การรักษากรดไหลย้อน กรดไหลย้อน (GERD)
การรักษาภาวะกรดไหลย้อนมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
โรคกรดไหลย้อนในกรณีทั่วไปสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอน ไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
การใช้ยา
กรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยยาควบคู่ไปด้วย โดยยาที่นำมาใช้รักษาในปัจจุบันแบ่งได้หลายกลุ่ม ดังนี้
- ยาลดกรด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้เอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากกรดในกระเพาะอาหาร โดยตัวอย่างยาก็เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide)
- ยาประเภทยับยั้งการหลั่งกรด เพื่อป้องกันการหลั่งกรดจากกระเพาะอาหารที่มากจนเกินไป โดยอาจใช้ยากลุ่มยับยั้งตัวรับฮิสทามีนชนิดที่ 2 อย่างยาแรนิทิดีน (Ranitidine) หรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ อย่างยาโอเมพราโซล (Omeprazole) ทั้งนี้ ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์เท่านั้น
- ยาเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งจะช่วยให้อาการจากกรดไหลย้อนดีขึ้นตามลำดับ
การผ่าตัด
หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อนที่มีอาการรุนแรง มีเลือดออกหรือมีแผลในหลอดอาหารจนกลืนอาหารได้ลำบาก ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยา หรือกลับมาเป็นกรดไหลย้อนซ้ำหลังหยุดใช้ยา แพทย์อาจต้องผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องหรือผ่านกล้องเพื่อช่วยซ่อมแซมหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง และป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาอีก
หรือในรายที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดลดความอ้วนร่วมด้วย