่างต้นขา สะโพก หลังและไหล่ อาจมีอาการปวดหัว วิงเวียน หนาวสั่นร่วมด้วย
  • อาการระยะหลัง จะแสดงประมาณวันที่ 4–10 นับจากวันแรกของระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสมหะ หายใจไม่อิ่ม มีน้ำคั่งในปอด ความดันโลหิตต่ำและประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจลดลง

ผู้ที่ติดเชื้อ Hantavirus อาจมีอาการแย่ลงและเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากเกิดภาวะไตติดเชื้ออาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ Hemorrhagic Fever With Renal Syndrome (HFRS) อย่างปัสสาวะผิดปกติร่วมกับเยื่อเมือกสีแดง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดเลือดออกที่ไต ไตวาย หรือเกิดอาการช็อก ดังนั้น ผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะหรือสัมผัสอุจจาระของสัตว์ฟันแทะมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หรือหายใจลำบาก ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

สาเหตุของโรคติดเชื้อ Hantavirus 

เชื้อ Hantavirus พบได้มากในสัตว์ฟันแทะ โดยเฉพาะหนูเดียร์ (Deer Mouse) ในทวีปอเมริกาใต้ อีกทั้งยังพบในหนูหางขาว หนูข้าวสารและหนูคอตตอนได้เช่นกัน ไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายผ่านทางการสูดดมละอองจากสารคัดหลั่งของหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เช่น การใช้ไม้กวาดทำความสะอาดสิ่งสกปรกจากหนู ทำให้สิ่งสกปรกฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและง่ายต่อการสูดเข้าร่างกาย 

เมื่อเชื้อ Hantavirus เข้าไปอยู่ในบริเวณปอดและรุกล้ำเข้าไปในเส้นเลือดฝอยจนเกิดการรั่วไหล ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดและส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การถูกกัด การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนปัสสาวะหรือมูล การได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผล จมูกและตา เป็นต้น

แม้ว่าจากตัวอย่างของการระบาดในทวีปอเมริกาเหนือจะไม่พบว่า การติดเชื้อ Hantavirus เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน แต่การระบาดของเชื้อไวรัสในทวีปอเมริกาใต้ยังมีการแพร่กระจายในคนอยู่ และเชื้อ Hantavirus ที่แพร่กระจายในทวีปเอเชียก็ส่งผลต่อการทำงานของไตมากกว่าส่งผลกระทบต่อปอด จึงทำให้เห็นว่าเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงข้ามสายพันธุ์ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ฟันแทะ ผู้ที่ทำทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูกทิ้งร้างมานาน การทำความสะอาดบ้านบริเวณเพดานหรือพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน มีพื้นที่บ้านหรือการทำงานร่วมกับรังของสัตว์ฟันแทะ ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ฟันแทะ อย่างงานก่อสร้าง การควบคุมศัตรูพืชหรืองานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค รวมไปถึงการปีนเขา การตั้งแคมป์และการล่าสัตว์ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย

การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Hantavirus 

การวินิจฉัยโรคการติดเชื้อ Hantavirus ในระยะแรกอาจทำได้ยาก เนื่องจากอาการค่อนข้างคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีอาการหายใจไม่อิ่มและมีประวัติอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ฟันแทะ แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูว่าร่างกายของผู้ป่วยมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อ Hantavirus หรือไม่ และอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ Hantavirus และยืนยันผลการวินิจฉัย

การรักษาโรคติดเชื้อ Hantavirus 

ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาการติดเชื้อ Hantavirus โดยตรงและยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้ แพทย์จะรักษาผู้ที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดด้วยการนำของเหลวออกจากปอดและการทำออกซิเจนบำบัดด้วยการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือท่อช่วยหายใจ โดยแพทย์จะสอดท่อช่วยหายใจผ่านจมูกหรือปากลงไปยังหลอดลม เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดและสามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้ 

ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเครื่องดังกล่าวจะสูบฉีดเลือด เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยให้เลือดที่มีออกซิเจนกลับคืนเข้าสู่ร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อ Hantavirus 

ภาวะแทรกซ้อนจะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ Hantavirus ซึ่งภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวจะพบได้ค่อนข้างน้อยแต่โดยทั่วไปอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีของเหลวอยู่ภายในปอด อวัยวะภายในล้มเหลวเนื่องจากภาวะช็อคหรือความดันโลหิตต่ำ และผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว 

การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสฮันตา 

การติดเชื้อ Hantavirus สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ฟันแทะในบริเวณบ้าน ที่ทำงานหรือในบริเวณที่ตั้งแคมป์
  • ปิดรูที่มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 6 มิลลิเมตรขึ้นไปด้วยปูนซีเมนต์ มุ้งลวดหรือแผ่นครอบ เนื่องจากหนูจะสามารถลอดผ่านรูได้
  • ดูแลความสะอาดของเครื่องใช้และบริเวณต่าง ๆ ในครัว เก็บอาหารสัตว์และปิดถุงขยะให้มิดชิด
  • ทิ้งขยะให้ห่างจากตัวอาคารเพื่อป้องกันการสร้างรังของสัตว์ชนิดต่าง ๆ 
  • วางอุปกรณ์ดักจับหนูไว้ตามขอบกำแพงและควรระมัดระวังในการใช้ยาเบื่อหนู เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง
  • หมั่นทำความสะอาดบริเวณที่เคยมีสัตว์ฟันแทะอาศัยอยู่ด้วยแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อหรือสารฟอกขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคและป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจายในอากาศ และควรสวมใส่หน้ากากกรองอากาศ (Respirator) หรือผ้าปิดปากขณะทำความสะอาดในพื้นที่ที่มีหนูชุกชุม