ความหมาย โรคเพลแลกรา (Pellagra)
Pellagra หรือโรคเพลแลกรา คือโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin) และทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งทำให้เกิดอาการ 3 กลุ่ม ได้แก่ อาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
Pellagra เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยในปัจจุบัน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ได้รับอาหารที่มีไนอะซินและทริปโตเฟนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่อาจพบในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไนอะซินไปใช้ได้ ซึ่งการรักษาโรค Pellagra มักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 3 ควบคู่กับการปรับอาหารให้ร่างกายได้รับไนอะซินเพียงพอ
อาการของ Pellagra
ผู้ป่วยโรค Pellagra ส่วนมากมักมีอาการผื่นผิวหนัง ปวดท้อง แต่หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะหลังจะมีอาการความจำเสื่อม บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
อาการทางผิวหนัง
ผู้ป่วยอาจมีอาการทางผิวหนังต่าง ๆ ดังนี้
- ผิวไวต่อแสง เช่น ผิวแดงและไหม้ง่ายหลังถูกแสงแดด เกิดจุดด่างดำ แห้งลอก โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าและถูกแสงแดดบ่อย เช่น ใบหน้า ลำคอ หลังมือ ท้องแขน ขา และเท้า
- ผิวหนังบริเวณข้อศอก เข่า และตาตุ่มหนาตัวขึ้นหรือเกิดเม็ดสีผิดปกติ
- ลิ้น เหงือก และเยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ ทำให้มีอาการบวมแดง แห้งแตก เป็นแผล และอาจทำให้ลิ้นมีลักษณะเรียบกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการมุมปากอักเสบ หรือปากนกกระจอก (Angular Cheilitis)
- ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักเปลี่ยนเป็นสีแดง แตก หรือเปื่อยยุ่ย และเยื่อบุช่องคลอดอักเสบ
- มีความผิดปกติของต่อมไขมัน ได้แก่ ต่อมไขมันอักเสบและต่อมไขมันโต (Sebaceous Hyperplasia) ซึ่งทำให้เกิดขุยแห้งสีเหลืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก ใบหน้า และจมูก
อาการทางระบบทางเดินอาหาร
อาการทางระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วย Pellagra อาจเริ่มจากอาการเบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไปจนถึงท้องเสียซึ่งจะเป็นเรื้อรัง โดยผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะถ่ายเหลวหรือถ่ายมีมูกเลือดปน
อาการทางประสาท
หากผู้ป่วยโรค Pellagra ไม่ได้รับการรักษา ในระยะหลังอาจมีอาการทางประสาทต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เซื่องซึม ฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล กระสับกระส่าย สับสน และความจำแย่ลง อาจนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมได้
ทั้งนี้ หากปล่อยให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
สาเหตุของ Pellagra
โรค Pellagra เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 หรือไนอะซิน ซึ่งเป็นวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย โดยช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยในการทำงานของระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร และผิวหนัง หากได้รับไนอะซินไม่เพียงพอจะทำให้เกิดโรค Pellagra ได้ ซึ่งสาเหตุของการขาดไนอะซินแบ่งเป็น 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
-
การรับประทานอาหารที่มีไนอะซินไม่เพียงพอ
ร่างกายได้รับไนอะซินส่วนหนึ่งจากอาหารต่าง ๆ เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ถั่วและธัญพืช และอีกส่วนหนึ่งได้จากการสังเคราะห์ขึ้นจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) การรับประทานอาหารที่มีปริมาณไนอะซินต่ำจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายได้รับไนอะซินไม่เพียงพอ และทำให้เกิดโรค Pellagra ขึ้น
-
โรคและความผิดปกติของร่างกาย
ร่างกายของผู้ป่วยบางคนไม่สามารถดูดซึมไนอะซินได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ภาวะติดสุรา (Alcoholism)
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ภาวะท้องเสียเรื้อรัง โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำไส้เล็ก (Whipple's Disease) และโรคโครห์นโรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- ความผิดปกติทางการกิน อย่างอะนอเร็กเซีย (Anorexia)
- ตับแข็ง (Liver Cirrhosis)
- กลุ่มอาการคาร์ซินอยด์ (Carcinoid Syndrome) ซึ่งเกิดจากเนื้องอกบริเวณปอดและทางเดินอาหาร
- โรค Hartnup ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถดูดซึมกรดอะมิโนบางชนิดได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก (Anticonvulsant) และยากดภูมิคุ้มกัน
- การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery)
การวินิจฉัย Pellagra
Pellagra เป็นโรคที่มีอาการหลากหลายจึงอาจวินิจฉัยได้ยาก ซึ่งแพทย์อาจสอบถามอาการและอาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน จากนั้นจึงตรวจอาการทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท
ในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีการตรวจอื่นเพื่อตรวจปริมาณไนอะซินในร่างกาย เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด และตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนัง (Skin Biopsy) ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจช่วยในการตัดโรคที่ไม่เกี่ยวข้องออก และใช้ประเมินอาการของผู้ป่วยหลังได้รับอาหารเสริมไนอะซิน
การรักษา Pellagra
การรักษาโรค Pellagra มีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณไนอะซินในร่างกายของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ โดยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน ควบคู่กับการรับประทานอาหารเสริมไนอะซินหรือนิโคทินาไมด์ (Nicotinamide) ซึ่งเป็นไนอะซินรูปแบบหนึ่ง และผู้ป่วยบางรายอาจต้องฉีดไนอะซินเข้าทางหลอดเลือดดำ
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานนิโคทินาไมด์อย่างน้อย 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานและรับประทานติดต่อกัน 3–4 สัปดาห์
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว แพทย์จะให้รักษาโรคที่เป็นปัจจัยของโรค Pellagra ควบคู่ไปด้วย เพื่อทำให้อาการโดยรวมของผู้ป่่วยดีขึ้นไปพร้อมกัน
หากได้รับการรักษาเร็วตั้งแต่เริ่มเป็น อาการท้องเสียและเยื่อบุผิวหนังอักเสบมักดีขึ้นได้ภายในไม่กี่วันหลังเริ่มรักษา สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนัง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาทาผิวเพื่อรักษาโรคและเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งอาการทางผิวหนังจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2–3 เดือน โดยในระหว่างการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ผู้ป่วยควรดูแลผิวให้ชุ่มชื้นและทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันผิวแห้งแตกและผิวไหม้แดด
ภาวะแทรกซ้อนของโรค Pellagra
โรค Pellagra อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ ได้แก่ ภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) และภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia) การติดเชื้อที่ผิวหนัง ไปจนถึงอาการทางประสาท เช่น หลงผิด (Delusion) ประสาทหลอน โรคจิต (Psychosis) และอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลวซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การป้องกันโรค Pellagra
โรค Pellagra สามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีไนอะซินเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค Pellagra โดยข้อมูลสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคประจําวันของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไประบุว่า ควรได้รับไนอะซิน 20 มิลลิกรัม เอ็น อี (mg NE) ต่อวัน ซึ่งไนอะซิน 1 มิลลิกรัม เท่ากับทริปโตเฟน 60 มิลลิกรัม
โดยทั่วไปการรับประทานอาหารที่มีไนอะซินสูง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ทูน่า แซลมอน และตับ รวมทั้งถั่ว ธัญพืชขัดสีน้อย ข้าวกล้อง เห็ด และอโวคาโด จะช่วยให้ร่างกายได้รับไนอะซินอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และอาจไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมไนอะซิน นอกจากกรณีที่แพทย์สั่ง ซึ่งควรรับประทานในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงจากอาหารเสริม