ไซโลโดซิน (Silodosin)
Silodosin (ไซโลโดซิน) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการจากโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไหลช้า ปวดปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะเล็ด โดยการออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ
แพทย์ยังอาจใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
เกี่ยวกับยา Silodosin
กลุ่มยา | แอลฟา–บล็อกเกอร์ (Alpha–Blockers) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการจากโรคต่อมลูกหมากโต |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ชายอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว ยา Silodosin จะใช้ในผู้ป่วยเพศชายเป็นหลัก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Silodosin
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Silodosin ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ก่อนใช้ยา Silodosin ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังป่วยเป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้อกระจก ต้อหิน ความดันโลหิตต่ำ ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า กำลังใช้ยาขับปัสสาวะ หรืออยู่ในช่วงควบคุมอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือสูง
- ยา Silodosin เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยเพศชายที่มีอายุมากกว่า 18 ปีเท่านั้น
- ผู้ที่กำลังใช้ยานี้หรือมีประวัติใช้ยานี้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน โดยเฉพาะการผ่าตัดต้อกระจกและต้อหิน ควรแจ้งแพทย์และทันตแพทย์ให้ทราบก่อน
- ผู้สูงอายุที่ใช้ยานี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะอาการหน้ามืด หรือเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทาง ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ยานี้ควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การขับขี่ยานพาหนะ และการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ใช้ยานี้ เนื่องจากการใช้ยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะได้มากขึ้น
ปริมาณการใช้ยา Silodosin
การใช้ยา Silodosin เพื่อรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/วัน โดยอาจให้รับประทานเป็นครั้งละ 8 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว หรือแบ่งปริมาณให้น้อยลงแต่รับประทาน 2 ครั้งใน 1 วัน
ในบางกรณีแพทย์อาจปรับปริมาณยาให้น้อยลง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Silodosin จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
การใช้ยา Silodosin
ผู้ป่วยที่ใช้ยา Silodosin ควรรับประทานยาในปริมาณที่แพทย์แนะนำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น เนื่องจากการรับประทานยานี้ให้เห็นผลต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง
ยานี้สามารถรับประทานได้ทั้งแบบพร้อมอาหารและหลังอาหาร หากรับประทานหลังอาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานยาหลังอาหารทันที โดยผู้ป่วยควรจะรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ต่อเนื่อง และป้องกันการลืมรับประทานยา
ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ
ในระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาตรวจความดันโลหิต และประเมินการไหลของปัสสาวะเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
สำหรับการเก็บรักษายา Silodosin ให้ผู้ป่วยเก็บยาในที่แห้งในอุณหภูมิห้อง และเก็บให้พ้นมือเด็ก โดยหลีกเลี่ยงความร้อน ความชื้น และแสง
ปฏิกิริยาระหว่างยา Silodosin กับยาอื่น
ก่อนใช้ยา Silodosin ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ โดยเฉพาะยาในกลุ่มดังต่อไปนี้
- ยาต้านเชื้อรา
- ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
- ยารักษาโรคหัวใจ
- ยารักษาภาวะความดันเลือดปอดสูง
- ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวี
- ยารักษาโรคไวรัสตับเอกเสบ ซี
- ยาปฏิชีวนะ
- ยารักษาโรคทางภูมิคุ้มกัน
- ยารักษาโรคเก๊าท์
- ยารักษาโรคลมชัก
- ยาตัวอื่นในกลุ่มแอลฟา–บล็อกเกอร์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Silodosin
การใช้ยา Silodosin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยพบอาการบางอย่างได้ เช่น เวียนศีรษะ โดยเฉพาะขณะเปลี่ยนท่าทางอย่างฉับพลัน ง่วงซึม ปวดศีรษะ ท้องเสีย คัดจมูก มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ หัวใจเต้นเร็ว น้ำอสุจิหลั่งน้อยผิดปกติหรือไม่มีน้ำอสุจิเลย โดยผู้ที่พบอาการเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลมขณะเปลี่ยนท่าทางอย่างฉับพลัน อาจบรรเทาอาการด้วยตัวเองในเบื้องต้นโดยการเปลี่ยนอิริยาบทช้า ๆ หากลองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่มีความรุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น
- อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น หายใจไม่ออก เวียนศีรษะขั้นรุนแรง หรือรู้สึกคันและมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก และลำคอ
- อวัยวะเพศแข็งตัวนานหลายชั่วโมงติดต่อกัน และอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย