กระเจี๊ยบ หรือ กระเจี๊ยบแดง เป็นไม้พุ่มที่มีดอกสีแดง คนนิยมนำมาบริโภคในรูปแบบเครื่องดื่ม อาหาร กระทั่งเป็นยารักษาโรค โดยเชื่อว่าอาจมีสรรพคุณในด้านต่าง ๆ เพราะดอกและผลของกระเจี๊ยบอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดผลไม้ และสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล ซึ่งอาจมีประสิทธิผลทางการรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ลดระดับความดันโลหิต รักษาความผิดปกติเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต รักษาโรคหัวใจและระบบประสาท
อย่างไรก็ตาม บางความเชื่อก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอยืนยันสรรพคุณของกระเจี๊ยบในด้านเหล่านั้นได้ จึงควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่ชัดเจนต่อไป ดังเช่นแง่มุมต่อไปนี้
ลดระดับความดันโลหิต
ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นภาวะความดันภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาได้ จากความเชื่อเกี่ยวกับสรรพคุณของกระเจี๊ยบ เป็นที่มาของการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานว่ากระเจี๊ยบอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ ผลการวิจัยหนึ่งพบว่า การดื่มชากระเจี๊ยบอาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเล็กน้อย ในขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า การบริโภคสารสกัดจากกระเจี๊ยบอาจมีประสิทธิภาพคล้ายยาลดความดันแคปโตพริล ซึ่งอาจใช้ลดความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับกลางได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการทดลองที่ชัดเจนเพียงพอยืนยันคุณสมบัติของกระเจี๊ยบในด้านนี้ จึงควรมีการค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยน์สูงสุดในการรักษาความดันโลหิตสูงต่อไปในอนาคต
ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด
ภาวะคอเลสเตอรอลสูงอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร รวมถึงการใช้ยาเพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด กระเจี๊ยบเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีสารอาหารหลากหลาย จึงมีความเชื่อว่ากระเจี๊ยบอาจช่วยแก้ปัญหาคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้เช่นกัน โดยมีการทดลองที่สนับสนุนว่า การบริโภคสารสกัดจากกระเจี๊ยบหรือการดื่มชากระเจี๊ยบอาจช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการเมตาบอลิกหรือกลุ่มอาการอ้วนลงพุง และกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน
แต่ในทางตรงกันข้าม งานทดลองที่ให้ผู้ป่วยภาวะคอเลสเตอรอลสูงบริโภคสารสกัดจากใบกระเจี๊ยบเป็นเวลา 3 เดือน กลับไม่พบประสิทธิผลในการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งยังอาจเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลให้สูงขึ้นได้ด้วย
กล่าวคือ สรรพคุณของกระเจี๊ยบในด้านการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดยังคงคลุมเครือ ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานกระเจี๊ยบเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลจนกว่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ต้านมะเร็ง
มะเร็งหรือภาวะเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก จึงมีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับการใช้พืชสมุนไพรเพื่อรักษาและป้องกันมะเร็ง กระเจี๊ยบก็เป็นหนึ่งในความเชื่อเหล่านั้น เนื่องจากมีสารอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต้านมะเร็งได้ แต่ปัจจุบันมีเพียงการทดลองประสิทธิผลในการต้านมะเร็งของกระเจี๊ยบกับตัวอย่างเซลล์มนุษย์ แม้ผลการทดลองจะแสดงถึงประสิทธิภาพของสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบ หรือสารสกัดแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในกระเจี๊ยบว่าอาจช่วยต้านเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ เช่น เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร เซลล์มะเร็งปากมดลูก และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดยืนยันการใช้กระเจี๊ยบเพื่อรักษาและป้องกันโรคมะเร็งในคนได้ และควรมีการค้นคว้าทดลองเพื่อหาผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไปในอนาคต
ต้านการอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงอย่างหนักทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น และอาจเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อเมื่อยล้าได้ กระเจี๊ยบมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์และโพลีฟีนอล ซึ่งเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ อาจช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อโรคหัวใจ และอาจป้องกันการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายได้ด้วย จึงมีการทดลองประสิทธิภาพของกระเจี๊ยบในกลุ่มผู้ที่ใช้แรงและออกกำลังกายอย่างหนัก คือ นักฟุตบอลชาย จากการค้นคว้าพบว่า สารสกัดจากชากระเจี๊ยบอาจช่วยลดสารเคมีที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ลงได้ แต่กลับไม่มีประสิทธิผลทางการรักษาหรือป้องกันกล้ามเนื้อถูกทำลายจากการออกกำลังกายได้แต่อย่างใด จึงควรศึกษาค้นคว้าให้ชัดเจนในด้านนี้ต่อไป เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้กระเจี๊ยบเป็นเครื่องดื่มและอาหารบำรุงสุขภาพได้ในอนาคต
ใช้ประโยชน์ใน MRI Scan
MRI Scan เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กในการถ่ายภาพเนื้อเยื่อ อวัยวะ และโครงสร้างอื่น ๆ ภายในร่างกาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลในการรักษา ในบางกรณี แพทย์อาจต้องฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ภาพมีความชัดเจนขึ้น โดยสารเหล่านั้นจะทำให้การแสดงภาพมีความละเอียดชัดเจนและแพทย์จะสามารถวินิจฉัยอาการได้แม่นยำขึ้น มีงานวิจัยหนึ่งนำชาดอกกระเจี๊ยบมาทดลองประกอบการฉายภาพ MRI Scan พบว่าชาดอกกระเจี๊ยบเป็นสารที่ช่วยให้แสดงผลภาพบริเวณตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อนได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น หากศึกษาคุณสมบัติของกระเจี๊ยบและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นให้ชัดเจนรอบด้านแล้ว ชาดอกกระเจี๊ยบอาจมีประโยชน์ต่อกระบวนการวินิจฉัย และอาจปรับประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไปในอนาคตได้
ความปลอดภัยในการบริโภคกระเจี๊ยบ
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอจะระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคกระเจี๊ยบ ดังนั้น ผู้บริโภคควรรับประทานกระเจี๊ยบในปริมาณพอดี โดยคำนึงถึงปัจจัยทางสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น อายุ สุขภาพ โรคประจำตัว และการเจ็บป่วย
แม้โดยทั่วไป การบริโภคกระเจี๊ยบในรูปแบบอาหารหรือยาในปริมาณพอดีจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคกระเจี๊ยบ และเคยมีรายงานการพบผลข้างเคียงจากการบริโภคกระเจี๊ยบ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับตับ และระบบย่อยอาหาร ดังนั้น คนทั่วไปควรบริโภคกระเจี๊ยบในปริมาณที่พอดีด้วยวิธีที่เหมาะสม และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนการบริโภค
ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- ผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร หลีกเลี่ยงการบริโภคกระเจี๊ยบ เพราะอาจเป็นเหตุให้แท้งลูกได้ และไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอในการบริโภคกระเจี๊ยบระหว่างที่กำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ กระเจี๊ยบอาจลดระดับความดันโลหิตให้ต่ำลงมากเกินไปและเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพในผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน กระเจี๊ยบอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลง ผู้ป่วยจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และปรึกษาแพทย์ เพราะอาจต้องปรับยารักษาโรคเบาหวานด้วย
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหยุดบริโภคกระเจี๊ยบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด เนื่องจากกระเจี๊ยบอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดลง ซึ่งอาจกระทบต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดทั้งระหว่างและหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหยุดบริโภคกระเจี๊ยบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด