ไข่ดัน

ความหมาย ไข่ดัน

ไข่ดัน (Groin Lymph Node Swollen) หรืออาการต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณขาหนีบ อาจเกิดจากการติดเชื้อ การเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ ทำให้มีอาการกดเจ็บหรือปวด โดยลักษณะของต่อมน้ำเหลืองโตจะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

โดยปกติทุกคนมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ แต่จะคลำไม่พบเพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งหากมีขนาดใหญ่หรือคลำได้ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ

Groin Lymph Node Swollen

อย่างไรก็ตาม อาการบวมที่บริเวณขาหนีบอาจไม่ได้มีสาเหตุจากภาวะต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตเท่านั้น อาจมีสาเหตุจากไส้เลื่อนซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกัน

อาการไข่ดัน
ระบบน้ำเหลืองในร่างกาย มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายระหว่างอวัยวะต่าง ๆ หลอดเลือดและต่อมน้ำเหลืองซึ่งจะอยู่เป็นกลุ่มกระจายอยู่ทั่วร่างกาย บริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวมบ่อย ได้แก่ คอ ศีรษะ รักแร้ รวมไปถึงบริเวณขาหนีบหรือที่เรียกว่าไข่ดัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

  • คลำได้ก้อนที่ขาหนีบ อาจมีขนาดแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบ
  • มีอาการกดเจ็บและปวดที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ
  • ผิวหนังบริเวณที่บวมอาจไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่บางรายผิวหนังบริเวณดังกล่าวอาจเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือม่วง
  • บางรายพบว่าบริเวณที่บวมอาจเกิดเป็นแผลเปื่อย หรือแผลแตก

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?

หากผู้ป่วยกังวลกับอาการบวมที่เกิดขึ้น หรือมีอาการต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  • ต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีอาการต่อเนื่องนาน 2-4 สัปดาห์
  • เมื่อกดลงไปที่ก้อนบวม จะสัมผัสกับก้อนแข็งที่ขยับไม่ได้
  • มีไข้ เหงื่อออกเวลากลางคืน หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เป็นตุ่มหรือแผลเล็ก ๆ ที่อวัยวะเพศ มักจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด

สาเหตุของไข่ดัน
ต่อมน้ำเหลืองเป็นส่วนประกอบของระบบน้ำเหลือง เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นตัวกรองหรือดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อความผิดปกติหรือเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เป็นต้น

โดยต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือไข่ดัน อาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อที่ขา เท้า ขาหนีบ และอวัยวะเพศ เช่น ตะปูตำที่เท้า สุนัขกัดขา หรือมีแผลที่อวัยวะเพศและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทำให้การอักเสบลุกลามมาที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเดียวกันได้ รวมไปถึงรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ซิฟิลิส หรือระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ (Immune System Disorders) ส่วนโรคฝีมะม่วง เป็นส่วนหนึ่งของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีสาเหตุมากจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลาไมเดีย (Chlamydia Trachomatis) มีอาการคล้ายคลึงกับภาวะต่อมน้ำเหลืองบวม คือมีอาการเจ็บหรือบวมที่บริเวณขาหนีบ แต่จะแตกต่างกันตรงที่อาจทำให้เกิดแผลพุพองบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้น อาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเมลาโนมา (Melanoma) แต่ถือเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

นอกจากนั้น อาการบวมที่บริเวณขาหนีบอาจไม่ใช่ไข่ดันหรือภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมเท่านั้น อาจมีสาเหตุมาจากไส้เลื่อน ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกัน ปกติแล้ว หากเป็นไส้เลื่อนจะพบก้อนขนาดใหญ่และนิ่ม เกิดจากลำไส้หรือเนื้อเยื่อภายในช่องท้องที่ดันลงมาผ่านบริเวณผนังช่องท้องส่วนล่างอยู่ในภาวะอ่อนแอ หากผนังช่องท้องไม่แข็งแรงและมีภาวะบกพร่องควบคู่ไปกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน

การวินิจฉัยไข่ดัน
การวินิจฉัยไข่ดันเบื้องต้นแพทย์จะถามประวัติและอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงตรวจร่างกาย ซึ่งแพทย์จะตรวจสอบต่อมน้ำเหลืองเพื่อดูขนาด อาการกดเจ็บ หรือผิวสัมผัส โดยบริเวณที่เกิดและอาการต่าง ๆ จะช่วยระบุสาเหตุได้ นอกจากนั้น หากมีความจำเป็นแพทย์อาจให้มีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อช่วยระบุสาเหตุ ได้แก่

  • ตรวจเลือด หรือตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (Complete Blood Count: CBC)
  • เอกซเรย์ (X-ray) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography) หรือตรวจอัลตราซาวด์
  • การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy) โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวในต่อมน้ำเหลืองไปตรวจหรือตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาไข่ดัน

  การรักษาต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไข่ดันไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะ โดยวิธีรักษาจะเป็นการรักษาที่สาเหตุพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น

  • การติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัส แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา หรือหากมีสาเหตุจากการติดเชื้อเอดส์ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยเฉพาะสำหรับโรคดังกล่าว
  • ผู้ป่วยต่อมน้ำเหลืองบวม ที่มีสาเหตุจากโรคมะเร็งจะได้รับการรักษาตามขั้นตอนเดียวกับการรักษามะเร็ง โดยขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง อาจมีการผ่าตัด ฉายรังสีหรือการบำบัดด้วยรังสี

นอกจากนั้น หากต่อมน้ำเหลืองมีขนาดใหญ่ขึ้นจนทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการเจ็บที่บริเวณดังกล่าว สามารถใช้วิธีประคบร้อนแบบเปียกเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้

ภาวะแทรกซ้อนของไข่ดัน
ภาวะแทรกซ้อนของไข่ดันหรือต่อมน้ำเหลืองบวม ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ได้แก่

  • การเกิดโพรงหนอง (Abscess Formation) ฝีหรือโพรงหนองเกิดจากการสะสมของหนองที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ โดยหนองประกอบไปด้วยของเหลวที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาว เนื้อเยื้อที่ตายแล้ว แบคทีเรียหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเป็นฝีหรือเกิดโพรงหนองอาจต้องมีการระบายออกหรือรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • โลหิตเป็นพิษ (Bacteremia) การติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายทำให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิตที่รุนแรง อาจทำให้อวัยวะล้มเหลวและถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น

  • หนองในแท้และหนองในเทียม หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นหมันได้
  • การติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส (Syphilis) อาจทำให้ตาบอด เป็นอัมพาต (Paralysis) และสมองเสื่อม

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน และผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิดจะต้องได้รับการรักษาด้วยยา

นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจต่อมน้ำเหลืองที่บวมใหญ่มากกว่าปกติและอาจทำให้ไปกดเบียดโครงสร้างอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและควรได้รับการรักษาโดยเร็ว

การป้องกันไข่ดัน

เนื่องจากโดยทั่วไปต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไข่ดัน จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้

  • หากมีอาการกดเจ็บหรือเจ็บปวดบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวม ผู้ป่วยสามารถใช้การประคบร้อนแบบเปียก เช่น ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนและบิดหมาด ๆ ประคบไปยังบริเวณที่มีอาการ
  • กรณีที่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยสามารถซื้อยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน หรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากโรคที่เป็นสาเหตุได้ดียิ่งขึ้น
  • ควรป้องกันตนเองหากมีเพศสัมพันธ์ เช่น สวมถุงยางอนามัย เพื่อไม่ให้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์