โลวาสแตติน

โลวาสแตติน

Lovastatin (โลวาสแตติน) เป็นยาลดระดับไขมันในเลือดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอชเอ็มจี-โคเอ รีดักเตส ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีกับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด ซึ่งมักถูกนำมาใช้ในรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงและป้องกันโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังถูกนำมาใช้ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจขาดเลือด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหัวใจในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ โดยยาชนิดนี้เป็นยาที่ใช้ได้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป

Lovastatin

เกี่ยวกับยา Lovastatin

กลุ่มยา ยาลดระดับไขมันในเลือด
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี และระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน

คำเตือนในการใช้ยา Lovastatin

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติการแพ้ยา Lovastatin หรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยหากเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ เนื่องจากการใช้ยา Lovastatin ร่วมกับยาบางชนิดอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อได้ เช่น ไซโคลสปอริน ดานาซอล เจมไฟโบรซิล ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาโรคหัวใจ ยาต้านไวรัสอย่างยารักษาโรคตับอักเสบซี หรือยารักษาโรคเอดส์ เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ
  • เนื่องจากยาชนิดนี้อาจส่งผลให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อสลาย ผู้สูงอายุและผู้ที่ป่วยด้วยโรคไตหรือภาวะไทรอยด์ต่ำจึงอาจเสี่ยงต่อภาวะไตวายได้
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะที่รับประทานยาชนิดนี้ เนื่องจากอาจทำให้ตับเกิดความผิดปกติได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุตในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้
  • สตรีมีครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรห้ามใช้ยาชนิดนี้ เนื่องจากยาชนิดนี้อาจส่งผลอันตรายต่อทารกได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดนี้อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยา และหากเกิดการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที

ปริมาณการใช้ยา Lovastatin

ภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
ตัวอย่างการใช้ยา Lovastatin เพื่อรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงและป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณเริ่มต้น 10-20 มิลลิกรัม/วัน ในตอนเย็น และอาจมีการปรับปริมาณยาหลังจากการปรับครั้งล่าสุดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มปริมาณยาได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน อาจรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
  • เด็กที่มีอายุ 10-17 ปี สำหรับเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการของภาวะ Heterozygous Familial Hypercholesterolaemia ซึ่งเป็นภาวะคอเลสเตอรอลสูงที่เกิดจากพันธุกรรม อาจใช้ยาชนิดนี้เป็นยาร่วมในการรักษาได้ โดยรับประทานในปริมาณเริ่มต้น 10-20 มิลลิกรัม/วัน และอาจมีการปรับปริมาณยาหลังจากการปรับครั้งล่าสุดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ โดยเพิ่มปริมาณยาได้ไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Lovastatin

  • ใช้ยา Lovastatin ตามฉลากและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ แพทย์อาจมีการปรับปริมาณการใช้ยาตามดุลยพินิจของแพทย์
  • รับประทานยาโดยกลืนยาทั้งเม็ด ห้ามหัก บด หรือเคี้ยวยา
  • สามารถรับประทานยา Lovastatin พร้อมหรือไม่พร้อมมื้ออาหารก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
  • ห้ามแบ่งยารับประทานร่วมกับผู้อื่น
  • หากลืมใช้ยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาใช้ยาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยายารอบต่อไป และไม่เพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • ควรเข้ารับการตรวจระดับคอเลสเตอรอลหรือระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เพื่อดูประสิทธิภาพของยาและผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจครีเอทีนไคเนสและการทำงานของตับ โดยควรหยุดใช้ยาหากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระดับครีเอทีนไคเนสหรือระดับอะลานีนอมิโนทรานสเฟอเรสในเลือด หรือพบอาการผิดปกติใด ๆ ที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
  • การใช้ยา Lovastatin เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด
  • ห้ามหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้หยุดใช้ยาชั่วคราวหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือการรักษาอย่างฉุกเฉิน
  • เก็บรักษายาในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อน แสงแดด และความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำ และควรเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Lovastatin

การใช้ยา Lovastatin อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ผื่นขึ้น นอนไม่หลับ ตามัว น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • อาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เป็นต้น
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการกดเจ็บ อ่อนเพลีย มีไข้ รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ ปัสสาวะมีสีเข้ม และอาจทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อสลาย ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการกดเจ็บ รู้สึกอ่อนแรง และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ โดยผลข้างเคียงกล้ามเนื้อจะขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้
  • ไตเกิดความผิดปกติ อาจพบว่ามีปัสสาวะน้อย เท้าหรือข้อเท้าบวม รู้สึกเหนื่อย และหายใจถี่
  • ตับเกิดความผิดปกติ อาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร มีอาการปวดท้องส่วนบนด้านขวา เมื่อยล้า ปัสสาวะมีสีเข้ม ผิวเหลือง และตาเหลือง
  • สูญเสียความทรงจำ หลงลืม หรือรู้สึกสับสน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น เกิดรอยช้ำหรือมีเลือดออกง่าย ไม่มีแรง คลื่นไส้ มีผื่นขึ้น รู้สึกคัน กลืนลำบาก เสียงแหบ มีอาการบวมบริเวณริมฝีปาก ตา มือ หรือขาส่วนล่าง ท้องผูก เป็นต้น