ความหมาย ไข้เลือดออก (Dengue Fever)
ไข้เลือดออก (Dengue Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) ที่แพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงลายตัวเมีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง มีอาการป่วยรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคชอบอาศัยอยู่ในแถบอากาศร้อนชื้น จึงพบได้มากในประเทศเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและใต้ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
โรคไข้เลือดออกเป็นอีกโรคติดต่อที่มีการประกาศเตือนให้เป็นโรคเฝ้าระวังในประเทศไทย เพราะมีอัตราการป่วยและการแพร่ระบาดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกและมีแอ่งน้ำท่วมขังในเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ซึ่งกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยได้มากคือ 5‒14 ปี และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น
อาการของไข้เลือดออก
อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย แต่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่า คือ มีไข้สูงมาก ปวดหัวมาก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดงหรือจ้ำเลือดใต้ผิวหนังทั่วตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา เช่น คนที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีเลือดออกตามเนื้อเยื่อในร่างกาย
สาเหตุของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายเพศเมียที่เป็นพาหะของโรค ดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ จากนั้นไวรัสเดงกี่จะเติบโตภายในท้องของยุงลาย เมื่อยุงลายกัดคนอื่นต่อไป เชื้อไวรัสนี้ก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกกัดไปด้วย
การวินิจฉัยไข้เลือดออก
ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดหัว หรือมีผื่นแดงหรือห้อเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิต สังเกตลักษณะอาการที่แสดง ซักประวัติผู้ป่วยเพื่อดูความเสี่ยงและโอกาสว่าผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือไม่ และอาจตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดร่วมด้วย
การรักษาไข้เลือดออก
การรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เป็นเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงมากและปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ คือ ยาพาราเซตามอลที่เป็นยาแก้ปวดและลดไข้
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยานาพรอกเซน (Naproxen) เพราะตัวยาจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด ทำให้เลือดออกผิดปกติและอาการแย่ลงได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนและอ่อนเพลียจากไข้ แพทย์จะให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย และรักษาตามอาการเพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกอาจรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะ Dengue Hemorrhagic Fever (DHF) ซึ่งทำให้มีไข้สูงขึ้น อาการปวดหัวรุนแรงขึ้น อาจมีภาวะเลือดออกตามเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน และ Dengue Shock Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่เสียเลือดมาก ความดันโลหิตต่ำ และนำไปสู่ภาวะช็อกที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การป้องกันไข้เลือดออก
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ คือวัคซีน CYD-TDV หรือ Dengvaxia โดยแนะนำให้ผู้ที่อายุระหว่าง 9‒45 ปีที่เคยเป็นไข้เลือดออกรับวัคซีนนี้ โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม ห่างกันครั้งละ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% จึงควรป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคด้วยการดูแลตัวเอง