ความหมาย โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)
โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราฮิสโตพลาสมา (Histoplasma) ซึ่งมักพบในดินที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลของนกหรือค้างคาว ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการแสดงออกมา แต่บางรายอาจมีไข้ ไอแห้ง หรือเหนื่อยล้า โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเด็กทารก
ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรงอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อราในปอดรุนแรง เรื้อรัง หรือการติดเชื้อราแพร่กระจายจากปอดไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราภายใต้การดูแลจากแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของโรคฮิสโตพลาสโมซิส
แม้ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจพบอาการเล็กน้อยหลังได้รับเชื้อราก่อโรคฮิสโตพลาสโมซิสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3–17 วัน เช่น มีไข้ ไอแห้ง เหนื่อยล้ามาก ตัวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก ปวดร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ หรือเกิดผื่น ซึ่งอาการเหล่านี้มักหายได้เองภายใน 2–3 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวปอดหรือป่วยเป็นโรคปอดอย่างถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว อาจเผชิญกับอาการป่วยเรื้อรัง ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง ไอเสมหะเหนียวหรือเป็นเลือด หายใจลำบาก ไปจนถึงระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้
ในเด็กทารกและคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเสี่ยงปอดติดเชื้อราแบบเรื้อรัง หรือเชื้อราอาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ปาก ผิวหนัง ตับ สมอง ไขสันหลัง หรือต่อมหมวกไต ทำให้เกิดอาการอักเสบและระคายเคือง เช่น เจ็บหน้าอกจากหัวใจอักเสบ มีไข้สูง หรือคอแข็งและปวดศีรษะจากสมองและไขสันหลังอักเสบ
สาเหตุของโรคฮิสโตพลาสโมซิส
โรคฮิสโตพลาสโมซิสเป็นผลจากจากการติดเชื้อรา Histoplasma capsulatum ซึ่งมักอยู่ในดินที่ปนเปื้อนมูลสัตว์ปีก เช่น ไก่ นกพิราบ หรือค้างคาว โดยอาจจะเป็นดินในบริเวณเล้าไก่ ยุ้งข้าวเก่า ถ้ำ หรือสวนสาธารณะต่าง ๆ
เมื่อเราสูดดมสปอร์เชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราตามมาได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อราชนิดนี้ เช่น คนเลี้ยงไก่ คนงานก่อสร้าง ช่างมุงหลังคา คนสวน นักสำรวจถ้ำ หรือคนงานรื้อถอนอาคาร
รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มอ่อนแอยังอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่รุนแรง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ผู้เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด และผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิดอย่างยาควบคุมโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือยาป้องกันการปฎิเสธอวัยวะ
ทั้งนี้ โรคฮิสโตพลาสโมซิสนั้นไม่ติดต่อจากคนสู่คนหรือคนสู่สัตว์ และหากเคยป่วยเป็นโรคนี้แล้วครั้งหนึ่งก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ แต่อาการอาจรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรก หากผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเกิดติดเชื้อราซ้ำ เชื้อราอาจแฝงอยู่ภายในร่างกายนานนับปีแล้วค่อยปรากฏอาการขึ้นมาภายหลัง
การวินิจฉัยโรคฮิสโตพลาสโมซิส
แพทย์จะตรวจประวัติการเดินทาง ประวัติสุขภาพ อาการที่เกิดขึ้นจากผู้ป่วย และส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ นอกจากนี้อาจมีการตรวจซีที สแกน หรือการเอกซเรย์บริเวณหน้าอกหรือปอด และเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปอด ตับ ผิวหนัง ไขกระดูก หรือของเหลวจากในระบบทางเดินหายใจ เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการด้วย
การรักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิส
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพราะมักหายได้เอง แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือใช้ยาที่หาซื้อได้เองเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย
บางรายที่มีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรืออยู่ในระยะแพร่กระจายเชื้อโรค ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้านเชื้อราชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด เช่น ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) หรือยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
โดยระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งอาจกินเวลาตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 1–2 ปี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคฮิสโตพลาสโมซิส
โรคฮิสโตพลาสโมซิสอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่มักไม่รุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต เช่น กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลันhttps://www.pobpad.com/ards-กลุ่มอาการหายใจลำบากเ (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDS) ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอย่างเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การป้องกันโรคฮิสโตพลาสโมซิส
การป้องกันโรคฮิสโตพลาสโมซิสทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสูดดมสปอร์เชื้อรา Histoplasma capsulatum แม้เป็นไปได้ยากเพราะเชื้อรานี้มีอยู่ในธรรมชาติรอบตัว แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการให้อาหาร สัมผัสตัวสัตว์หรือเข้าไปอยู่กลางฝูงนกและค้างคาว หากจำเป็นควรสวมถุงมือและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น รังนกพิราบ เล้าไก่ พื้นที่ก่อสร้าง สวนสาธารณะ หรือถ้ำ
- สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และอุปกรณ์ป้องกันตัวเองทุกครั้งเมื่อต้องทำงานหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราหรือมีนกและค้างคาวอาศัยอยู่
- หลีกเลี่ยงการขุดดินหรือตัดไม้ในบริเวณที่มีนกหรือค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หากจำเป็นต้องขุดดินควรพรมน้ำให้ทั่วหน้าดินก่อนเสมอ ซึ่งอาจช่วยป้องกันสปอร์เชื้อราฟุ้งกระจายในอากาศ
- หมั่นทำความสะอาดหรือซ่อมแซมบ้าน ยุ้งข้าว หรือเล้าไก่เป็นประจำ
- เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังสัตว์ปีกมากกว่าคนสุขภาพดีทั่วไป เพราะการติดเชื้อโรคอาจส่งผลให้มีอาการรุนแรง
- หากพบสัตว์ปีกตายหรือมีอาการที่ผิดปกติ ควรแจ้งสำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 06-3225-6888