ความหมาย มะเร็งผิวหนัง (Skin Cancer)
มะเร็งผิวหนังคือโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง เนื่องมาจากความผิดปกติในการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย และอาจแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ หากระยะของโรครุนแรงขึ้น
มะเร็งผิวหนังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ คือ มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma: BCC) มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma: SCC) และมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)
อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง จึงมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา มือ ใบหน้า หรือบริเวณที่ต้องถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งอาการของมะเร็งผิวหนังจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งผิวหนังดังนี้
มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma: BCC)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่มีผิวขาว อาการที่เห็นได้ชัด คือ มีตุ่มเนื้อสีชมพูหรือสีแดง ลักษณะผิวเรียบมันวาว มักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็เป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma: SCC)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพูหรือแดง ด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุยหรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดจนกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma)
เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงมาก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่มักพบบริเวณใบหน้า ลำตัวของผู้ป่วยเพศชาย และขาส่วนล่างของผู้ป่วยเพศหญิง โดยมีความผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ เช่น มีตุ่มหรือก้อนคล้ายไฝสีดำเข้ม ขอบไฝไม่เรียบ ไฝมีขนาดหรือสีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจมีเลือดออกจากไฝ เป็นต้น
สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง
โรคมะเร็งผิวหนังเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอภายในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ โดยสาเหตุที่ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดความผิดปกตินั้นส่วนใหญ่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด หรือแสงสังเคราะห์ที่นิยมใช้ในเตียงอาบแดด
ทั้งนี้ แสงแดดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีก เช่น
- มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
- อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันหรือทาครีมกันแดด
- อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
- มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
- ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
- มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
- ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
- มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง
ในเบื้องต้นสามารถสังเกตความผิดปกติของผิวหนังด้วตาเปล่า หากมีตุ่มเนื้อที่ดูผิดปกติหรือมีแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนังที่มักจะโดนแดดบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน
การวินิจฉัยโดยแพทย์จะเริ่มจากการตรวจดูบริเวณผิวหนังภายนอก หากบริเวณที่ผิดปกตินั้นมีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่ต้องสงสัยไปทำการตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง ในกรณีที่ตัวอย่างผิวหนังที่ตัดไปตรวจนั้นเป็นเนื้อร้าย แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์ว่ามะเร็งผิวหนังอยู่ในระยะใด
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งผิวหนังจะคล้ายคลึงกับมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยแพทย์จะทำการวิเคราะห์ขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และตรวจวินิจฉัยว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ แล้วจึงจะระบุได้ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งในระยะใด
นอกจากระยะของมะเร็งที่กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีอาการทางผิวหนังบางอย่างที่หากตรวจพบแล้ว แพทย์อาจจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในระยะก่อนมะเร็ง (Precancer) และต้องทำการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยอาการทางผิวหนังที่ควรระมัดระวังมีดังนี้
- เกิดแผลตกสะเก็ดจากการโดนแสงแดดติดต่อกันบ่อย ๆ เป็นเวลานาน
- ตุ่มนูน ที่มีลักษณะหนาแข็ง โดยผิวหนังบริเวณฐานของตุ่มจะแดง
- มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
- มีไฝหรือขี้แมลงวันรูปร่างผิดปกติ มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ขยายขนาดเร็ว หรือมีสีที่แตกต่างจากทั่วไป
การรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง
การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังจะแบ่งไปตามระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ และชนิดของมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากการรักษาแต่ละวิธีจะให้ผลกับการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน รวมถึงต้องพิจารณาจากสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ ได้แก่
การผ่าตัดผิวหนัง
แพทย์ผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หากบริเวณที่ผ่าตัดออกมีขนาดใหญ่อาจนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปิดบริเวณแผล เพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น และจะทำให้รอยแผลเป็นน้อยลงได้
การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า
เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งค่อนข้างเล็ก โดยแพทย์จะทำใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีลักษณะคล้ายกับช้อนขนาดเล็กคว้านบริเวณที่เป็นเนื้อร้ายออก จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้ที่เนื้อเยื่อโดยรอบ วิธีนี้อาจต้องทำติดต่อกัน 2–3 ครั้ง ถึงสามารถนำเนื้อร้ายออกได้หมด
การรักษาด้วยการจี้เย็น
การจี้เย็นมักจะใช้กับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น แพทย์จะนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง หลังจากนั้นผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดออกภายใน 1 เดือน วิธีการรักษานี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นสีขาวเล็ก ๆ หลงเหลือไว้ที่ผิวหนัง
การรักษาด้วยวิธี MMS (Mohs Micrographic Surgery)
เป็นการผ่าตัดที่มักใช้เมื่อมะเร็งเกิดในบริเวณที่ไม่สามารถใช้วิธีรักษาแบบอื่นได้ หรือมะเร็งที่เกิดขึ้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายสูง แพทย์จะค่อย ๆ ตัดเนื้อมะเร็งออกไปเป็นชั้นบาง ๆ แล้วจี้ด้วยไฟฟ้า จากนั้นจะนำชิ้นเนื้อดังกล่าวไปตรวจสอบว่ายังมีชิ้นเชื้อมะเร็งอยู่หรือไม่ โดยอาจจะต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าตรวจไม่พบมะเร็งแล้วจริง ๆ
การทำเคมีบำบัด
แพทย์อาจใช้เคมีบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่ไม่ใช่เมลาโนมาเมื่อพบเนื้อร้ายที่บริเวณผิวหนังชั้นบน โดยใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาเคมีบำบัดทาบริเวณที่เป็นมะเร็ง หรืออาจให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือด เพื่อรักษามะเร็งผิวหนังที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
การฉายแสงโฟโตไดนามิก
เป็นการใช้แสงเลเซอร์ความเข้มสูงฉายลงไปบริเวณที่เป็นมะเร็ง โดยก่อนฉายแสงจะต้องทาตัวยาลงไปก่อน วิธีนี้เป็นการรักษาของมะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ จะอาจก่อให้เกิดแผลเป็นและรอยไหม้บริเวณผิวหนังได้
การฉายรังสี
เป็นการใช้รังสีเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง วิธีนี้จะใช้รักษามะเร็งผิวหนังในกรณีที่ขนาดของมะเร็งมีขนาดใหญ่ ไม่สามารถผ่าตัดออกหมด หรืออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ บางครั้งก็ใช้เพื่อป้องกันกลับมาเป็นมะเร็งผิวหนังซ้ำ
ในกรณีที่กลับมาเป็นมะเร็งผิวหนังซ้ำนั้น แพทย์จะดูจากหลายปัจจัยประกอบกันเพื่อเลือกวิธีการรักษา ทั้งชนิดของมะเร็ง บริเวณที่เกิดขึ้น ขนาดของเซลล์มะเร็ง สุขภาพของผู้ป่วย และประวัติการรักษามะเร็งผิวหนังที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่น เช่น กลับมาเป็นมะเร็งผิวหนังในตำแหน่งเดิมซ้ำหรือใกล้เคียงบริเวณเดิม เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ และหากมะเร็งแพร่กระจายมากจนไม่สามารถควบคุมได้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง
การป้องกันความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง มีดังนี้
- หมั่นสังเกตผิวหนังของตนเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- หากต้องออกไปอยู่กลางแดด ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดทุกครั้ง สวมหมวกที่มีปีกกว้างเพื่อป้องกันผิวหนังบริเวณศีรษะ ใบหน้า และคอ หรือใช้ร่มที่ป้องกันรังสียูวีได้
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน หากมีผิวขาวควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป โดยให้ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 20–30 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงสังเคราะห์ เช่น แสงจากเตียงอาบแดด เพราะแสงจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนังได้
- ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่