ความหมาย ไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน (Hernia) คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม ทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งอาจเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง เช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้องเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การเบ่งขณะขับถ่ายจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม และการยกของหนัก
ภาวะไส้เลื่อนสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามตำแหน่งการเกิดโรคที่พบได้บ่อยดังนี้
- ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernias) คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบมักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วง ๆ หรืออาการปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นขณะออกกำลังกาย ไอ และจาม ไส้เลื่อนขาหนีบเป็นประเภทที่พบมากที่สุด และพบบ่อยในเพศชาย
- ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernias) หรือที่เรียกว่าสะดือจุ่น คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ พบมากในทารกและเด็กเล็ก ส่วนในผู้ใหญ่อาจเกิดในผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือคนที่มีอาการท้องมาน
- ไส้เลื่อนจากการผ่าตัด (Incisional Hernias) อาจเกิดในผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องมาก่อน เนื่องจากการผ่าตัดทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง
- ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernias) เกิดจากเนื้อเยื่อที่สะสมไขมันใต้ผิวหนังหรือส่วนหนึ่งของลำไส้ยื่นออกมาบริเวณต้นขาด้านใน การเกิดไส้เลื่อนในบริเวณนี้พบได้น้อยกว่าบริเวณขาหนีบ แต่พบได้บ่อยในผู้หญิง
นอกจากนี้ มีภาวะไส้เลื่อนบริเวณอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ เช่น ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ หรือไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องเช่นกัน
อาการของโรคไส้เลื่อน
อาการของไส้เลื่อนที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มีก้อนนูนสามารถผลุบเข้าออกได้บริเวณผนังหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบ มักโผล่ออกมาขณะเบ่งหรือยืนนาน ๆ และหายไปขณะนอนราบ แต่บางครั้งอาจไม่สามารถกลับเข้าได้เอง
ผู้ที่เป็นไส้เลื่อนอาจรู้สึกเจ็บ โดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกของ บางรายอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน หากมีอาการไส้เลื่อนที่บริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก และมีปัญหาในการกลืน แต่ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการอื่น ๆ เลย มีเพียงอาการที่เห็นภายนอกเท่านั้น
ผู้ป่วยควรสังเกตความผิดปกติภายนอกของร่างกาย หากมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด
หากมีอาการอาเจียน ท้องผูก ท้องอืด ไม่ผายลม บริเวณที่ไส้เลื่อนออกมาตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็งจนไม่สามารถใช้มือกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ และรู้สึกปวดมาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษา เพราะอาจเป็นสัญญาณของลำไส้อุดตัน (Obstruction) และภาวะลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยง (Strangulate) หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ลำไส้เน่าและเป็นอันตรายถึงชีวิต
สาเหตุของโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องตั้งแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุและการผ่าตัดบริเวณช่องท้องที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องอ่อนแอลง
นอกจากนี้ แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้เช่นกัน เพราะเมื่อแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในก็จะถูกดันออกมาที่บริเวณผนังช่องท้อง โดยสาเหตุที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นมีดังนี้
- การยกของหนัก ซึ่งทำให้ร่างกายเกร็งตัวเมื่อออกแรงมาก ทำให้ปอดขยายและดันกระบังลมลงมา จึงเกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์แฝด
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูกที่ทำให้ต้องออกแรงเบ่งขณะขับถ่าย
- ของเหลวสะสมผิดปกติในช่องท้อง
- การไอหรือจามแรง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจหรือโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD)
ภาวะไส้เลื่อนอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยเคยเป็นไส้เลื่อนหรือมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีอาการไอเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ และเป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เมือกภายในปอดหนาตัวผิดปกติ ส่งผลให้หายใจลำบากและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคไส้เลื่อนได้
การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน
แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหากสงสัยว่ามีก้อนนูนอยู่บริเวณช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการของไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น
หากอาการไส้เลื่อนไม่สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ (Ultrasonogram) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนปรากฏเป็นภาพ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งเป็นการเอกซเรย์ด้วยลำแสงเอกซ์ (X-ray) ด้วยคอมพิวเตอร์ หากสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อนกระบังลม แพทย์อาจทำการส่องกล้องผ่านทางลำคอลงไปยังหลอดอาหารและช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัย
ในกรณีที่มีอาการข้างเคียง เช่น มีไข้ มีอาการปวดมากผิดปกติ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยวิธีการตรวจมีดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (Complete Blood Count : CBC)
- การตรวจค่าการทำงานของไต เช่น การตรวจ BUN หรือการตรวจวัดค่าไนโตรเจนของยูเรียในเลือด และการตรวจค่า Creatinine
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจทางพยาธิวิทยาในกรณีที่ได้ชิ้นเนื้อจากการผ่าตัด
การรักษาโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด โดยเฉพาะไส้เลื่อนชนิดติดค้างควรได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ส่วนไส้เลื่อนชนิดอื่น ๆ ในช่วงระหว่างรอการผ่าตัดแพทย์อาจใช้ยาแก้ปวดหากผู้ป่วยรู้สึกปวด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณามีดังนี้
- กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก จะมีการพิจารณาจากขนาดของไส้เลื่อน อายุ อาการของผู้ป่วย และชนิดของไส้เลื่อนที่เป็น เช่น เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือสามารถหายได้เองเมื่ออายุ 1–2 ปี แต่หากไส้เลื่อนที่สะดือมีขนาดใหญ่หรือเด็กอายุ 4–5 ปีแล้วไส้เลื่อนยังไม่หายไป ก็ควรได้รับการผ่าตัด รวมถึงเด็กที่มีอาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบควรได้รับการรักษาเร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้จะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ติดค้างมากขึ้น
- กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดมาก สีผิวบริเวณไส้เลื่อนเปลี่ยน ไส้ที่ยื่นออกมาไม่สามารถดันกลับไป เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา เช่น ลำไส้ขาดเลือด และลำไส้อุดตัน
หากต้องได้รับการผ่าตัด แพทย์จะเสนอการผ่าตัด 2 วิธี ซึ่งแพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดแต่ละรูปแบบ เพื่อให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยแพทย์จะทำการผ่าที่บริเวณหน้าท้องแล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุคล้ายตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรง วิธีการผ่าตัดนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ และจะใช้วิธีนี้เช่นกันหากต้องทำการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นการด่วน
- การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นการผ่าตัดโดยผ่านกล้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ สำหรับการผ่าตัดชนิดนี้ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวได้ไว
โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้ ควรทำความสะอาดและดูแลบาดแผลหลังผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ มีรอยแดง มีหนองไหล หรือรู้สึกเจ็บบริเวณแผลอย่างฉับพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
แพทย์จะให้คำแนะนำในการรับประทานอาหาร และการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนักในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจอาการและการติดเชื้อ งดสูบบุหรี่ และควบคุมน้ำหนัก โดยปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในออกกำลังกายที่เหมาะสมหลังผ่าตัด และเมื่อร่างกายฟื้นตัวดีแล้วควรออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันการเกิดไส้เลื่อนซ้ำในภายหลัง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อน
หากปล่อยอาการไส้เลื่อนทิ้งไว้จนเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น
- ลำไส้อุดตัน (Obstruction) เกิดขึ้นเมื่อส่วนของลำไส้ที่เคลื่อนออกมาติดคาอยู่ที่ขาหนีบ และไม่สามารถดันกลับไปในช่องท้องได้ ทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และรู้สึกเจ็บที่ก้อนบริเวณขาหนีบ
- ลำไส้ขาดเลือด (Strangulated) เกิดจากลำไส้บางส่วนติดคาเป็นเวลานาน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยง หากไม่รีบเข้ารับการผ่าตัดอาจทำให้ลำไส้เน่าและเป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีการป้องกันโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้องด้วยวิธีเหล่านี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำเพื่อลดอาการท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ควรยกสิ่งของให้ถูกวิธีด้วยการย่อตัวลงและหยิบของโดยพยายามให้หลังตรงอยู่เสมอ
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดอาการไอ
- ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันผิดปกติ