โรคลมแดด (Heatstroke)

ความหมาย โรคลมแดด (Heatstroke)

โรคลมแดด (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป และไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการปวดหัว ผิวแดง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงในทันทีโดยไม่มีสัญญาณเตือน ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อได้

โรคลมแดดเกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัด โดยอุณหภูมิอาจมากกว่า 40 องศาขึ้นไป รวมถึงสามารถเกิดจากการออกกำลังกายเป็นเวลานาน ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคลมแดดได้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง หากได้รับการรักษาล่าช้าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ 

Heat Stroke

อาการของโรคลมแดด

อาการของโรคลมแดดอาจเกิดขึ้นจะแตกต่างกันในแต่ละกรณี โดยอาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป  
  • ร่างกายไม่ขับเหงื่อออกแม้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูง
  • ผิวหนังแดง เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูง
  • ผิวหนังของผู้ป่วยจะแห้งและร้อน แต่กรณีที่เป็นโรคลมแดดจากการออกกำลังกายผิวอาจมีความชื้นบ้าง
  • เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หายใจสั้นและถี่
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการชัก
  • วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ
  • มีสภาพจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สับสนมึนงง กระสับกระส่าย หงุดหงิด พูดไม่ชัด มีอาการเพ้อ หรือไม่สามารถทรงตัวได้

สาเหตุของโรคลมแดด

สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคลมแดด มีดังนี้

  • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง เช่น อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน หรืออยู่กับสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นเป็นเวลา 2 หรือ 3 วันติดต่อกัน 
  • การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดมักเป็นเหตุทำให้เกิดโรคลมแดดได้ อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดประเภทก็สามารเกิดขึ้นในสถานที่อากาศไม่ร้อนได้เช่นกัน
  • สวมใส่เสื้อผ้ามากชิ้นเกินไป เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ไม่ดี และมีสีเข้ม
  • ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายขาดประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิ
  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไม่มีน้ำทดแทนจากการเสียเหงื่อ

กลุ่มเสี่ยงต่อการมีอาการโรคลมแดด เช่น

  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีระบบประสาทส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในร่างกายนั้น เริ่มเสื่อมลงหรือยังพัฒนาไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นวัยที่เสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำได้ง่าย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลมแดดได้มากขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับหัวใจและปอด ผู้ป่วยที่มักจะมีภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น ผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ รวมถึงกลุ่มคนที่น้ำหนักเกิน
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากเป็นระยะเวลานาน เช่น ทหาร นักกีฬา หรือผู้ที่ใช้แรงในการทำงาน และผู้ที่เดินทางไปยังภูมิประเทศที่มีอากาศร้อน
  • ผู้ที่ร่างกายขาดน้ำ อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือสวมใส่เสื้อผ้าคับและระบายอากาศได้ไม่ดี
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแก้แพ้ เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ยารักษาโรคทางจิต หรือยาเสพติด
  • ไม่มีเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด เพราะแม้ว่าพัดลมจะมีส่วนช่วย แต่เครื่องปรับอากาศนั้นมีประสิทธิภาพในการลดอุณหภูมิและความชื้นได้ดีกว่า

การวินิจฉัยโรคลมแดด

โดยปกติแพทย์จะวินิจฉัยโรคลมแดดได้ทันที เพราะมีอาการที่แสดงชัดเจน อย่างไรก็ตาม การตรวจในห้องปฏิบัติการจะช่วยยืนยันการวินิจฉัย แยกสาเหตุ และช่วยประเมินความเสียหายของอวัยวะในร่างกายได้ โดยแพทย์อาจทำการตรวจดังต่อไปนี้

  • ตรวจสอบการทำงานของกล้ามเนื้อ เพื่อตรวจสอบความเสียหายของกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมแดด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบความเสียหายของประสาทส่วนกลาง ด้วยการดูระดับโพแทสเซียมและโซเดียม หรือปริมาณก๊าซและของเสียในเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูสีของปัสสาวะ เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงมักมีปัสสาวะสีเข้ม หรือตรวจสอบการทำงานของไต ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโรคลมแดด
  • เอกซเรย์ (X-Ray) หรือการตรวจจากการดูภาพอวัยวะภายใน เพื่อตรวจสอบความเสียหายของอวัยวะภายในที่ได้รับผลกระทบจากโรคลมแดด

การรักษาโรคลมแดด

การรักษาโรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ด้วยการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเป็นปกติโดยเร็ว

เบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างอาจช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยการนำตัวไปไว้ในที่ร่มหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดหรือคลายเสื้อผ้าที่คับแน่นออก และประคบด้วยความเย็น

วิธีการรักษาเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ได้แก่

  • ให้ผู้ป่วยอาบน้ำเย็นหรือแช่ตัวลงไปในน้ำเย็น เป็นวิธีที่จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้อย่างรวดเร็ว
  • แพทย์บางท่านจะใช้เทคนิคการระเหย โดยใช้น้ำเย็นชโลมตามผิวหนังของผู้ป่วยและใช้พัดลมเป่าให้เกิดการระเหย ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายเย็นลง
  • ใช้แพ็คน้ำแข็งประคบไปที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ คอและหลัง เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีเส้นเลือดที่ใกล้กับชั้นผิวหนังอยู่จำนวนมาก วิธีนี้จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้เป็นอย่างดี
  • พยายามทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงมาที่ประมาณ 38.3-38.8 องศาเซลเซียส โดยคอยเฝ้าดูด้วยเทอร์มอมิเตอร์ ในขณะที่ยังคงใช้วิธีรักษาเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • วิธีการรักษาเพื่อทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหนาวสั่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น แต่ทำให้วิธีการรักษาโรคลมแดดมีประสิทธิภาพลดลง แพทย์จึงอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) เพื่อบรรเทาอาการหนาวสั่น
  • แพทย์อาจให้น้ำเกลือหรือเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ

ภาวะแทรกซ้อนโรคลมแดด

โรคลมแดดทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดอาการและหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรืออวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ไตวายหรือหัวใจวาย อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรได้ และหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันโรคลมแดด

การป้องกันโรคลมแดดทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • วิธีที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำสะอาดให้มาก และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจไปกระตุ้นให้ปัสสาวะมากขึ้น จนเกิดอาการขาดน้ำได้
  • สังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของตนเอง หากปัสสาวะน้อยหรือมีสีเข้ม หมายถึงร่างกายอาจกำลังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
  • ควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงออกไปกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อน หรือเวลาประมาณ 11.00-15.00 น. ของแต่ละวัน 
  • เมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง อาจปกป้องตนเองจากแสงแดด ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) 15 ขึ้นไป 
  • หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศร้อน ให้ระมัดระวังขณะที่ร่างกายกำลังปรับตัวกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น
  • รับประทานผักหรือผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ผักบุ้ง ตำลึง บวบ ฟัก สายบัว ดอกแค ข้าวโพด ถั่วงอก บล็อกโคลี่ แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้ม กล้วยน้ำว้า สตรอเบอร์รี่ น้ำมะพร้าว 
  • ใช้น้ำพรมตามผิวหนังและเสื้อผ้า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ วางไว้ที่คอ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • จัดการสภาพแวดล้อมหรือที่พักอาศัยให้เย็นสบาย เช่น ปิดผ้าม่านบริเวณแสงแดดส่องถึง เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม ควรปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เพราะเป็นแหล่งกำเนิดความร้อน นอกจากนี้ อาจปลูกต้นไม้ หรือวางอ่างน้ำไว้บริเวณที่พักอาศัยก็สามารถช่วยให้อุณหภูมิเย็นลงได้
  • ไม่อยู่ในรถที่จอดทิ้งไว้กลางแดด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากอุณหภูมิในรถมักเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายได้
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดหรือเป็นโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงอากาศร้อน หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมบริเวณกลางแจ้งขณะที่อากาศร้อน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีบริการทางการแพทย์เตรียมพร้อมอยู่

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอาการร้อนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหน้าร้อน ทำให้เสี่ยงต่อโรคลมแดดกันได้มาก สิ่งสำคัญคือการสังเกตอาการความผิดปกติของตนเองและผู้อื่น ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคลมแดด เพื่อที่จะสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้น และเข้ารับการรักษาได้ทัน นอกจากนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ออกกลางแจ้ง หรืออยู่ในที่ที่อากาศร้อน ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อรักษาสมดุลร่างกายให้ดีอยู่เสมอ