กระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์ การรักษาและป้องกัน

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่สตรีมีครรภ์ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากจะเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้ในช่วงอายุครรภ์ 6-24 สัปดาห์ หากตั้งครรภ์ทารกแฝดก็ยิ่งมีโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้มากกว่าการตั้งครรภ์ทารกคนเดียว สตรีมีครรภ์จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองและเข้ารับการตรวจกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

Cystitis in Pregnancy

กระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

สตรีมีครรภ์เสี่ยงเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้สูง เนื่องจากระดับฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมามากขึ้น ทำให้มัดกล้ามเนื้อของท่อไตคลายตัว ประกอบกับขนาดมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนบีบท่อไต ส่งผลให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานได้ช้าลง

นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์มักมีกระเพาะปัสสาวะหย่อน จึงปัสสาวะไม่ค่อยสุดและอาจมีน้ำปัสสาวะไหลย้อนเข้าท่อไตและไตได้ ส่งผลให้เชื้อโรคและแบคทีเรียค้างอยู่บริเวณกระเพาะปัสสาวะและเข้าสู่ไต ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะไตติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งน้ำปัสสาวะในช่วงตั้งครรภ์มีความเป็นกรดน้อยและอุดมไปด้วยกลูโคส ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบตามมาได้ง่าย

กระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์ร้ายแรงอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว สตรีมีครรภ์อาจสังเกตอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ยาก เนื่องจากอาการบางอย่างของโรคนี้ไม่ต่างจากอาการที่คนท้องทั่วไปเป็นกัน เช่น รู้สึกหน่วงบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่กระเพาะปัสสาวะอักเสบบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอก ทำให้ไม่รู้ตัวและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพครรภ์ได้ โดยในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดการติดเชื้อที่ไตหรือมีภาวะกรวยไตอักเสบ ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดหรือทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด

รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์ได้อย่างไร

สตรีมีครรภ์ควรเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อันรวมไปถึงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะและนำไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หากพบว่ามีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยและทารกในครรภ์   

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง และไปพบแพทย์ทันทีหากยังรู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะหรือมีอาการอื่น ๆ ได้แก่ ไข้ขึ้น ปวดท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น หรือมดลูกบีบตัว เมื่อได้รับยาจนครบระยะการรักษาแล้ว แพทย์จะนัดตรวจอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งอาจให้ยาซ้ำในกรณีที่ยังมีการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะอยู่

กระเพาะปัสสาวะอักเสบในสตรีมีครรภ์ป้องกันได้อย่างไร

สตรีมีครรภ์ป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ เพียงเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงด้วยการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ดังนี้

การปรับพฤติกรรมการกิน

  • ดื่มน้ำเปล่าวันละ 6-8 แก้ว หรือหมั่นจิบน้ำตลอดวัน
  • เลี่ยงบริโภคอาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนหรือปรุงแต่งด้วยน้ำตาล
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เบต้าแคโรทีน และสังกะสี เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • ห้ามกลั้นปัสสาวะ และพยายามปัสสาวะให้สุด
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งเมื่อปัสสาวะเสร็จ
  • หลังถ่ายหนักควรเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระเข้าสู่ท่อไต
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีค่าความเป็นกรดหรือด่างสูง รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น และไม่ใช้แป้งทาบริเวณอวัยวะเพศ
  • เปลี่ยนกางเกงในทุกวัน และควรเลือกใช้กางเกงในที่ทำจากผ้าฝ้าย
  • ไม่สวมกางเกงหรือกระโปรงที่รัดแน่น
  • ไม่แช่น้ำในอ่างอาบน้ำนานเกิน 30 นาที หรือมากกว่าวันละ 2 ครั้ง