ความหมาย โรควัวบ้า
โรควัวบ้า เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทส่วนกลางที่พบในวัว แต่สามารถส่งผ่านมายังคนและสัตว์ชนิดอื่นได้ แม้จะพบได้น้อยมาก แต่โรคนี้ก็ทำให้สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติได้ โดยสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรม การรับความรู้สึก และการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป สำหรับในคน มีโรคที่มีอาการคล้ายกับโรควัวบ้า คือ โรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ (Variant Creutzfeldt-Jakob Disease หรือ vCJD) ที่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อโรควัวบ้า โดยทั้งโรควัวบ้าและโรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบล้วนทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ โรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบ แตกต่างจากโรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบแบบดั้งเดิม (Classic Creutzfeldt-Jakob Disease หรือ CJD) ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่พบสาเหตุและเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยโรคครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบแบบดั้งเดิมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับโรควัวบ้า และอาจพบได้ทั่วโลกรวมแม้ในประเทศที่ไม่เคยพบโรควัวบ้าระบาด ทั้งยังเคยมีผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเสียชีวิตจากโรคนี้ด้วย ซึ่งมักเกิดโรคนี้ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายในเวลาประมาณ 6 เดือนหลังจากแสดงอาการ
อาการของโรควัวบ้า
โดยทั่วไป วัวหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เป็นโรควัวบ้าจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม มีปัญหาในการเดินและการลุก เนื่องจากเสียการทรงตัว อาจมีพฤติกรรมที่รุนแรง มีน้ำหนักตัวและน้ำนมที่ลดลง และล้มตายในเวลาต่อมา
ส่วนผู้ป่วยโรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบนั้น จะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อไม่ได้ มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก
- มีพฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป
- มองเห็นภาพผิดปกติ โดยอาจเห็นภาพหลอน ตาพร่ามัว หรือตาบอดได้
- การรับความรู้สึกผิดปกติ
- พูดหรือกลืนอาหารลำบาก
- รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า
- นอนไม่หลับ
- ความจำเสื่อม
ทั้งนี้ โรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยหมดสติ และอาจเสียชีวิตภายในเวลาประมาณ 13 เดือนหลังเริ่มแสดงอาการ
สาเหตุของโรควัวบ้า
โรควัวบ้าเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนที่พบบนพื้นผิวของเซลล์ที่ชื่อว่าพรีออน (Prion) ซึ่งจะทำลายเนื้อเยื่อประสาท สมอง และไขสันหลังของวัว ซึ่งติดมาสู่คนได้ โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของความผิดปกตินี้ แต่การติดเชื้อในคนอาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากวัวที่อาจปนเปื้อนเนื้อเยื่อของระบบประสาทส่วนกลางของวัวที่ติดเชื้อโรควัวบ้า เช่น สมอง และเส้นประสาทไขสันหลัง เป็นต้น จนทำให้เป็นโรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบตามมาได้ อย่างไรก็ตาม มีการทดลองที่พบว่า การบริโภคนมวัวไม่ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรควัวบ้าแต่อย่างใด
การวินิจฉัยโรควัวบ้า
ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้โดยประเมินจากอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และตรวจทางระบบประสาทเพื่อดูความผิดปกติของผู้ป่วย เช่น ตรวจการเคลื่อนไหวร่างกายและการมองเห็น เป็นต้น และอาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมในหลายรูปแบบด้วย ทั้งการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI Scan) เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน การบันทึกคลื่นไฟฟ้าในสมอง (Electroencephalogram) เพื่อตรวจความผิดปกติของสมอง รวมถึงการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง เพื่อตรวจหาโปรตีนที่อาจทำให้เกิดโรค
นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิต อาจมีการนำเนื้อเยื่อสมองที่ได้จากการตัดชิ้นเนื้อสมองหรือการชันสูตรศพมาตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันสาเหตุของการเสียชีวิตด้วย
การรักษาโรควัวบ้า
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่รักษาโรควัวบ้าและโรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบได้ จากการทดลองใช้ยาชนิดต่าง ๆ ทั้งยาประเภทสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ รวมถึงยาต้านไวรัสต่าง ๆ พบว่าไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวรักษาโรคนี้ได้ แพทย์จึงต้องรักษาผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและลดความรุนแรงของอาการต่าง ๆ แทน
ภาวะแทรกซ้อนของโรควัวบ้า
โดยทั่วไป อาการของโรควาเรียนท์ครอยตส์เฟลดต์-จาค็อบจะมีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยต้องห่างเหินจากครอบครัวและคนรอบข้าง ทั้งยังอาจสูญเสียความทรงจำ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จนกระทั่งไม่รู้สึกตัวในตอนท้ายสุด นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปอดบวม หรือเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้เช่นกัน
การป้องกันโรควัวบ้า
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ที่ติดเชื้อและไม่มีวิธีเฉพาะในการป้องกันโรควัวบ้า แต่คนทั่วไปอาจลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- เพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่อาจเกี่ยวข้องกับโรควัวบ้า
- หากมีโรควัวบ้าระบาดในประเทศที่อาศัยอยู่ ให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
ส่วนการป้องกันในระดับประเทศ รัฐบาลในหลายประเทศมีการใช้มาตรการเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรควัวบ้าภายในประเทศ โดยบังคับใช้กับผู้บริโภคและผู้ผลิต ดังนี้
- ห้ามนำเข้าวัวหรือสัตว์อื่น ๆ ที่ติดเชื้อโรควัวบ้า
- ห้ามเลี้ยงสัตว์ที่อาจเสี่ยงติดเชื้อโรควัวบ้า
- ห้ามใช้วัตถุดิบที่อาจเสี่ยงติดเชื้อโรควัวบ้าในการประกอบอาหาร
- เพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการจัดการกับสัตว์ที่ป่วย
- เฝ้าระวังและตรวจสอบเพื่อติดตามสุขภาพของวัว