ความหมาย โรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางจิตใจที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีอาการในลักษณะมีอารมณ์ดีผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) จนเกิดความลำบากต่อการทำงาน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิต
โรคไบโพลาร์สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ช่วงอายุที่พบได้บ่อยมักจะเป็นวัยรุ่นหรือวัยเริ่มทำงาน และผู้สูงวัย ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความถี่ในการเกิดอาการแตกต่างกัน บางคนอาจเกิดขึ้นติดต่อกันและบ่อยครั้ง ในขณะที่บางคนอาจเกิดอาการเพียงนาน ๆ ครั้งหรือแทบไม่เกิดเลย
อาการของโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะมี 2 ลักษณะเด่นสลับกัน คือ มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ และภาวะซึมเศร้าสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีอาการสังเกตที่เด่นชัด ได้แก่
ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
- รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานสูงมากจนผิดปกติ
- อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล อยู่ไม่นิ่ง
- โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีเหตุผล
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ มาก ๆ ในคราวเดียวกัน
- หุนหันพลันแล่น คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
- มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน
- ประมาท ตัดสินใจได้ไม่ดี มีความผิดพลาดสูง ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ใช้เงินฟุ่มเฟือย
ภาวะซึมเศร้า (Depression)
- รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย หมดพลังงาน ไม่สดชื่น
- ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย
- เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง
- ครุ่นคิด วิตกกังวลต่อสิ่งต่าง ๆ ฟุ้งซ่าน มองโลกในแง่ร้าย
- ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกดีหรือผ่อนคลาย
- รู้สึกผิดหวัง ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย
- มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ไม่สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง
- ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดน้อยลงมาก ไม่อยากทำอะไร
- มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนมากหรือน้อยเกินไป
- มีปัญหาด้านการกิน กินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี
- มีแนวโน้มใช้สารเสพติด
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดโรคไบโพลาร์ แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
ปัจจัยทางชีวภาพ
อาการของโรคไบโพลาร์จะเกิดขึ้นเมื่อมีสารสื่อประสาทในระดับที่ไม่สมดุลกัน ทำให้มีอารมณ์ดี อยู่ในภาวะร่าเริงผิดปกติ และจะมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย สลับกันไป โดยสารสื่อประสาทในสมองที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่
- สารนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) เป็นสารที่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว หรือความตื่นเต้นที่เกิดขึ้น รวมทั้งระบบความจำ การรับรู้ และการรู้สึกตัว
- สารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ควบคุมการรับรู้ความรู้สึกและการทำงานของสมองสั่งการ เช่น ความรู้สึกอยากอาหาร ความจำระยะสั้น และการนอนหลับ เป็นต้น
- สารโดปามีน (Dopamine) เป็นสารที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก เมื่อมีการหลั่งสาร จะกระตุ้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทำให้ตื่นตัว กระฉับกระเฉง และว่องไว
ปัจจัยทางกรรมพันธุ์
ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกันทางสายเลือดอย่างพ่อแม่ พี่หรือน้อง แม้จะยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนที่แน่ชัด แต่ยังคงมีการศึกษายีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยอื่น ๆ
ผู้ป่วยอาจได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางร่างกาย ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ความเครียดจากการทำงานและการเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการทางจิตจากโรคไบโพลาร์อาจถูกกระตุ้นจากการใช้ยารักษาโรคหรือสาเสพติดบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคทางจิตเวช ยากล่อมประสาท ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รวมถึงอาจต้องตรวจเลือดหรือปัสสาวะด้วย เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยทางร่างกายอันเป็นที่มาของสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มั่นคง โดยจิตแพทย์จะใช้ชุดคำถามจากคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต (DSM) เพื่อทดสอบว่าผู้ป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไม่
