ความหมาย โรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires’ disease)
Legionnaires’ disease (โรคลีเจียนแนร์) เป็นโรคปอดติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา (Legionella) โดยลักษณะอาการเด่นที่มักพบได้ เช่น ปวดศีรษะขั้นรุนแรง ไข้ขึ้นสูง หายใจไม่อิ่ม ปวดกล้ามเนื้อ และไอ
แบคทีเรียลีจิโอเนลลา เป็นแบคทีเรียที่มีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ลีจิโอเนลลา นิวโมฟิลา (Legionella pneumophila) จะเป็นชนิดที่พบได้บ่อย โดยเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาสามารถส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดอาการได้ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง
ในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่าโรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ และปวดเมื่อย แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง ส่วนในกรณีติดเชื้อขั้นรุนแรง ทางการแพทย์จะเรียกโรคนี้ว่าโรคลีเจียนแนร์ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาทันที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
อาการของ Legionnaires’ disease
อาการของ Legionnaires’ disease จะเริ่มแสดงในช่วงระยะเวลาประมาณ 2–10 วันหลังจากที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา โดยในช่วงวันแรก ๆ จะมักพบอาการปวดศีรษะ มีไข้ขึ้นสูง และปวดกล้ามเนื้อ จากนั้น ผู้ที่ติดเชื้อจะเริ่มพบอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น
- อาการไอ โดยส่วนมากจะเป็นอาการไอแห้ง แต่ในบางกรณีอาจมีเสมหะหรือเลือดปน
- รู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนเพลียผิดปกติ
- หายใจไม่อิ่ม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- เจ็บหน้าอก
- มีภาวะสับสน
- ชัก
ทั้งนี้ อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น Legionnaires’ disease หรือโรคลีเจียนแนร์เป็นโรคที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ดังนั้น ผู้ที่พบอาการในลักษณะข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที โดยเฉพาะหากพบว่าผู้ที่ใช้อาคารร่วมกัน เช่น ในโรงแรมหรือสถานที่ทำงานเพิ่งป่วยเป็นโรคนี้
สาเหตุของ Legionnaires’ disease
Legionnaires’ disease เป็นโรคที่เกิดจากการที่ปอดติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลา โดยแบคทีเรียชนิดนี้สามารถพบได้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในน้ำอุ่นประมาณ 32–45 องศาเซลเซียส ทั้งแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อย่างแม่น้ำหรือทะเลสาบ และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างน้ำภายในระบบเครื่องปรับอากาศ อ่างน้ำพุประดับ ถังเก็บน้ำ เครื่องทำความชื้น เครื่องทำน้ำร้อน สปริงเกอร์ หรือเครื่องมือช่วยหายใจในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อมาจากแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่และโรงแรม
การติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายทาง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสูดดมละอองน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาเข้าไป และบางกรณีอาจจะเป็นการติดเชื้อผ่านทางบาดแผล การสัมผัสดินที่มีเชื้อ หรือการสำลักน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาและน้ำไหลเข้าสู่หลอดลม แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ Legionnaires’ disease เป็นโรคที่ไม่ติดต่อผ่านคนสู่คน และพบได้ไม่บ่อยนัก โดยผู้ที่ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น
- ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่เคยสูบบุหรี่หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดที่แพทย์ต้องใช้ยาระงับความรู้สึก
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจชนิดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคถุงลมโป่งพอง
- ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิดอยู่ อย่างยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่ำลง
การวินิจฉัย Legionnaires’ disease
ในการวินิจฉัย Legionnaires’ disease แพทย์จะตรวจร่างกายในเบื้องต้น สอบถามอาการผิดปกติและประวัติการเดินทาง จากนั้นแพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาเชื้อ โดยวิธีที่แพทย์มักใช้คือ การตรวจเสมหะ การตรวจปัสสาวะ และการตรวจเลือด
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น
- การเอกซเรย์ หรือซีที สแกน (CT Scan) เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในปอดของผู้ป่วย
- การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) เพื่อตรวจดูภายในปอดของผู้ป่วย และนำตัวอย่างของเหลวในปอดไปตรวจ
การรักษา Legionnaires’ disease
ในการรักษาผู้ป่วย Legionnaires’ disease แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก โดยแพทย์จะพิจารณาให้เป็นชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งหากเป็นการใช้ยาเม็ด ผู้ป่วยควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ชนิดของยาปฏิชีวนะที่แพทย์มักใช้ เช่น
- ยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) เช่น ยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือยามอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin)
- ยาในกลุ่มแมคโครไลด์ (Macrolide) เช่น ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) เช่น ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline)
ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการรักษา แพทย์มักให้ผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงอาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือมีอาการหายใจไม่ออก
นอกจากนี้ ภายหลังจากการรักษา ผู้ป่วยบางคนยังอาจมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่ เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการออกเสียง หรืออาการทรงตัวลำบาก แต่อาการมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง โดยระยะเวลาที่ใช้อาจจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ
ภาวะแทรกซ้อนของ Legionnaires’ disease
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่บริเวณอื่นของร่างกายร่วมด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่รุนแรงจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น
- เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น ทรงตัวลำบาก พูดลำบาก หรือรู้สึกสับสน
- เกิดหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Empyema)
- ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure)
- ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ภาวะไตวาย (Kidney Failure)
- ภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock)
การป้องกัน Legionnaires’ disease
สำหรับผู้ที่ดูแลระบบเครื่องปรับอากาศและระบบน้ำของอาคารขนาดใหญ่ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิด Legionnaires’ disease โดยการหมั่นเปลี่ยนน้ำ ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในระบบเครื่องปรับอากาศและระบบน้ำในอาคารเป็นประจำ โดยเฉพาะในท่อส่งนํ้า
สำหรับบุคคลทั่วไป ให้ทำความสะอาดก๊อกน้ำ หัวฝักบัว หรืออ่างอาบน้ำบ่อย ๆ และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียลีจิโอเนลลาได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องทำสวนหรือทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินบ่อย ๆ ควรสวมถุงมือและหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และที่สำคัญควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลังเสร็จกิจกรรมเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับดิน