ความหมาย ไอเรื้อรัง
ไอเรื้อรัง (Chronic Cough) คือ อาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ใหญ่มักจะมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป และเด็กจะมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป
ไอเรื้อรังเป็นอาการที่ไม่ใช่โรค ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยหรือปัญทางสุขภาพต่าง ๆ เช่น สูบบุหรี่ น้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน โดยเมื่อโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติ อาการไอเรื้อรังก็จะหายไป
อาการไอเรื้อรัง
อาการไอเรื้อรัง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ นอกเหนือจากอาการไอแล้ว อาจมีอาการต่าง ๆ ได้แก่
- มีน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- มีน้ำมูกไหลลงคอ
- มีอาการต้องกระแอมไออยู่บ่อยครั้ง และเจ็บคอ
- เสียงแหบ
- เจ็บคอ
- มีไข้
- มีเหงื่อออกมากในเวลากลางคืน
- หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจติดขัด
- มีอาการแสบร้อนกลางอก หรือมีรสเปรี้ยวในปาก
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ไอเป็นเลือด
หากพบอาการที่เกิดร่วมกับไอเรื้งรังดังต่อไปนี้ หรือพบว่ามีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่ไอมีเสมหะหรือมีเลือดปน รวมไปถึงรบกวนการนอนหลับและมีผลต่อการเรียนหรือการทำงาน ควรไปพบแพทย์
- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ
- เสียงแหบ
- เบื่ออาหารน้ำหนักลด
- เหนื่อยเฉพาะกลางคืนหรือขณะพัก
- มีประวัติปอดอักเสบบ่อย ๆ
สาเหตุไอเรื้อรัง
สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง มักจะมาจากปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งสาเหตุร่วมกัน ที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้
- น้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอ
- โรคหืด
- โรคกรดไหลย้อน
- โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง
- หลอดลมอักเสบ
- การติดเชื้อ เช่น ปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
- การใช้ยารักษาโรคความดันโลหิต (ACE Inhibitors)
- การสูบบุหรี่
สาเหตุที่พบน้อย ได้แก่
- โรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis)
- หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis)
- ไอกรน (Pertussis)
- โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ปอด ระบบทางเดินอาหารและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย
- โรคซาร์คอยโดสิส (Sarcoidosis) เป็นโรคที่กลุ่มเซลล์ที่เกิดการอักเสบก่อตัวขึ้นที่ปอดและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
- มะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง
ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่อาการไอเรื้อรัง คือเป็นผู้ที่กำลังสูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่ รวมไปถึงได้รับควันบุหรี่โดยที่ตนเองไม่ได้สูบเอง เพราะมีส่วนทำให้เกิดอาการไอและเกิดความเสียหายแก่ปอดได้ นอกจากนั้น เพศหญิงมักตอบสนองไวต่อการไอ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการไอเรื้อรังได้มากกว่าผู้ชาย
ปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้ไอ
- อุณหภูมิ
- การรับประทานอาหารมื้อใหญ่
- สารเคมี ฝุ่น มลพิษทางอากาศ และสารก่ออาการระคายเคือง
การวินิจฉัยไอเรื้อรัง
การวินิจฉัยอาการไอเรื้อรัง เบื้องต้นแพทย์จะถามประวัติอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย จากนั้นอาจจะตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย ได้แก่
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยหาสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรัง
- ตรวจสอบการทำงานของปอด เป็นการทดสอบเพื่อวัดความสามารถในการหายใจของผู้ป่วย จากการหายใจเข้าและออก
- การดูภาพอวัยวะภายในร่างกาย
- เอกซเรย์ (X-Ray) อาจใช้เพื่อตรวจสอบโรคมะเร็งปอด ปอดบวมและโรคปอดชนิดอื่น ๆ หรือใช้ตรวจสอบไซนัสอักเสบ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT-Scan) ใช้เพื่อตรวจสอบสภาพของปอดเพื่อตรวจสอบภาวะที่อาจก่อให้เกิดอาการไอ หรือตรวจสอบโพรงไซนัสเพื่อดูการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น
- ตรวจด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่น หรือการส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบดูภายในปอดและหลอดลมได้ รวมไปถึงสามารถตัดตัวอย่างของเนื้อเยื่อทางเดินหายใจไปตรวจหาความผิดปกติได้
- การวินิจฉัยสำหรับเด็ก ในเบื้องต้นอาจจะมีการตรวจสมรรถภาพปอดและเอกซเรย์หน้าอก เพื่อสาเหตุของอาการไอเรื้อรังในเด็ก
การรักษาไอเรื้อรัง
การรักษาอาการไอเรื้อรังจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น
- หากมีสาเหตุจากโรคหืด แพทย์อาจจะให้ใช้ยารักษา เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม หรือยาสเตียรอยด์ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของหลอดลมและลดอาการหายใจหอบ
- หากมีสาเหตุจากโรคกรดไหลย้อน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้หมอนเสริมเพื่อให้ศีรษะยกสูงขึ้นในขณะนอนหลับ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหาร เช่น ช็อกโกแลต น้ำอัดลมไวน์แดง ชา กาแฟ ของเปรี้ยวจัดหรือเผ็ดจัด และอาหารไขมันสูง และอาจให้ใช้ยารักษา เช่น ยาโอเมพราโซล (Omeprazole) ยาแรนิทิดีน (Ranitidine) ยาไซเมทิดีน (Cimetidine) ยาฟาโมทิดีน (Famotidine) และยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole) ที่สำคัญ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ ลดเหล้า งดสูบบุหรี่ ไม่รับประทานอาหารมื้อละปริมาณมาก ๆ หรือหลังรับประทานอาหารไม่ควรนอนเอนหลังทันที ควรรอประมาณ 4 ชั่วโมง
- หากมีสาเหตุจากปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือหลอดลมอักเสบ แพทย์อาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะ
- หากมีสาเหตุจากเสมหะไหลลงคอ (Post Nasal Drip) อาจใช้ยาที่สามารถหาซื้อใช้ได้เอง เช่น ยาต้านฮีสทามีน ยาละลายเสมหะอย่างยาเอ็นอะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) หรือแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาไซนัสอักเสบ รวมไปถึงใช้ยาพ่น เช่น ยาไอปราโทรเปียม (Ipratropium) เพื่อช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล จาม และน้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอ นอกจากนั้น ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) เช่น ยาฟลูติคาโซน (Fluticasone) ก็สามารถช่วยลดอาการเสมหะไหลลงคอได้
- หากสาเหตุมาจากการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงยากลุ่ม (ACE Inhibitor) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง แพทย์ก็จะให้ใช้ยาชนิดอื่นแทน
- หากการรักษาไม่ได้ผลและอาการไอเรื้อรังมีความรุนแรงขึ้น แพทย์อาจให้ใช้ยาระงับอาการไอ ได้แก่ ยาโคเดอีน (Codeine)
ภาวะแทรกซ้อนของไอเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเรื้อรัง เป็นอาการที่อาจทำให้เกิดความยากลำบากหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการไอรบกวนการนอนหลับและทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้แก่
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- รู้สึกไม่สบายกล้ามเนื้อ
- นอนไม่หลับ
- เสียงแหบ
- เหงื่อออกมาก
- มีเลือดออกในตาเล็กน้อย
- ปัสสาวะเล็ด
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการไส้เลื่อน
- ไอมากจนซี่โครงอาจหักได้
- อาเจียน
การป้องกันไอเรื้อรัง
การป้องกันอาการไอเรื้อรัง ทำได้ดังต่อไปนี้
- เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่อาจเป็นโรคหลอดลมอักเสบหรือปอดปวม
- รับประทานอาหารและผลไม้ที่มีไฟเบอร์หรือกากใยสูง เพราะจากการวิจัยได้แนะนำว่าไฟเบอร์และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่พบในผลไม่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันอาการไอเรื้อรังได้
การดูแลตนเองในระหว่างที่มีอาการไอเรื้อรัง ได้แก่
- ดื่มน้ำอุ่น อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ
- หลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่น ควันบุหรี่ หรือมลพิษทางอากาศ
- ใช้หมอนเสริมเวลานอนเพื่อช่วยยกศีรษะและลำตัวช่วงบนให้สูงขึ้น
- ในเบื้องต้นหากมีอาการระคายคอหรือเจ็บคอร่วมด้วยอาจใช้เป็นสเปรย์คาโมไมล์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรอย่าง น้ำมันเปปเปอร์มินต์ น้ำมันยูคาลิปตัส หรือน้ำมันมะกรูด เพื่อช่วยลดอาการอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และบรรเทาอาการระคายเคือง
- ซื้อยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) หรือยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
- ใช้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะที่มีส่วนผสมของยาเอ็นอะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) หรือที่รู้จักกันในชื่อ แนค (NAC) โดยตัวยาจะช่วยลดความเหนียวและข้นของเสมหะ ทำให้ร่างกายขับเสมหะออกมาง่ายได้ขึ้น ยานี้จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป และมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้อย่างยาเม็ดหรือยาน้ำ สำหรับผู้ที่กลืนยาลำบากหรือผู้สูงอายุสามารถเลือกซื้อในรูปแบบยาเม็ดฟู่ที่ง่ายต่อการรับประทาน เพียงผสมน้ำแล้วดื่ม ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยในการใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
นอกจากการดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนตามแผนการรักษาที่แพทย์แนะนำไว้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา