รอยแดงจากสิวมักเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง โดยอาจเกิดตั้งแต่ช่วงที่สิวขึ้นต่อเนื่องไปจนสิวหาย และอาจค่อย ๆ ฟื้นฟูหลังจากนั้น แต่การรับมือกับรอยแดงจากสิวอย่างผิดวิธีอาจทำให้ผิวอักเสบและรอยแดงดูชัดเจนมากขึ้นได้
รอยแดงจากการอักเสบของสิวเป็นปัญหากวนใจคนที่เป็นสิวอยู่ไม่น้อย เมื่อเป็นติดต่อกันนานหรือรอยแดงนั้นเห็นได้ชัดเจนก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจในตนเองอีกได้ด้วย การทำความเข้าใจถึงกลไกของรอยแดงจากสิวและการดูแลผิวอย่างเหมาะสม อาจช่วยให้รอยแดงดูจางลงได้เร็วขึ้น
รอยแดงจากสิวเกิดจากอะไร
สิวและอาการอักเสบมักจะมาคู่กัน โดยในช่วงแรกสิวมักเกิดจากการอุดตันของไขมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว ฝุ่นผงสิ่งสกปรก และเชื้อโรคที่อาศัยบนผิวหนัง ซึ่งสิ่งที่อุดตันในรูขุมขนเหล่านี้จะกระตุ้นให้รูขุมขนและผิวหนังบริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบขึ้น
ร่างกายจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตัวเองด้วยการเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังผิวหนังที่อักเสบ เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่งผลให้ผิวบริเวณดังกล่าวดูแดงหรือเกิดรอยแดงขึ้น การอักเสบจึงเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการการฟื้นฟูเนื้อเยื่อผิวที่เสียหาย
เมื่อผ่านช่วงของการซ่อมแซมเนื้อเยื่อแล้วก็จะเข้าสู่การสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังใหม่ แต่บางครั้งรอยแดงจากสิวจะหายช้าลงได้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างที่กระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูผิว เช่น ปัญหาผิวที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ หรือการดูแลผิวที่ไม่เหมาะสม
4 เคล็ดลับลดรอยแดงจากสิวให้จางลง
วิธีต่อไปนี้อาจช่วยเร่งระยะเวลาในการฟื้นฟูผิวจากการอักเสบและรอยแดงจากสิวได้
1. ไม่กด แกะ เกาสิว
เป็นเรื่องยากที่จะห้ามใจไม่ให้กดสิว แกะสิว หรือเกาบริเวณที่เป็นสิว แต่การแกะเกาสิวจะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อผิวหนังและรูขุมขนอักเสบมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็น โดยเฉพาะการแกะเกาสิวโดยไม่ได้ล้างมือ เพราะอาจทำให้สิวเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคที่อยู่ตามซอกเล็บและนิ้วมือ ส่งผลให้รอยแดงจากสิวหายช้า นอกจากนี้ คนเป็นสิวควรหลีกเลี่ยงการสครับหรือขัดผิวด้วยวิธีต่าง ๆ เพราะจะกระตุ้นให้ผิวอักเสบมากขึ้น
2. รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การไปพบแพทย์ผิวหนังเป็นอีกวิธีที่ปลอดภัยและอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยตนเอง โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสิวเรื้อรังและรอยแดงจากสิว เพราะแพทย์จะช่วยหาสาเหตุของสิว พร้อมทั้งแนะนำวิธีดูแลผิวเป็นสิวอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสาเหตุ ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดสิว เร่งให้ผิวฟื้นฟูได้เร็ว และลดรอยแดงจากการอักเสบ
3. เลือกสกินแคร์ให้เหมาะสม
สกินแคร์หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะกับสภาพผิวอาจช่วยเร่งการฟื้นตัวของผิวและลดความเสี่ยงของปัญหาสิว โดยหลัก ๆ แล้วคนเป็นสิวควรเลือกใช้สกินแคร์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบและระคายเคือง และเลือกสกินแคร์ที่มีสารช่วยต้านการอักเสบและสารที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูผิว
โดยสกินแคร์ 3 ประเภทที่คนเป็นสิวควรใส่ใจ เช่น
- โฟมล้างหน้าหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว เพื่อเลี่ยงปัญหาผิวแห้ง อ่อนแอ และระคายเคือง ซึ่งเสี่ยงต่อการเห่อของสิว
- ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีสารออกฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ เช่น วิตามินซีที่ลดการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และเร่งการสมานแผล หรือไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) หรือวิตามินบี 3 ที่ช่วยลดการอักเสบ ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น และอาจลดการเห่อของสิวหนอง (Cystic Acne)
- สารกันแดดหรือครีมกันแดดเป็นอีกสิ่งที่คนเป็นสิวไม่ควรละเลย และใช้เป็นประจำทุกวันก่อนออกแดด โดยเฉพาะคนที่อยู่ระหว่างการใช้ยารักษาสิว เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ผิวบางและไวต่อแดดชั่วคราวได้
นอกจากนี้ ยังมีสกินแคร์และสารบำรุงผิวอีกหลายชนิดที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคนที่เป็นสิวและกำลังเผชิญรอยแดงจากสิว แต่สิ่งที่สำคัญคือการหาว่าผลิตภัณฑ์หรือสารชนิดไหนว่าถูกกับผิว ไม่ทำให้แพ้หรือระคายเคือง ก่อนใช้สกินแคร์ทุกชนิดจึงควรทดสอบอาการแพ้และระคายเคืองโดยการทาสกินแคร์บริเวณท้องแขนก่อนเสมอ และหากไม่มีความรู้ในการเลือกสกินแคร์สามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์ผิวหนัง
4. เลเซอร์ผิวเพื่อลดรอยแดง
การเลเซอร์ผิวเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่อาจลดช่วยลดรอยแดงจากสิวได้ โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือยิงเลเซอร์เข้าสู่ชั้นผิวเพื่อลดการอักเสบที่เป็นสาเหตุของรอยแดงจากสิว แต่จำเป็นต้องการเข้ารับการยิงเลเซอร์อย่างต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งได้รวบรวมผลลัพธ์จากการใช้เลเซอร์ชนิดต่าง ๆ ผลพบว่าการยิงเลเซอร์แบบ IPL (Intense Pulsed Light) และแบบ PDT (Photodynamic Therapy) สามารถลดรอยแดงจากปัญหาผิวได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับการยิงเลเซอร์ควรปรึกษาแพทย์เสมอเพื่อความปลอดภัย
การรักษาสิวและรอยแดงจากสิวอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ หลายเดือนไปถึงหลายปี คนที่อยู่ระหว่างการรักษาสิวควรใจเย็นและทำตามคำแนะนำของแพทย์ ร่วมกับการดูแลผิวอย่างเหมาะสม เพื่อเร่งลดระยะเวลาในการรักษาสิวและรอยแดงจากสิว หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์