เด็ก ๆ มักซุกซนจนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกหัก ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่และผู้ปกครองต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมรับมือกับอุบัติเหตุดังกล่าวได้อย่างถูกวิธีจะช่วยลดความกังวลและป้องกันผลกระทบร้ายแรงจากกระดูกหักที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
ทราบได้อย่างไรว่าลูกกระดูกหัก
เมื่อได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นกระดูกแตกหรือหัก การบอกความรู้สึกหรือระบุอาการผิดปกติของตนเองอาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะทารกที่ยังพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ที่เป็นกังวลอาจสังเกตอาการเบื้องต้นของเด็กที่แสดงถึงการมีกระดูกหักหลังจากเกิดอุบัติเหตุได้ดังต่อไปนี้
- รู้สึกเจ็บเมื่อมีคนจับหรือแตะโดน หากเป็นทารกหรือเด็กเล็กจะร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ
- มีอาการปวด บวมแดง เกิดรอยฟกช้ำ หรือห้อเลือด
- สีผิวบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกชาบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเส้นประสาทบริเวณใกล้กระดูกที่หักได้รับความเสียหาย
- เด็กไม่ยอมขยับส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ยอมเคลื่อนไหวหรือลงน้ำหนักบริเวณนั้นตามปกติ เช่น เดินไม่ได้ เหยียดข้อศอกให้ตรงลำบาก
- กระดูกบิดเบี้ยว ผิดรูปไปจากเดิม หรือโผล่ออกมาจากผิวหนัง
- มีเสียงดังกร๊อบแกร๊บของกระดูกขณะเกิดอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นเป็นเพียงสัญญาณที่พบได้บ่อย หากสงสัยว่าลูกกระดูกหักควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะยากที่จะสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือคาดเดาจากอาการ บางรายมีอาการเล็กน้อยหรือกระดูกบิดเบี้ยวไม่ถึงกับหัก แต่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายเมื่อเด็กโตขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี พ่อแม่จึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะหลังเกิดอุบัติเหตุ
กระดูกหักมีกี่ชนิด
กระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นและรองรับแรงกระแทกได้มากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่ แต่ยังเป็นกระดูกอ่อนเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เปราะบางและหักได้ง่าย โดยทั่วไปแล้ว กระดูกหักในเด็กแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
- กระดูกเดาะ คือภาวะกระดูกหักเฉพาะด้านที่ถูกแรงปะทะเพียงด้านเดียว และอีกด้านโก่งออกไปตามแรงกด ลักษณะเหมือนกิ่งไม้สดที่โดนหัก
- กระดูกหักแบบยู่หรือย่นด้วยแรงอัด คือภาวะที่กระดูกได้รับแรงอัดจนย่นเข้าหากัน แต่ไม่เคลื่อนที่ออกจากกัน
- กระดูกโก่งงอโดยไม่มีรอยหัก คือ ภาวะที่กระดูกที่โก่งงอผิดรูปไปจากเดิมโดยไม่มีรอยหักหรือแตก มักพบในวัยรุ่นมากกว่าเด็กเล็ก
- กระดูกหักบริเวณส่วนปลาย คือภาวะกระดูกหักออกจากกันเป็น 2 ท่อนที่แผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนบริเวณส่วนปลายหรือหัวของกระดูกทั้ง 2 ข้าง ที่ยังเจริญเติบโตได้ตามวัยของเด็ก หากกระดูกส่วนนี้แตกหักและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจส่งผลให้กระดูกส่วนนั้นเจริญเติบโตช้ากว่ากระดูกส่วนอื่นในร่างกาย
นอกจากนี้ กระดูกหักแบ่งประเภทได้อีกหลายแบบ เช่น
-
แบ่งตามการเกิดบาดแผล
- กระดูกหักขนิดไม่มีแผล คือภาวะที่กระดูกหัก แต่ผิวหนังภายนอกไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ
- กระดูกหักแบบมีแผล คือกระดูกที่หักจนแทงทะลุผิวหนังออกมา หรือมีแผลเชื่อมต่อกับบริเวณที่กระดูกหัก
-
แบ่งตามรอยหักของกระดูก
- กระดูกหักหรือร้าว แต่ไม่เคลื่อนที่หรือแยกจากกันเป็น 2 ท่อน
- กระดูกที่หักและเคลื่อนไปจากที่เดิม
ลูกน้อยกระดูกหัก พ่อแม่ควรทำอย่างไร
เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดว่าลูกอาจกระดูกหักควรนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาทันที ในระหว่างที่รอ พ่อแม่ควรให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ พยายามอย่าเคลื่อนไหวมาก และปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งและประคบบริเวณที่คาดว่าเกิดกระดูกหัก รวมทั้งยกอวัยวะส่วนนั้นให้สูง เพื่อลดอาการปวดและบวม ยกเว้นกรณีที่เป็นเด็กทารก ไม่ควรประคบน้ำแข็ง เพราะความเย็นจากน้ำแข็งอาจทำลายผิวหนังของเด็ก
- หากจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าออก ควรใช้กรรไกรตัดหรือฉีกผ้าส่วนนั้นออก ไม่ควรถอดออกด้วยวิธีปกติ เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกปวดมากขึ้น
- หากเด็กกระดูกหักบริเวณแขนหรือขาควรดามด้วยวัสดุที่แข็งแรง เช่น ไม้ กระดาษหรือหนังสือพิมพ์ม้วน โดยกะให้อุปกรณ์ที่ใช้ดามมีความยาวเกินบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยและใช้ผ้าพันโดยรอบไม่ให้แน่นจนเกินไป เพื่อลดการเคลื่อนไหวและบรรเทาอาการปวด
- ไม่ควรเคลื่อนย้ายเด็กที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ คอ และหลัง หรือกระดูกหักจนทะลุออกมาจากผิวหนังเองโดยพลการ ควรรอรถพยาบาลมารับ หากมีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือด ไม่ควรพยายามจับกระดูกให้เข้าที่หรือล้างทำความสะอาดบาดแผล เพราะอาจเป็นอันตรายมากขึ้น
- งดการให้รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือยาทุกชนิดจนกว่าจะพบแพทย์ เพราะเด็กบางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
เด็กกระดูกหักรักษาอย่างไร ฟื้นตัวนานไหม
การรักษากระดูกหักในเด็กทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะของกระดูกที่หัก ความรุนแรง และอายุของเด็ก เมื่อส่งถึงมือแพทย์เรียบร้อย แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น สาเหตุที่ทำให้กระดูกหัก อาการผิดปกติ ประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ รวมทั้งตรวจดูการเคลื่อนไหวในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและตามข้อต่อ ก่อนจะส่งตัวไปเอกซ์เรย์ เพื่อวินิจฉัยอาการบาดเจ็บอย่างละเอียดและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษากระดูกหักทำได้โดยการใช้อุปกรณ์พยุงชั่วคราว การใส่เฝือก และการผ่าตัด โดยทั่วไปหากกระดูกหักไม่รุนแรงมักได้รับการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์พยุงชั่วคราวหรือใส่เฝือก เพื่อป้องกันกระดูกขยับ ช่วยให้อาการปวดและบวมลดลงได้ หากกระดูกหักจนผิดไปจากตำแหน่งเดิมจะต้องได้รับการจัดกระดูกให้เข้าที่ก่อนใส่เฝือก บางรายที่กระดูกหักรุนแรงอาจต้องผ่าตัดใส่โลหะเพื่อยึดกระดูกที่หักไว้ด้วยกัน แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกจะเป็นผู้แนะนำว่าควรใช้อุปกรณ์ป้องกันการเคลื่อนที่ของกระดูกแบบใดจึงจะเหมาะสมกับเด็กมากที่สุด
เด็กที่กระดูกหักแบบไม่รุนแรงอาจกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังการรักษา แต่ในรายที่อาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัดจะต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการฟื้นตัวของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและบริเวณที่เกิดกระดูกหัก เด็กที่กระดูกหักจากแรงอัดธรรมดามักใช้เวลารักษาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และหายสนิทภายใน 1 เดือน เพราะกระดูกของเด็กซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อเกิดความเสียหายและสมานตัวได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ส่วนเด็กบางคนที่กระดูกร้าวหรืออยู่ผิดตำแหน่งเพียงเล็กน้อยก็รักษาให้กลับเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน
ระหว่างการพักฟื้นในช่วง 2-3 วันแรก เด็กอาจรู้สึกอึดอัดและมีอาการบวมบริเวณที่กระดูกหัก พ่อแม่ควรให้เด็กพักผ่อนมาก ๆ พยายามยกบริเวณดังกล่าวให้สูงหรือหาหมอนมารอง และจำกัดการเคลื่อนไหวของอวัยวะที่หักให้น้อยที่สุด เช่น ใส่สายพยุงแขนที่หักระหว่างเดิน หรือใช้ไม้เท้าพยุงขาข้างที่หักขณะเดิน เป็นต้น แพทย์จะติดตามผลการรักษาเป็นระยะหลังจากเด็กกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และเอกซ์เรย์บริเวณที่กระดูกหักอีกครั้ง เพื่อดูให้แน่ใจว่ากระดูกเชื่อมต่อกันเป็นปกติ หากพ่อแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติใด ๆ ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลทันที