สาเหตุของกรดไหลย้อน กรดไหลย้อน (GERD)
โดยปกติ อาหารที่เรารับประทานเข้าไปจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร ร่างกายของเราจะมีกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหารที่สามารถเปิดและปิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำย่อยของกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาขึ้นมา
แต่เมื่อกล้ามเนื้อหูรูดเกิดอาการผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อหูรูดหย่อน เปิดบ่อยเกินไป หรือปิดไม่สนิท ก่อให้เกิดภาวะที่น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น จนสร้างความระคายเคืองต่อหลอดอาหาร ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีความบอบบาง ไม่มีเยื่อหุ้มป้องกันกรดต่าง ๆ เหมือนกระเพาะอาหาร เป็นเหตุให้เกิดกรดไหลย้อนได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ก็อาจมีโอกาสเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
น้ำหนักเกินหรือมีภาวะโรคอ้วน
คนที่มีปัญหาเรื่องน้ำเกินควรระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินไปจะทำให้เกิดความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้นและกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างอ่อนแอ
การรับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป หรืออาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน
การรับประทานอาหารในปริมาณมากหรือไขมันสูง จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้นและหลั่งกรดออกมาในปริมาณมาก เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร ปริมาณกรดที่มากกว่าปกติอาจทำให้เกิดการไหลย้อนกลับในหลอดอาหารได้
การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และช็อกโกแลต
พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหารส่วนปลายเกิดการหย่อนได้ อีกทั้งยังกระะตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น
การตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในผู้หญิงตั้งครรภ์ และความดันในช่องท้องที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ก็สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
โรคไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatus Hernia)
โรคไส้เลื่อนส่งผลให้เกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารบางส่วนเข้าไปในช่องอก ทำให้เกิดความดันในช่องท้องที่เพิ่มมากขึ้น
ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า (Gastroparesis)
ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารต้องใช้เวลานานขึ้นในการย่อยอาหาร ซึ่งหมายถึงการหลั่งกรดที่มากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการไหลย้อนของกรดได้
การรับประทานยา
ยาบางชนิดสามารถออกฤทธิ์ให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างให้คลายตัวมากขึ้น เช่น ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม (Calcium Channel Blocker) ที่ช่วยรักษาภาวะความดันเลือดสูง ยาไนเตรท (Nitrate) รักษาอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) หรือยาในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs)
ปัจจัยอื่น ๆ
โรคกรดไหลย้อนอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ อย่าง ความเครียด พันธุกรรม เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที หรือสวมเสื้อผ้ารัดแน่นมากเกินไปตรงช่วงท้อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยหลายคนอาจยังมีความสับสนระหว่างกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะอาหารเมื่อเกิดอาการขึ้น เนื่องจากอาการของโรคบางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกวิธี