ความหมาย ไฝ (Mole)
ไฝ (Mole) คือจุดเล็ก ๆ ที่ปรากฏขึ้นบนผิวหนัง มักมีสีน้ำตาลหรือสีดำ อาจมีลักษณะแบน นูน มีพื้นผิวเรียบหรือขรุขระ หรืออาจมีเส้นขนขึ้นบนไฝด้วย ไฝตามร่างกายพบได้เป็นปกติและมักเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น โดยขนาดและรูปร่างของไฝอาจเปลี่ยนแปลงไปหรือจางลงเมื่ออายุมากขึ้นด้วย
ไฝตามร่างกายส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และไม่จำเป็นต้องรักษาหรือจำกัดออกหากไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสวยงามของผิวหนัง หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นใจ แต่ในบางกรณี ไฝก็อาจมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) ได้ แม้พบได้น้อยมาก แต่ก็ควรสังเกตความผิดปกติของไฝอยู่เสมอ
อาการของไฝ
ลักษณะทั่วไปของไฝจะปรากฏเป็นวงกลมหรือวงรีขอบเรียบจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม หรืออาจมีสีอื่น ๆ เช่น สีน้ำตาลอ่อน สีดำ สีแทน สีแดง สีชมพู หรือสีเขียว พื้นผิวของไฝอาจเรียบแบน ขรุขระ นูนขึ้นจากผิวหนัง หรือมีขนขึ้นบนไฝ แต่ส่วนมากไฝจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.6 มิลลิเมตร หรืออาจมีขนาดใหญ่กว่านี้ได้หากเป็นไฝที่ขึ้นมาตั้งแต่แรกเกิด
ไฝสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณบนร่างกาย รวมถึงหนังศีรษะ รักแร้ ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า หรือแม้กระทั่งใต้เล็บก็ตาม คนส่วนใหญ่จะมีไฝที่ประมาณ 10–45 เม็ด โดยจะขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 40 ปี ซึ่งไฝนี้สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ตลอดเวลาหรืออาจจางหายไปเมื่ออายุมากขึ้นก็ได้
แม้โดยทั่วไปไฝมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ไฝบางชนิดที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจึงควรตรวจดูไฝที่เกิดขึ้นใหม่ทุก 2–3 เดือน รวมถึงสังเกตความเปลี่ยนแปลงของไฝที่มีอยู่ก่อนแล้วอยู่เสมอ โดยไฝที่ผิดปกติสามารถสังเกตได้ดังนี้
- สีของไฝไม่สม่ำเสมอกัน เฉดสีของไฝมีความแตกต่างกันหรือเปลี่ยนสีไปจากเดิม โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนเป็นสีดำเข้ม
- ไฝมีพื้นผิวไม่สม่ำเสมอหรือขอบของไฝไม่เรียบ แตกต่างจากไฝทั่วไปที่มีลักษณะกลมหรือรีและมีขอบเรียบ
- รูปร่างลักษณะของไฝไม่สมมาตรกัน คือเมื่อแบ่งครึ่งแล้วไฝมีขนาดไม่เท่ากัน
- มีอาการคัน แดง บวม มีเลือดออกที่ไฝ หรือไฝมีแผ่นคล้ายเปลือกปกคลุมอยู่
- ไฝพัฒนาจนใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งโดยทั่วไปไฝจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 0.6 มิลลิเมตร
ไฝที่มีลักษณะผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดของร่างกายก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะพบบริเวณหลัง แขน ขา และใบหน้า โดยในเพศหญิงมักพบบริเวณขาท่อนล่าง ส่วนในเพศชายจะพบได้บ่อยที่หน้าอกและหลัง
สาเหตุของการเกิดไฝ
ไฝเกิดขึ้นจากเซลล์เม็ดสีหรือเมลาโนไซต์ (Melanocytes) ในผิวหนังที่ทำหน้าที่ผลิตสารสีให้ปรากฏเป็นสีผิวแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่แทนที่เซลล์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปตามผิวหนังตามปกติ กลับมารวมตัวกันเป็นกลุ่มจนเกิดเป็นจุดไฝที่มีสีเข้มโดดเด่นขึ้นมา
ไฝสามารถเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ขยายขนาด หรือเพิ่มจำนวนขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่อไปนี้
- พันธุกรรม โดยผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีไฝจำนวนมากจะมีแนวโน้มในการเกิดไฝมากตามไปด้วย
- อายุ โดยไฝส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อยกว่า 30 ปี หากเกิดขึ้นหลังจากนี้ควรระวังเป็นพิเศษ
- การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนในวัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ไฝมีสีเข้มขึ้น
- ผู้ที่มีผิวสีอ่อนมักมีไฝเกิดขึ้นบนผิวหนังมากกว่าผู้ที่มีผิวคล้ำ
- การเผชิญแสงแดดเป็นประจำ อาจทำให้เกิดไฝเล็ก ๆ จำนวนมาก
- การรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน อาจส่งผลกระตุ้นให้ไฝเพิ่มจำนวนมากขึ้น
- ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRAF อาจทำให้ไฝเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นไฝมะเร็งได้
การวินิจฉัยไฝ
ผู้ที่สงสัยว่ามีไฝที่ผิดปกติเกิดขึ้น สามารถตรวจดูเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยการส่องดูด้วยกระจกหรือให้ผู้อื่นช่วยตรวจดูโดยทั่วตั้งแต่หนังศีรษะ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บมือ ง่ามนิ้ว รักแร้ หน้าอก อวัยวะเพศ หรือแม้กระทั่งระหว่างก้น โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ เช่น มือ แขน ขา หน้าอก หลัง ใบหน้า และใบหู
การตรวจดูไฝที่ผิดปกติจะใช้การสังเกตจากสี ขนาด และลักษณะรูปร่างของไฝว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจึงควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยอย่างแน่ชัด นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ก็สามารถบอกถึงความผิดปกติของไฝได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการคัน เจ็บ ช้ำ มีเลือดออก หรือมีของเหลวไหลออกจากไฝ
ส่วนการวินิจฉัยโดยแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูด้วยสายตา โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดมะเร็งเมลาโนมา หากมีความเสี่ยงจึงวินิจฉัยต่อด้วยการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นการตัดเอาตัวอย่างไฝที่น่าสงสัยไปส่งตรวจด้วยกล้องไมโครสโคปโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ในการตัดเอาไฝออกมา แม้ไฝดังกล่าวจะเป็นเซลล์มะเร็งแต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของมะเร็งแต่อย่างใด
การรักษาไฝ
ไฝโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องกำจัดออก แต่หากไฝขึ้นบริเวณหนวดหรือเครา แพทย์อาจแนะนำให้กำจัดออกเพราะสามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองจากการโกนหนวดได้ รวมถึงไฝตามส่วนต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียดสี หรือเป็นความต้องการของผู้ป่วยเนื่องจากรู้สึกว่าไฝดังกล่าวส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจ
การนำไฝออกใช้เวลาเพียงไม่นานและสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกันหลังรับการรักษา ทั้งนี้หากพบว่าไฝดังกล่าวขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้รีบกลับไปพบแพทย์ทันที โดยวิธีกำจัดไฝที่แพทย์อาจเลือกใช้มีดังนี้
- การตัดก้อนผิวหนัง โดยการฉีดยาชารอบ ๆ ไฝที่ต้องการผ่าตัด แล้วตัดเอาไฝและขอบเนื้อปกติโดยรอบออกด้วยมีดผ่าตัดและอุปกรณ์เจาะที่มีความคม เรียบร้อยแล้วจึงเย็บแผล
- การตัดเฉพาะไฝ โดยการฉีดยาชารอบ ๆ ไฝที่ต้องการผ่าตัด จากนั้นใช้ใบมีดเล็ก ๆ ตัดรอบ ๆ ไฝไปถึงข้างใต้ วิธีนี้มักใช้กับไฝที่มีขนาดเล็กลงมา และไม่จำเป็นต้องเย็บแผลปิด
นอกจากนี้ อาจใช้วิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากการผ่าไฝออก เช่น ใช้เครื่องสำอางช่วยปกปิด หรือหากมีขนขึ้นบนไฝสามารถถอนออกด้วยตนเองโดยใช้แหนบ
สำหรับไฝที่วินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะใช้กระบวนการทางการแพทย์ผ่าตัดเอาไฝทั้งหมดออก รวมถึงพื้นที่ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ไฝนั้น แล้วเย็บแผลให้ปิดเป็นปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของไฝ
มะเร็งไฝหรือมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาเป็นภาวะแทรกซ้อนหลักจากไฝ ซึ่งแต่ละคนมีความเสี่ยงที่ไฝจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเมลาโนมามากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การมีไฝขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 0.6 มิลลิเมตร มีจำนวนไฝเกินกว่า 50 เม็ด มีลักษณะหรืออาการผิดปกติบริเวณที่ไฝขึ้น หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้
การป้องกันการเกิดไฝ
เนื่องจากการเผชิญแสงแดดเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนของไฝ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการที่ไฝจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเมลาโนมา จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ทาครีมกันแดดประมาณ 30 นาทีก่อนออกจากบ้าน โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้นหากมีเหงื่อออกหรือโดนน้ำ และควรทาครีมกันแดดแม้กระทั่งในวันที่มีแดดน้อยด้วย
- หลีกเลี่ยงการออกแดดในช่วงที่แสงแดดแรง เพราะเป็นช่วงที่มีรังสียูวีเข้มมากที่สุด ซึ่งคือช่วงเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น
- ควรปกปิดผิวหนังด้วยหมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาวอย่างมิดชิดเมื่อออกแดดหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
นอกจากนี้ ควรสังเกตและจดจำไฝบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย และหมั่นตรวจดูเป็นประจำว่ามีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งเมลาโนมา หากพบว่ามีความผิดปกติควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม หากเป็นมะเร็งเมลาโนมาจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที