ความหมาย ไตรกลีเซอไรด์สูง
ไตรกลีเซอไรด์สูง (High Triglycerides) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น หรืออาจมาจากการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น น้ำมัน เนย หรือไขมันต่าง ๆ เป็นต้น
หากมีไตรกลีเซอไรด์สูงและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจขาดเลือดได้
อาการของไตรกลีเซอไรด์สูง
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการใด ๆ อย่างชัดเจน แต่อาจมีอาการผิดปกติปรากฏให้เห็นได้เมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจนเกิดโรคหรือภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคหัวใจอย่างเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย เป็นต้น
สาเหตุของไตรกลีเซอไรด์สูง
สาเหตุของภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น
- การรับประทานอาหารเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันปริมาณมาก
- การเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ น้ำหนักตัวเกินจากโรคอ้วน หรือการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด
- กรรมพันธุ์
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นต้น
การวินิจฉัยไตรกลีเซอไรด์สูง
แพทย์จะวินิจฉัยไตรกลีเซอไรด์สูงด้วยการซักประวัติและการตรวจเลือดเป็นหลัก โดยการตรวจเลือดจะถูกรวมอยู่ในการตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ในคราวเดียวกัน แต่บางกรณีอาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจยีน Apolipoprotein E (APOE) ในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจากกรรมพันธุ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการตรวจเลือดที่ได้จะถูกนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
- ระดับไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับปกติ
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ 150‒199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับคาบเส้น
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ 200‒499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับสูง
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง ไตรกลีเซอไรด์อยู่ในระดับสูงมาก
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่เสมอเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเมื่อไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ น้ำหนักตัวมาก ขาดการออกกำลังกาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ หรือโรคไต ก็ควรได้รับการตรวจวัดระดับไตรกลีเซอไรด์เป็นประจำด้วย
การรักษาไตรกลีเซอไรด์สูง
การรักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงอาจทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้ยารักษา ดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยลองปรับพฤติกรรมตามคําแนะนํา ดังนี้
- ลดน้ำหนัก โดยผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือไขมันสูง เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่น้อย เช่น ผัก ผลไม้ โปรตีนไขมันต่ำ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เป็นต้น
- ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 ครั้ง อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เพราะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลดีต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็นเวลานาน ให้เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจเริ่มจากการเดินเร็วสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น มะกอก ถั่ว น้ำมันคาโนลา หรือปลาที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 อย่างปลาแซลมอนและปลาแมกเคอเรล เป็นต้น
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งแคลอรี่และน้ำตาลที่ส่งผลกระทบต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เพียงปริมาณน้อยก็สามารถเพิ่มระดับไตรกลีเซอไรด์ให้สูงขึ้นได้
การใช้ยา
หากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่ไปด้วย โดยยาที่ใช้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น
- ยากลุ่มสแตติน เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง โดยจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอะโทรวาสแตติน และซิมวาสแตติน เป็นต้น
- ยากลุ่มไฟเบรต เป็นยาที่ใช้ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ มักจะได้ผลดีในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป แต่หากใช้ยากลุ่มไฟเบรตร่วมกับยากลุ่มสแตติน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาฟีโนไฟเบรต และเจมไฟโบรซิล เป็นต้น
- ไนอะซินหรือกรดนิโคตินิก เป็นยาช่วยลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป โดยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ เพราะยาไนอะซินอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ และทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- น้ำมันปลาหรือกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นอาหารเสริมที่ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ โดยแพทย์มักแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
ภาวะแทรกซ้อนของไตรกลีเซอไรด์สูง
หากมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง อาจทำให้ผนังของหลอดเลือดแดงหนาขึ้นหรือหลอดเลือดแดงเกิดการแข็งตัว ซึ่งผู้ที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงโดยเฉพาะตั้งแต่ 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะ โรคอ้วน และภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
การป้องกันไตรกลีเซอไรด์สูง
ภาวะไตรกลีเซอไรด์สูงสามารถป้องกันได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางส่วนตามคำแนะนำ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ของทอด อาหารแปรรูปแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันสูง ขนมขบเคี้ยว หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เป็นต้น โดยให้รับประทานอาหารไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะแทน
- ลดการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 4 วัน
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่
- ตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่เสมอหรือตามที่แพทย์แนะนำ