ความหมาย โรคเพมฟิกอยด์
Bullous Pemphigoid หรือโรคเพมฟิกอยด์ รู้จักกันในอีกชื่อว่า โรคตุ่มน้ำพองใส เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตนเองทำงานผิดปกติ มักพบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยก่อให้เกิดอาการคัน ผิวแดง และมีตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ขึ้นบริเวณผิวหนัง โรคนี้อาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ แต่พบได้น้อยมาก
โดยทั่วไป โรคนี้สามารถรักษาและควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ร่วมกับการดูแลตนเอง เช่น ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ ออกกำลังกายแต่พอดี ทำจิตใจให้สงบ เป็นต้น แต่ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์และรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โรคเพมฟิกอยด์ไม่ใช่โรคติดต่อ คนในครอบครัวหรือคนรอบข้างจึงสามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ตามปกติ
อาการของ Bullous Pemphigoid
อาการของโรคเพมฟิกอยด์อาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการคันตามผิวหนังติดต่อกันเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อนจะเกิดเป็นตุ่มน้ำใส
- มีตุ่มน้ำขนาดใหญ่ แตกได้ยาก มักพบบริเวณรอยพับของผิวหนังอย่างแขน ขา ท้องด้านล่าง หรือขาหนีบ โดยของเหลวภายในตุ่มน้ำอาจมีลักษณะใส หรือปนเลือด
- ผิวหนังรอบตุ่มน้ำบวมแดงหรือมีสีคล้ำกว่าปกติ
- เกิดการอักเสบของผิวหนัง หรือมีผื่นคล้ายลมพิษ
- อาจมีตุ่มน้ำหรือแผลเล็ก ๆ ภายในช่องปากหรือเยื่อบุผิวต่าง ๆ
- ในกรณีที่ตุ่มน้ำแตกจะทำให้เกิดแผลหรือรอยถลอก และอาจตกสะเก็ด
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีตุ่มน้ำในลูกตา หรือมีสัญญาณของอาการติดเชื้อควรไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของ Bullous Pemphigoid
โรคเพมฟิกอยด์เป็นผลมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นภายในร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ แทนที่จะปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคตามกระบวนการทำงานปกติ จึงเกิดเป็นตุ่มน้ำและอาการคันตามผิวหนัง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกตินี้ แต่พบว่าปัจจัยบางประการอาจกระตุ้นให้เกิดโรค เช่น รังสียูวี การรักษาด้วยการฉายแสง รวมไปถึงโรคบางชนิดอย่าง สะเก็ดเงิน โรคไลเคน พลานัส โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น
การวินิจฉัย Bullous Pemphigoid
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ลักษณะอาการ การใช้ยา และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ร่วมกับตรวจเลือดและตัดชิ้นเนื้อเยื่อขนาดเล็กจากรอยโรคไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำมาประกอบการวินิจฉัย เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากโรคเพมฟิกอยด์จริงหรือไม่ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผิวหนัง
การรักษา Bullous Pemphigoid
การรักษาหลักของโรคเพมฟิกอยด์คือการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ฟื้นฟูผิวหนังให้กลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรค ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาตัวเดียวหรือหลายตัวรวมกันด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด เช่น
ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์
ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่นิยมใช้จะเป็นยาเพรดนิโซโลนในรูปแบบเม็ด ซึ่งหากใช้ยาติดต่อกันในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และการติดเชื้อ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น รู้สึกไม่สบายท้องหรืออาหารไม่ย่อย ทั้งนี้ การใช้ยาในรูปแบบทาอาจเกิดผลข้างเคียงเช่นกัน แต่จะพบน้อยกว่า
ยากดภูมิคุ้มกัน
ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดเลือดขาวที่ใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อภายในร่างกาย ตัวอย่างยา ได้แก่ ยาอะซาไธโอพรีน ยาไมโคฟีโนเลต หรือยาเมโธเทรกเซท หากโรคเพมฟิกอยด์ส่งผลต่อดวงตาหรือทางเดินอาหารส่วนบน และในกรณีที่ยาตัวอื่นใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้ยาริทูซิแมบแทน
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างยาแดพโซน ยาเตตราไซคลีน ยาด็อกซีไซคลิน และยาอิริโทรมัยซิน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและควบคุมอาการของโรคเบื้องต้นตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หากมีตุ่มน้ำใสตามผิวหนังควรใช้น้ำเกลือทำความสะอาดแผลด้วยการเช็ดผิวหนังเบา ๆ หรือใช้ยาทาฆ่าเชื้อ แต่ไม่ควรเปิดแผลบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังถลอกหรือหลุดได้
- หากมีตุ่มน้ำใสหรือแผลในปากควรใช้แปรงสีฟันชนิดขนแปรงอ่อนนุ่มทำความสะอาดภายในช่องปาก หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือหลังรับประทานอาหารเสร็จ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแกะเกาผิวหนัง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รสเผ็ด หรือรสเปรี้ยว เพราะอาจทำให้เจ็บแผลในปากมากยิ่งขึ้น รวมถึงอาหารที่มีลักษณะแข็งอย่างผลไม้บางชนิดหรือขนมกรุบกรอบ เพราะอาจทำให้เยื่อบุในช่องปากหลุดลอกและทำให้อาการแย่ลง
- ผู้ป่วยอาจต้องงดทำกิจกรรมบางชนิดจนกว่าจะควบคุมอาการได้ เนื่องจากตุ่มน้ำหรือแผลบริเวณมือและเท้าอาจทำให้ยากต่อการเดิน การหยิบจับ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- พยายามอยู่แต่ในที่ร่ม ไม่ควรให้ผิวหนังที่มีอาการของโรคโดนแดดเป็นเวลานาน
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป เพื่อลดการเสียดสีของเสื้อกับผิวหนัง
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังอย่างพอดีตามที่แพทย์แนะนำ
- ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยาอย่างโรคกระดูกพรุน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อหรือไปในสถานที่แออัด เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น
เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรไปตามนัดหมายของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากพบความผิดปกติหรืออาการแย่ลงในระหว่างการรักษาควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ภาวะแทรกซ้อนของ Bullous Pemphigoid
ผู้ป่วยโรคเพมฟิกอยด์อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนังอย่างเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เชื้อไวรัสเริม โรคอีสุกอีใส หรืองูสวัด รวมถึงภาวะพิษเหตุติดเชื้อที่เป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกัน Bullous Pemphigoid
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเพมฟิกอยด์ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้โดยตรง แต่อาจลดความเสี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือไม่อยู่กลางแจ้งเป็นประจำ ควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวหนัง หากมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาควบคู่ไปด้วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่ผิวหนังหรือมีสัญญาณอาการที่เข้าข่ายโรคนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่ม