ความหมาย งูสวัด (Shingles)
งูสวัด (Shingles หรือ Herpes zoster) คือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) ซึ่งลักษณะอาการเด่น ๆ อาจมีรอยผื่นแดงและตุ่มน้ำ ร่วมกับอาการปวดแสบบริเวณที่เกิดอาการ
งูสวัดเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ และหากผู้ป่วยได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้
สาเหตุของงูสวัด
งูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยโรคอีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่งูสวัดนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น
โดยเมื่อเชื้อก่อโรคจู่โจมร่างกายจนเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อดังกล่าวก็จะไปอยู่ตามปมประสาท และกลายเป็นงูสวัดในภายหลังเมื่อระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ โดยผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา ผู้กำลังใช้ยาสเตียรอยด์ และผู้ที่รับการรักษาด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติ จึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
อาการของงูสวัด
สัญญาณของอาการงูสวัดมักจะเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเล็ก ๆ ของร่างกายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นในฝั่งร่างกายเดียวกัน โดยระยะแรกหรือระยะฟักตัว ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวและมีไข้ ตามมาด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง บางรายอาจมีอาการชาด้วย เมื่อใช้มือสัมผัสแล้วจะรู้สึกเจ็บ
เมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ บริเวณที่ปวดจะเกิดผื่นสีแดง ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำในเวลารวดเร็ว โดยตุ่มน้ำอาจเกิดในลักษณะเป็นกลุ่มหรือเรียงเป็นเส้นยาวไปตามแนวของเส้นประสาท จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกและตกสะเก็ด โดยจะใช้เวลาราว 2–6 สัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ โดยบริเวณที่พบผื่นงูสวัดได้มากที่สุดคืออกและเอวข้างใดข้างหนึ่ง บางครั้งอาจมีผื่นขึ้นที่บริเวณใบหน้า คอ หรือในดวงตาได้ด้วย
หลังจากที่อาการทางผิวหนังหายไปแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการให้เห็นทางผิวหนัง แต่อาจมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ ปอด และไต อันเนื่องมาจากการถูกเชื้อไวรัสทำลายเส้นประสาท แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
อาการงูสวัดที่ควรไปพบแพทย์
ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการงูสวัด หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตราย เช่น
- รู้สึกปวดหรือมีผื่นเกิดขึ้นใกล้ดวงตา
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- ครอบครัวหรือตนเองมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- โรคงูสวัดมีอาการรุนแรง
การวินิจฉัยงูสวัด
แพทย์จะซักถามประวัติว่าเคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสหรือไม่ และตรวจดูว่ามีผื่นและตุ่มน้ำเกิดที่บริเวณใดของร่างกาย จากนั้นอาจมีการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเนื้อเยื่อหรือน้ำของเหลวในตุ่มน้ำไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอีกครั้งและทำการรักษาต่อไป
การรักษางูสวัด
แพทย์จะรักษาตามอาการร่วมกับการให้ยาต้านไวรัส หากอาการงูสวัดเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อเร่งกระบวนการการหายของโรคและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาลดอาการปวดร่วมด้วย เช่น ยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาต้านเศร้า และยาทาบางชนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงของงูสวัด
หลังจากอาการทางผิวหนังหายเป็นปกติแล้วอาจยังมีอาการปวดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้หลังจากเป็นงูสวัด แพทย์อาจจะจ่ายยารักษาอาการปวดที่ปลายประสาทร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของงูสวัด
เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดงูสวัด สามารถแพร่กระจายไปตามเส้นประสาทต่าง ๆ ของร่างกาย ภาวะแทรกซ้อนจึงเกิดได้หลายอย่าง เช่น การสูญเสียการมองเห็นจากการเกิดแผลในกระจกตา การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการปวดที่ปลายประสาท หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและเส้นประสาท เช่น รัมเซย์ ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome)
บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไข้สมองอักเสบ แม้จะเกิดขึ้นได้น้อยในผู้ป่วยโรคงูสวัด แต่ก็เป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตาม การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การป้องกันงูสวัด
โรคงูสวัดสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ร่างกายสัมผัสหรือรับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุตั้งแต่แรก หากยังไม่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสดังกล่าวจู่โจมร่างกาย หรือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค