ไซพราซิโดน
Ziprasidone (ไซพราซิโดน) เป็นยารักษาอาการทางจิตชนิดหนึ่ง ออกฤทธิ์โดยปรับสมดุลของสารต่าง ๆ ในสมอง ใช้รักษาอาการทางจิตได้หลายชนิด อย่างโรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ โดยใช้ลดอาการหลอน ลดอาการกระสับกระส่าย ทำให้มองตนเองในแง่ที่ดีขึ้น และอาจช่วยให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยา Ziprasidone อาจถูกใช้เพื่อรักษาอาการอย่างอื่นได้โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Ziprasidone
กลุ่มยา | ยารักษาอาการทางจิต |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการทางจิต |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานและยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ |
คำเตือนในการใช้ยา Ziprasidone
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้ยานี้ ยาชนิดอื่น หรือแพ้สารใด ๆ ก็ตาม เพราะตัวยาอาจมีส่วนผสมของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้
- ในระหว่างที่ใช้ยา Ziprasidone ไม่ควรใช้ยาบางชนิดร่วมกัน เช่น อะนากรีไลด์ เมทาโดน ทาโครลิมัส ยาปฏิชีวนะอย่างอะซิโธรมัยซิน ยาป้องกันอาการมึนหัวและอาเจียนอย่างโดลาซิตรอน ยาต้านเศร้าอย่างไซตาโลแพรม ยาต้านมาลาเรียอย่างคลอโรควิน ยารักษาโรคมะเร็งอย่างอาร์เซนิกไตรออกไซด์ ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างอะมิโอดาโรน หรือยารักษาอาการทางจิตอย่างคลอร์โปรมาซีน เป็นต้น และมียาชนิดอื่นอีกที่ไม่ได้กล่าวถึง ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่ใช้อยู่เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้ร่วมกับยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เส้นเลือดสมอง ไขกระดูก เซลล์เม็ดเลือด โพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ การกลืนอาหาร เคยเป็นโรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านม โรคตับ โรคไต โรคอัลไซเมอร์ โรคลมชัก รวมถึงหากเคยมีอาการชัก หรือเคยคิดฆ่าตัวตายมาก่อน
- ในระหว่างที่ใช้ยา Ziprasidone หากมีอาการเวียนหัวอย่างหนัก ปวดหน้าอก หรือหัวใจเต้นเร็ว ควรหยุดใช้ยาและรีบแจ้งแพทย์ทันที นอกจากนี้ หากมีผื่นขึ้นบนผิวหนังร่วมกับเป็นไข้และต่อมในร่างกายบวม หรืออาการดังกล่าวมีความรุนแรงขึ้น ควรหยุดใช้ยาแล้วรีบแจ้งแพทย์โดยเร็วเช่นกัน
- ยานี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และยาอาจแสดงผลมากขึ้นหากใช้กับผู้สูงอายุ โดยอาจทำให้มีอาการง่วงซึม ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเสี่ยงต่ออการหกล้ม
- ยาชนิดนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อม เพราะยาอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากเป็นผู้สูงอายุและมีภาวะดังกล่าว
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากเกิดการตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตรในระหว่างที่ใช้ยา Ziprasidone เพราะหากใช้ยาในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดอาจทำให้เกิดปัญหากับทารกหลังคลอดได้ เช่น เด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ การกิน มีอาการสั่น หรือมีอาการถอนยา เป็นต้น แต่ไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตนเองในระหว่างตั้งครรภ์เพราะอาจทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับคุณแม่ได้เช่นกัน เว้นแต่แพทย์เป็นผู้แนะนำให้หยุดใช้ยา
- ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้หากอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยังไม่ทราบว่ายาจะซึมเข้าสู่นมแม่และถูกส่งผ่านไปถึงเด็กได้หรือไม่
ปริมาณการใช้ยา Ziprasidone
ปริมาณในการใช้ยาชนิดนี้จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ โดยมีตัวอย่างการใช้ยา เช่น
อาการกระสับกระส่ายของผู้ป่วยโรคจิตเภท
ตัวอย่างการใช้ยา Ziprasidone เพื่อรักษาอาการกระสับกระส่ายของผู้ป่วยโรคจิตเภท มีดังนี้
ยาแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ผู้ใหญ่ หากใช้ Ziprasidone ในรูปแบบเมซิเลท ให้ใช้ยาวันละ 10-20 มิลลิกรัมตามที่ต้องการ แต่ต้องไม่เกิน 40 มิลลิกรัม ใช้ยาติดต่อกัน 3 วัน โดยอาจให้ยา 10 มิลลิกรัมทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือให้ยา 20 มิลลิกรัมทุก ๆ 4 ชั่วโมง จากนั้นให้สลับไปใช้ยาแบบรับประทานทันทีที่ทำได้
ผู้สูงอายุ ควรลดปริมาณยาเริ่มต้นให้น้อยลง และหากต้องปรับปริมาณยา ให้ค่อย ๆ ปรับช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ยาแบบรับประทาน
ผู้ใหญ่ หากใช้ Ziprasidone ในรูปแบบไฮโดรคลอไรด์ ให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือเพิ่มปริมาณยาได้หากจำเป็น โดยเพิ่มได้ถึง 80 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังจากเพิ่มปริมาณยาแล้ว ให้รออย่างน้อย 2 วันจึงค่อยปรับปริมาณยาอีกครั้ง หากอาการดีขึ้นแล้ว ควรปรับปริมาณยาเป็น 20 มิลลิกรัม โดยรับประทานวันละ 2 ครั้ง
ผู้สูงอายุ ควรลดปริมาณยาเริ่มต้นให้น้อยลง และหากต้องปรับปริมาณยา ให้ค่อย ๆ ปรับช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
อาการของโรคไบโพลาร์
ตัวอย่างการใช้ยา Ziprasidone เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ที่อยู่ในช่วงอารมณ์ดีผิดปกติหรืออารมณ์ดีและเศร้าสลับไปมาแบบฉับพลัน มีดังนี้
ยาแบบรับประทาน
ผู้ใหญ่ หากใช้ Ziprasidone ในรูปแบบไฮโดรคลอไรด์ ให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 40 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง แล้วเพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 60 มิลลิกรัมหรือ 80 มิลลิกรัมในวันที่ 2 ปริมาณที่เพิ่มขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาและความทนต่อยาของผู้ป่วย หากรับประทานยาเพื่อควบคุมโรคไบโพลาร์ที่มีอาการแมเนียสลับกับซึมเศร้า (bipolar I disorder) โดยใช้เป็นยารักษาเสริมจากยาวาลโพรเอทหรือลิเทียม ให้รับประทานยาปริมาณเท่าเดิมที่ผู้ป่วยเคยรับประทานอย่างสม่ำเสมอหรือประมาณ 40-80 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง
ผู้สูงอายุ ควรลดปริมาณยาเริ่มต้นให้น้อยลง และหากต้องปรับปริมาณยา ให้ค่อย ๆ ปรับช้า ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
การใช้ยา Ziprasidone
- ใช้ยาตามวิธีที่กำหนดไว้บนฉลากยา รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หรือสอบถามแพทย์หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา
- ไม่ควรใช้ยาน้อยกว่า มากกว่า หรือนานกว่าที่แพทย์แนะนำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา
- ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหรือทำทันตกรรม ควรแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์ว่าใช้ยาชนิดนี้ ยาชนิดอื่น หรือสมุนไพรต่าง ๆ อยู่
- หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำในระหว่างใช้ยา
- ในระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจนัดคนไข้ไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลบ่อยครั้งเพื่อตรวจการทำงานของตับและไต
- ในระหว่างที่ใช้ยา Ziprasidone ร่างกายอาจได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิภายนอกง่ายกว่าปกติ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป และดื่มน้ำให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ
- ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักรในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ เพราะยาอาจทำให้การตัดสินใจแย่ลงจนอาจเกิดอันตรายได้
- ไปรับยาที่โรงพยาบาลก่อนยาที่มีอยู่จะหมดเพื่อให้รับประทานยาได้อย่างต่อเนื่อง
- ไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันแม้อาการจะดีขึ้นก่อนครบกำหนดก็ตาม
- หลังจากใช้ยานี้ไปแล้วอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- หากลืมใช้ยา Ziprasidone ให้ใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ได้เวลาใช้ยาในครั้งถัดไป ให้ข้ามยารอบที่ลืมโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาในรอบที่จะถึง
- หากใช้ยาเกินปริมาณ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
- เก็บยาให้อยู่ในอุณหภูมิห้องโดยหลีกเลี่ยงแสง ความร้อน และความชื้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ziprasidone
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ziprasidone มีหลายรูปแบบซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน โดยผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น กระสับกระส่าย ตัวสั่น เป็นผื่น น้ำมูกไหล เกิดอาการไอหรือไออย่างหนัก เหนื่อยล้าผิดปกติ ง่วงซึม เวียนหัว ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น
นอกจากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปแล้ว หากเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
- มีอาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น เป็นผื่น คัน หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม หรือต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น
- เวียนหัวจนอาจหมดสติ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเจ็บหน้าอก
- มีผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา เช่น อ่อนแรงอย่างมาก มีไข้ เป็นผื่น ต่อมในร่างกายบวม มีอาการคล้ายหวัด ปวดกล้ามเนื้อ บวมช้ำผิดปกติ ผิวหนังหรือดวงตาเป็นสีเหลือง เป็นต้น ซึ่งอาการต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยานี้ไปแล้วหลายสัปดาห์
- มีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น แสบตา ปวดบริเวณผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นสีม่วงหรือแดงและลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นและอาจทำให้ผิวหนังลอกหรือเกิดแผลพุพอง เป็นต้น
- ควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่ได้ อย่างการกระพริบตา ขยับลิ้น หรือเคี้ยวอาหาร
- เม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำจนอาจรู้สึกป่วย รู้สึกอ่อนแรง หนาว เจ็บคอ เจ็บปาก เหงือกบวม หรือรู้สึกปวดเมื่อกลืนอาหาร
- น้ำตาลในเลือดสูงจนอาจทำให้มีอาการง่วงซึม หิว น้ำหนักลด ปากแห้ง ผิวแห้งปัสสาวะบ่อยขึ้น กระหายน้ำมากขึ้น ลมหายใจมีกลิ่น หรือเห็นภาพเบลอ
- มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทอย่างรุนแรง เช่น มีไข้สูง เหงื่อออก สับสน กระสับกระส่าย หรือกล้ามเนื้อเกร็งอย่างรุนแรง เป็นต้น