กรดไหลย้อนเป็นอีกอาการหนึ่งที่ผู้หญิงกำลังตั้งท้องมักต้องเผชิญ โดยมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งแม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ว่าที่คุณแม่จึงควรศึกษาวิธีรับมือและบรรเทาอาการกรดไหลย้อน เพื่อช่วยให้รู้สึกสบายตัวและใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
กรดไหลย้อนขณะตั้งท้องเกิดจากอะไร
กรดไหลย้อนเป็นอาการแสบร้อนกลางอกที่เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลอดอาหารคลายตัวผิดปกติ หากเกิดภาวะนี้ในหญิงตั้งท้องมักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงและทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่อยู่ติดกับกระเพาะคลายตัวบ่อยกว่าปกติ ประกอบกับทารกในครรภ์เจริญเติบโตขึ้นจนมดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้นและเบียดกระเพาะอาหารให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น เมื่อรับประทานอาหารมาก ๆ หรือเอนตัวลงนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จไม่นาน น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจึงไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้รู้สึกเจ็บและแสบร้อนบริเวณหน้าอกตามมา
สัญญาณของโรคกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการเช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยอาการที่พบได้ มีดังนี้
- แสบร้อนบริเวณคอหรือหน้าอกส่วนบน
- เรอบ่อย เรอเปรี้ยว หรือรู้สึกขมคอหลังจากตื่นนอน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ระคายเคืองคอ หรือเสียงแหบ
ทั้งนี้ ภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด เพียงแต่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของตัวคุณแม่เอง และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปเองหลังจากคลอดบุตรแล้ว
วิธีรับมือภาวะกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวันตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. รับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ
ควรแบ่งมื้ออาหารให้ถี่ขึ้นและลดปริมาณการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง รวมทั้งเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
2. ไม่นอนหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ
ควรนั่ง ยืน หรือลุกเดินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้วค่อยเอนตัวนอน
3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร
ควรเปลี่ยนมาดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารเสร็จและในช่วงระหว่างมื้ออาหารแต่ละมื้อแทน
4. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน
เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว อาหารรสจัด อาหารไขมันสูง อาหารที่มีกรดเป็นส่วนประกอบ น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของมินท์
เพราะจะยิ่งส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนรุนแรงขึ้นได้
6. เคี้ยวหมากฝรั่งหลังรับประทานอาหาร
มีการศึกษาพบว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลและไม่ใช่รสมินท์จะช่วยเพิ่มน้ำลาย ซึ่งน้ำลายจะช่วยชะล้างกรดในกระเพาะอาหารซึ่งไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ ทว่ายังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัดในด้านนี้
7. รับประทานโยเกิร์ตหรือดื่มนมเมื่อเกิดอาการ
เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากกรดไหลย้อนได้
8. ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนระหว่างนอนหลับ
เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร ป้องกันกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร และควรนอนตะแคงซ้าย เพราะการนอนตะแคงขวาจะทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหาร
9. สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว
เพราะการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
10. ควบคุมน้ำหนัก
การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้
11.ใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
ซึ่งเป็นยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มีฤทธิ์ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยให้มีกรดเกินไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารน้อยลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาด้วย เพื่อความปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์
อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์
แม้โดยปกติกรดไหลย้อนจะไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่หากอาการของโรคเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก มีอาการกลืนลำบาก ไอ น้ำหนักลด หรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้หลอดอาหารเกิดความเสียหายรุนแรงได้