กระเทียม เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวลักษณะเป็นทรงกระเปาะอยู่ใต้ดินเช่นเดียวกับหัวหอม ซึ่งแต่ละหัวจะประกอบด้วย 6-10 กลีบ นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงประกอบอาหาร กระเทียมเป็นพืชที่ค่อนข้างแตกต่างจากพืชทั่วไป เพราะอุดมไปด้วยกำมะถันหรือซัลเฟอร์ในปริมาณมาก นอกจากนี้กระเทียมประกอบไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาร์จีนีน (Arginine) โอลิโกแซ็คคาไรด์ (Oligosaccharides) ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) และซีลีเนียม (Selenium) ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
หลายคนอาจจดจำกระเทียมได้จากกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสารอัลลิซิน (Allicin) นอกจากจะทำให้กระเทียมมีกลิ่นที่โดดเด่นแล้ว อัลลิซินยังเป็นสารออกฤทธิ์หลักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และอาจมีส่วนช่วยรักษาโรคหรือทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น โดยที่หลายคนเชื่อว่าการรับประทานกระเทียมอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล บรรเทาหวัด รวมถึงใช้น้ำมันกระเทียมเป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนัง เล็บ หรือช่วยรักษาอาการผมร่วงอีกด้วย
ทั้งนี้ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานกระเทียมที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้
ความดันโลหิตสูง อัลลิซินซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่พบได้ในกระเทียมสดหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาการที่มีส่วนประกอบของกระเทียม อาจมีส่วนช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบที่เรียงตัวในหลอดเลือดและส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูงโดยที่มีค่าความดันซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure: SBP) มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิตรปรอท รับประทานกระเทียมบ่มสกัด (Aged Garlic Extract: AGE) ขนาด 960 มิลลิกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าค่าความดันซิสโตลิกลดต่ำลงมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานกระเทียมบ่มสกัดอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ดีกว่ายาหลอก
ถึงแม้ว่าจะมีการทดลองอีก 2 ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระเทียมในการลดระดับความดันโลหิตได้ดีกว่าการใช้ยาหลอก แต่เนื่องจากผลการทดลองอาจยังไม่แม่นยำเพียงพอที่จะสรุปประสิทธิภาพของกระเทียมได้ว่าสามารถรักษาหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
มะเร็ง ความสัมพันธ์ของการบริโภคกระเทียมและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งยังไม่แน่ชัดและยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ซึ่งจะเห็นได้จากการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ชาวจีนทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวนกว่า 5,000 คน รับประทานสารอัลลิทริดินขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับสารซีลีเนียมขนาด 100 ไมโครกรัมวันเว้นวัน ซึ่งล้วนเป็นสารสกัดที่ได้จากกระเทียม โดยทำการทดลองเป็นเวลา 5 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอกแล้วพบว่ากลุ่มที่รับประทานสารอัลลิทริดินร่วมกับสารซีลีเนียมมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารลดลงถึง 52 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยอีก 19 ชิ้นแสดงให้เห็นว่า ยังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ที่จะช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ของการบริโภคกระเทียมต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งทรวงอก มะเร็งปอด หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมีหลักฐานที่ค่อนข้างจำกัดที่สนับสนุนว่าการบริโภคกระเทียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งในช่องปาก หรือมะเร็งรังไข่
ทั้งนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) ได้กล่าวว่ากระเทียมเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระเทียม หรือปริมาณความเข้มข้นที่หลากหลาย อาจทำให้พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพของกระเทียมได้ยาก และเมื่อเวลาผ่านไปหรือเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของกระเทียมเสื่อมสลายไปได้เช่นกัน
แก้หวัด หลายคนเชื่อว่ากระเทียมมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อไวรัส และมีการนำมาใช้เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการหวัดมาอย่างยาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้อาสาสมัครจำนวน 146 คน รับประทานสารสกัดจากกระเทียมชนิดเม็ดซึ่งประกอบไปด้วยสารอัลลิซินขนาด 180 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แล้วให้อาสาสมัครจดบันทึกอาการเมื่อเป็นหวัด พบว่าในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากกระเทียมมีรายงานการเป็นหวัดจำนวน 24 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอกที่มีรายงานการเป็นหวัดจำนวน 65 ครั้ง อีกทั้งยังพบว่าระยะเวลาของการเป็นหวัดในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากกระเทียมมีจำนวนวันที่น้อยกว่า แต่ระยะเวลาการฟื้นตัวจากอาการหวัดของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าผลการทดลองข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระเทียม แต่หลักฐานการทดลองทางคลินิกยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลดน้ำหนักและมวลไขมัน ในผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับ ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่มักมีสาเหตุมาจากโรคอ้วน โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งการรักษาด้วยการรับประทานยา การผ่าตัด หรือลดน้ำหนักอาจไม่เพียงพอ หากไม่ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย การรับประทานกระเทียมจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะกระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยกำมะถันหรือซัลเฟอร์และสารอาหารอื่น ๆ ที่อาจมีคุณสมบัติป้องกันภาวะอ้วน ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุตั้งแต่ 20-70 ปี จำนวนทั้งสิ้น 110 คน รับประทานกระเทียมผงชนิดแคปซูลขนาด 400 มิลลิกรัม ซึ่งภายในประกอบไปด้วยสารอัลซิลินขนาด 1.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 15 สัปดาห์ โดยสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่รับประทานกระเทียมได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 กลีบ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักและมวลร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานกระเทียมอาจช่วยลดปริมาณไขมันในตับและป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามการศึกษาในอนาคตยังจำเป็นต้องออกแบบการทดลองให้ดีขึ้นและควรเพิ่มระยะเวลาในการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลดระดับคอเลสเตอรอล หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระเทียมต่อการลดระดับคอเลสเตอรอลยังคงขัดแย้ง จึงทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองและการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 29 ชิ้น ได้แสดงให้เห็นว่า การรับประทานกระเทียมอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมได้เล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) เพิ่มสูงขึ้น หรือไม่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจลดลงแต่อย่างใด จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปและยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมต่อระดับคอเลสเตอรอลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ความปลอดภัยในการรับประทานกระเทียม
การรับประทานกระเทียมค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากเหม็น มีกลิ่นตัว รู้สึกแสบร้อนที่บริเวณปากหรือที่กระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย อาการเหล่านี้อาจทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อรับประทานกระเทียมสด อีกทั้งการใช้กระเทียมสดทาหรือสัมผัสที่บริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและระคายเคืองได้
ข้อควรระวังในการรับประทานกระเทียมโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร การรับประทานกระเทียมในช่วงการตั้งครรภ์ค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานเป็นอาหารหรือในปริมาณที่เหมาะสม แต่อาจไม่ปลอดภัยหากรับประทานกระเทียมเป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังไม่มีช้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการทากระเทียมที่บริเวณผิวหนังในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- เด็ก การรับประทานกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสมและในระยะสั้น ๆ อาจปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่การใช้กระเทียมทาบริเวณผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและระคายเคือง
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารหรือการย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ทางเดินอาหารได้
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ การรับประทานกระเทียมอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมากกว่าปกติ
- ผู้ที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานกระเทียมก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพราะอาจทำให้เลือดออกมากและส่งผลต่อความดันโลหิตในระหว่างการผ่าตัด และผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติไม่ควรรับประทานกระเทียม โดยเฉพาะกระเทียมสด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
-
ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาโรค เช่น ไอโซไนอะซิด เพราะกระเทียมอาจลดการดูดซึมของยาในร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของยา รวมถึงไม่ควรรับประทานกระเทียมในระหว่างใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์
- ยาคุมกำเนิด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ยาต้านเกล็ดเลือด