รวมทั้งซักถามลักษณะอาการและปัญหาที่ประสบจากอาการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซักประวัติครอบครัวว่ามีญาติที่เคยประสบปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ซักถามว่าเคยมีความคิดที่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ และสอบถามเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาที่อาจมีผลกระทบต่ออารมณ์ แล้วจึงจัดเตรียมขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จะได้รับการรักษาตามกระบวนการที่เหมาะสมกับความรุนแรงและลักษณะอาการ โดยจุดประสงค์ของการรักษาคือการควบคุมและบรรเทาอาการของโรค เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้มีดังนี้
การรักษาด้วยยา
ผู้ป่วยต้องใช้ยาเพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สภาวะปกติ และควบคุมสารสื่อประสาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดภาวะอารมณ์ดีผิดปกติหรือภาวะซึมเศร้า
แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากหากหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันหรือขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับไปมีอาการของโรคซ้ำอีก หรืออาจมีอาการรุนแรงกว่าที่เคยเป็น
ตัวอย่างยาที่มักใช้รักษาผู้ป่วยไบโพลาร์ ได้แก่
- ยากลุ่มลิเทียม (Lithium Carbonate) ใช้รักษาระยะยาวภายใต้การดูแลของแพทย์ และต้องควบคุมยาให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายเสมอ เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียง โดยผู้ป่วยที่ใช้ยาลิเทียมต้องรับการตรวจเลือด ตรวจการทำงานของไตและต่อมไทรอยด์ และตรวจระดับลิเทียมในเลือดเป็นระยะ
- ยารักษาโรคลมชัก (Anticonvulsant) เป็นยาที่ใช้รักษาอารมณ์แปรปรวนในระยะยาว ซึ่งอาจใช้ควบคู่กับยาลิเทียมตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย โดยมีตัวอย่างยา เช่น วาลโปรเอท คาร์บามาซีปีน และลาโมไตรจีน เป็นต้น
- ยารักษาอาการทางจิต (Antipsychotic) ใช้รักษากลุ่มอาการทางจิตที่เกิดขึ้นในขณะเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว เช่น อะริพิพราโซล โอแลนซาปีน เควทาเอปีน และเรสเพอริโดน เป็นต้น
- ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ใช้รักษาร่วมกับยาอื่นในกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพื่อปรับสภาวะทางอารมณ์ให้มั่นคง เช่น ฟลูออกซิทีน เป็นต้น
- ยาคลายกังวล (Anti-Anxiety) ช่วยคลายความวิตกกังวล ความคิดฟุ้งซ่าน และบรรเทาปัญหาด้านการนอนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยไบโพลาร์อย่างอาการนอนไม่หลับ เช่น เบนโซไดอะซีปีน เป็นต้น
การบำบัดรักษา
นอกเหนือจากการรักษาฟื้นฟูทางร่างกาย ผู้ป่วยไบโพลาร์ต้องเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งประกอบไปด้วยการรับคำปรึกษาและการบำบัดทางจิต (Psychotherapy) การเข้าร่วมกลุ่มบำบัดกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ และการศึกษาเกี่ยวกับโรคความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ที่ตนเป็นอยู่ เพื่อให้รับมืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคความผิดปกติด้านการกิน โรคทางจิต โรคไมเกรน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมาธิสั้น และโรคอ้วน เป็นต้น
นอกจากนี้ พฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากอารมณ์แปรปรวนมักจะก่อปัญหาให้กับชีวิตผู้ป่วยอยู่เสมอ เช่น มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน และการตัดสินใจต่าง ๆ ติดสุราหรือยาเสพติด เกิดปัญหาอาชญากรรม ตลอดจนมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น
การป้องกันโรคไบโพลาร์
แม้จะไม่มีวิธีที่แน่นอนในการป้องกันโรคไบโพลาร์ แต่อาจป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หรือป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ เช่น
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ
- รักษาสุขภาพจิตให้ดี หลีกเลี่ยงการเผชิญความเครียดต่าง ๆ
- เข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และกินยาตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อให้สภาวะทางอารมณ์คงที่ และป้องกันการเกิดอารมณ์แปรปรวนที่ควบคุมไม่ได้
- ไม่หยุดการรักษา และไม่เลิกกินยากลางคันเพราะคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะกลับมา หรืออาการอาจกำเริบหนักกว่าเดิม
- ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับสารเคมีในสมองที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
- สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของโรคหรืออาการแทรกซ้อนต่าง ๆ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมหากพบความผิดปกติ