กรดไหลย้อนในทารกถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เนื่องจากเป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยในทารกช่วงแรกเกิดจนถึงช่วงอายุ 1–2 ขวบ โดยภาวะนี้นอกจากจะส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัวแล้ว หากรุนแรงยังอาจทำให้ลูกน้อยไม่ค่อยรับประทานอาหาร จนส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตได้
ด้วยความที่เด็กในช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงที่พูดสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ หรืออาจพูดได้เพียงบางคำเท่านั้น การรับรู้ถึงสัญญาณของภาวะกรดไหลย้อนจากลูกน้อยจึงอาจทำได้ยาก ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะกรดไหลย้อนในทารกและเด็ก ทั้งด้านสาเหตุ ลักษณะอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต และข้อควรปฏิบัติเมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อนมาฝากคุณพ่อคุณแม่กัน
กรดไหลย้อนในทารกเกิดจากอะไร
ปกติแล้ว หลอดอาหารส่วนที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดที่คอยเปิดและปิดอยู่ เพื่อช่วยไม่ให้กรดและอาหารในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นมา โดยภาวะกรดไหลย้อนจะเกิดขึ้นเมื่อหูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้กรดและอาหารที่รับประทานเข้าไปไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหารได้ ซึ่งในบางกรณีอาจไหลขึ้นมาจนถึงลำคอ ปาก และทางเดินหายใจได้
กรดไหลย้อนที่เกิดในทารกและเด็กมักมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการที่หูรูดของหลอดอาหารยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรืออาจจะเกิดจากการที่ระบบการทำงานของทางเดินอาหารยังทำงานได้ไม่ดี
นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างยังอาจยิ่งส่งผลให้เด็กเสี่ยงเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้มากขึ้น เช่น
- การอยู่ในท่านอนแทบตลอดเวลา
- การรับประทานอาหารชนิดเหลวเป็นหลัก
- การได้รับควันบุหรี่มือสอง
- การคลอดก่อนกำหนด
- โรคหรือภาวะผิดปกติทางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) หรือโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy)
กรดไหลย้อนในทารก สังเกตอย่างไรดี
เนื่องจากทารกและเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเต็มที่ การสังเกตอาการของภาวะกรดไหลย้อนจึงทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตสัญญาณของภาวะกรดในย้อนในทารกและเด็กได้จากอาการต่อไปนี้
- คายอาหารหรืออาเจียนบ่อย
- งอแงขณะรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร
- แอ่นหลังขณะรับประทานอาหารและหลังรับประทานอาหาร
- เรอปนอาเจียน
- หายใจมีเสียงหวีด
- น้ำหนักไม่เพิ่มหรือน้ำหนักลด
คุณพ่อคุณแม่จะรับมือกับกรดไหลย้อนในทารกอย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะกรดไหลย้อนในทารกมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 1–2 ปี แต่ในระหว่างนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยควบคุมอาการของลูกน้อยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ให้ลูกนั่งตัวตรงขณะป้อนอาหาร และเว้นช่วงเวลาก่อนให้เด็กเอนตัวนอนหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 30 นาที
- จับลูกเรอก่อนและหลังรับประทานอาหาร โดยการจัดท่าให้ลูกนั่งตัวตรงและลูบหลังลูกเบา ๆ
- ลองเพิ่มจำนวนมื้ออาหารของลูกน้อย แต่ให้ลดปริมาณของอาหารในแต่ละมื้อ
- หนุนส่วนหัวของที่นอนลูกขึ้นเล็กน้อย
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกอยู่ใกล้ควันบุหรี่
ทั้งนี้ แม้ส่วนใหญ่แล้วภาวะกรดไหลย้อนในทารกจะอาจหายไปเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากพบสัญญาณผิดปกติบางอย่าง เช่น ไม่ยอมรับประทานอาหารต่อเนื่อง น้ำหนักไม่เพิ่ม อาเจียนเป็นสีเหลืองหรือเขียว อาเจียนปนเลือดหรือมีสีดำคล้ำ อาเจียนพุ่งบ่อย ๆ น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ร้องไห้บ่อยผิดปกติ อุจจาระปนเลือด หายใจลำบาก ไอเรื้อรัง หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจากอายุครบ 1 ปี