ความหมาย ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza)
ไข้หวัดใหญ่ (Flu, Influenza) คือ โรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด แม้อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอหรือจาม แต่มีความรุนแรงและมีโอกาสนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่สามารถพบได้ตลอดปี และระบาดในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยเฉพาะในฤดูหนาวและฤดูฝนที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
ข้อแตกต่างเบื้องต้นของไข้หวัด (Cold) และไข้หวัดใหญ่ (Flu)
แม้อาการของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่จะค่อนข้างคล้ายกันจนอาจทำให้หลายคนสับสน แต่ผู้ป่วยมักแสดงอาการแตกต่างกันอยู่บ้าง
ไข้หวัด
ผู้ป่วยจะค่อย ๆ แสดงอาการป่วยทีละน้อย มักมีอาการในระบบหายใจส่วนต้น เช่น คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ แม้จะมีอาการป่วยรบกวนเป็นระยะ แต่ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
ไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยจะเกิดอาการอย่างเฉียบพลัน มีไข้สูง และมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัด โดยจะมีไข้สูงเป็นลักษณะเด่น ร่วมกับมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกเพลียมากกว่าไข้หวัด และต้องการพักผ่อนมากกว่าปกติ หากมีไข้สูงมากหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถิติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสูง และเป็นหนึ่งในโรคที่ควรเฝ้าระวังที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ จากรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศมากกว่า 33,000 ราย
ประเภทของไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Influenza virus โดยการติดเชื้อที่พบในมนุษย์ คือ สายพันธุ์ A, B และ C
ไวรัสชนิด A
มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด สามารถติดต่อจากสัตว์พาหะมาสู่คน และจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนอื่น ๆ ทางการไอ จาม และอากาศหายใจที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ จึงสามารถแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง หรือระบาดไปทั่วโลกได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
โครงสร้างของไวรัสชนิด A แตกต่างจากไวรัสชนิดอื่น คือ มีไกลโคโปรตีน 2 แบบ ได้แก่ Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) โดย HA มีหน้าที่จับกับตัวรับสารของเซลล์แล้วบุกรุกเซลล์ สร้างอนุภาคไวรัสขึ้นมาใหม่ เมื่อติดเชื้อแล้ว NA จะทำหน้าที่ส่งไวรัสที่สร้างขึ้นใหม่แพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่น ๆ
โปรตีน HA มีทั้งสิ้น 15 ชนิดย่อย และ NA มี 9 ชนิดย่อย สายพันธุ์ของไวรัสจึงถูกตั้งชื่อตามการจับตัวของโปรตีน อย่างสายพันธุ์ที่มีการระบาดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น H1N1 (ไข้หวัดหมู) H5N1 (ไข้หวัดนก)
ไวรัสชนิด B
มักแพร่ระบาดตามฤดูกาลที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อ อย่างฤดูหนาวและฤดูฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal flu) อาจแพร่ระบาดได้ในระดับภูมิภาค
ไวรัสชนิด C
เป็นการติดเชื้อทางระบบหายใจที่ไม่รุนแรง มีอาการป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการป่วยเลย ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด
ไวรัสชนิด D
เป็นการติดเชื้อที่พบเฉพาะในสัตว์ และยังไม่พบการติดเชื้อที่แพร่มาสู่คน
อาการของไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา แต่อาการป่วยจะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายได้มากกว่า มีไข้สูงมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียหมดแรง ไอ จาม เจ็บคอ คออักเสบ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงอย่างอื่น แต่ไม่มีไข้ และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นได้ด้วย ซึ่งอาการป่วยที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับร่างกาย อายุ และโรคประจำตัวเดิมของแต่ละบุคคลด้วย
สาเหตุของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสกลุ่ม Influenza virus โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายทาง เช่น สูดดมเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ หรือสัมผัสเชื้อไวรัสที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวสิ่งของแล้วนำมือมาสัมผัสดวงตา ปาก หรือจมูก
การติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ไวรัสด้วย บางสายพันธุ์สามารถติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นที่เป็นพาหะสู่คนได้ โดยเฉพาะปศุสัตว์ชนิดที่มีความใกล้ชิดกับคน ไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์จึงมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในหมู่ปศุสัตว์และเกษตรกรค่อนข้างสูง
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่
หากสงสัยว่าตนหรือคนใกล้ชิดเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูก ปวดหัว และอ่อนเพลีย บางรายอาจอาเจียนหรือมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งอาการป่วยเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 1–2 สัปดาห์
หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการแย่ลง หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดบวม หอบหืด ติดเชื้อที่หู หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์สงสัยเกี่ยวกับอาการป่วย หรือตรวจอาการในเบื้องต้นแล้วยังไม่ทราบผลที่แน่ชัด แพทย์อาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติอื่น ๆ เพิ่มเติมตามเหมาะสม เช่น การเก็บตัวอย่างเชื้อจากน้ำมูกหรือเสมหะไปตรวจ การเพาะเลี้ยงเชื้อ หรือการตรวจหาไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์
การรักษาไข้หวัดใหญ่
เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาตามอาการที่ป่วย หรือหากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย สามารถใช้ยารักษาได้ด้วยตนเองภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่น ยาลดไข้ ยาแก้หวัด เช็ดตัวลดไข้ และควรนอนหลับพักฟื้นให้เพียงพอ เพราะการป่วยไข้หวัดใหญ่จะทำให้ร่างกายอ่อนล้า และต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ
หากมีอาการที่น่าสงสัยหรือจัดอยู่ในผู้ป่วยสายพันธุ์อันตรายที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ เพื่อรับยาต้านไวรัสป้องกันหรือลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่อาจเป็นเหตุให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนและโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อในหู การติดเชื้อที่ไซนัส หลอดลมอักเสบ ปอดบวม ปอดอักเสบ ปัญหาที่ระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้ออักเสบ หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน และมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่า
นอกจากนั้น อาการของไข้หวัดใหญ่ยังเป็นเหตุทำให้อาการป่วยโรคอื่นที่เป็นอยู่ก่อนหน้าทรุดหนักลง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด และโรคหัวใจ
การป้องกันไข้หวัดใหญ่
ปัจจุบันมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดปีละครั้ง แต่ไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ทุกชนิด ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หญิงมีครรภ์ เด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้พิการทางสมองที่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ การใช้ยาต้านไวรัสในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายและสุขอนามัยในการใช้ชีวิต ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการป่วยไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน