ความหมาย เหา
เหา (Head Lice) คือโรคติดเชื้อปรสิตซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ชื่อว่าเหา โดยเหาจะเกาะอยู่ตามหนังศีรษะคอยดูดเลือดและวางไข่ทำให้มีอาการคัน เหาบนหนังศีรษะพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบบ่อยในเด็กวัยเรียน โรคเหาสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยากำจัดเหา แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
การเป็นเหาไม่ได้เกิดจากการไม่รักษาความสะอาด แต่มักติดจากการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การสัมผัสโดยตรงกับคนที่เป็นเหา หรือสัมผัสเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หมวก และหวีของผู้ที่เป็นเหา โดยปกติแล้ว เหาจะไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสตามมา และไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ยกเว้นการเกาหนังศีรษะแรง ๆ อาจทำให้หนังศีรษะเป็นแปลและติดเชื้อได้
อาการของเหา
อาการของเหาที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคืออาการคันและอาจรู้สึกเหมือนมีตัวอะไรเคลื่อนไหวอยู่บนหนังศีรษะ โดยอาการของโรคเหาจะไม่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย ยกเว้นในกรณีที่เกาจนกลายเป็นแผลเปิดและติดเชื้อจนทำให้อักเสบ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากมีอาการรุนแรงก็อาจทำให้ผมร่วง และหนังศีรษะคล้ำลงเพราะการติดเชื้อได้
สาเหตุของเหา
เหา (Lice) เป็นสัตว์ปรสิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะมนุษย์ คอยดูดเลือดและวางไข่ ตัวโตเต็มวัยมีขนาดเท่าเมล็ดงา การติดโรคเหาส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการอยู่ใกล้ชิดคนที่ติดเหา เช่น คนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน หรือการใช้สิ่งของร่วมกับคนที่เป็นเหา เช่น หมวก หวี ปลอกหมอน ที่ติดผม ผ้าขนหนู โดยโรคเหาติดต่อกันได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยแต่อย่างใด และไม่สามารถติดจากสัตว์ได้
การวินิจฉัยเหา
ในเบื้องต้นอาจสังเกตได้จากอาการคันยุบยิบบนหนังศีรษะ หากมีประวัติว่าคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนที่โรงเรียนเป็นเหา จะวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น หากมีอาการและปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วยควรไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นโดยใช้แว่นขยายส่องหาไข่เหา ตัวอ่อนของเหา หรือตัวโตเต็มวัย หากไม่พบ แพทย์อาจใช้ไฟวูดไลท์ (Wood's light) ช่วยส่องให้เห็นชัดเจนขึ้น เพื่อช่วยระบุว่าเป็นโรคเหาหรือไม่
การรักษาเหา
การรักษาเหาทำได้หลายวิธีอย่างการรักษาด้วยการใช้ยา ซึ่งมีทั้งแชมพูยา ยาทา และยารับประทาน เช่น ยาเพอร์เมทริน (Permethrin) และยาไพรีทริน (Pyrethrin) หากได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ แพทย์จะให้ใช้ยาอื่น ๆ เช่น ยามาลาไทออน (Malathion) และยาไอเวอร์เมคทิน (Ivermectin)
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการดูแลรักษาเหาร่วมด้วย เช่น การใช้หวีสางเหา การใช้สมุนไพรกำจัดเหา การทำความสะอาดบ้านและของใช้ส่วนตัวเพื่อกำจัดตัวเหาและไข่เหา เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของเหา
โดยทั่วไป เหามักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวจากอาการคัน หากผู้ป่วยแพ้อุจจาระของเหาจะยิ่งทำให้เกิดอาการคันบริเวณหลังคอและหลังใบหูได้ หากเกาหนังศีรษะแรง ๆ อาจทำให้หนังศีรษะเป็นแผล ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียบนหนังศีรษะได้
การป้องกันเหา
การป้องกันเหาทำได้ยากทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ การหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นเหา และคนในบ้านควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว หมวก หมอน หวี ไม่ใช้ร่วมกับผู้ที่เป็นเหา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเหาได้