กล้ามเนื้อกระตุก

ความหมาย กล้ามเนื้อกระตุก

กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle Twitching) เป็นอาการที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อทันทีทันใดและกล้ามเนื้อคลายตัวสลับกันโดยควบคุมไม่ได้ ตัวอย่างของกล้ามเนื้อกระตุกที่พบได้บ่อย เช่น การสะดุ้งตื่นในขณะหลับ กล้ามเนื้อกระตุกหลังการออกกำลังกายหรือเมื่อเกิดความเครียด

กล้ามเนื้อกระตุก

อาการกล้ามเนื้อกระตุก

ผู้ป่วยจะเกิดอาการกระตุก สั่น เกร็งของเส้นใยกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อมัดเดี่ยวขนาดเล็กทันทีทันใด ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นทีละจุด แต่ในบางครั้งอาจเกิดได้พร้อมกันทั่วร่างกาย หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากก็อาจกระทบต่อการรับประทานอาหาร การพูด หรือการเดิน

โดยทั่วไปกล้ามเนื้อกระตุกจะเกิดชั่วคราวและค่อย ๆ หายได้เองภายในไม่กี่วัน แต่ในกรณีที่มีอาการถี่มากขึ้น เป็นต่อเนื่อง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยในบริเวณที่เกิดการกระตุก เช่น รู้สึกเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อดูฝ่อลง ควรไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น

สาเหตุของอาการกล้ามเนื้อกระตุก

อาการกล้ามเนื้อกระตุกทั่วไปมักไม่เป็นอันตรายและมีสาเหตุมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น

  • กล้ามเนื้อกระตุกหลังการออกกำลังกาย เนื่องมาจากกรดแลกติก (Lactic Acid) ซึ่งเป็นของเสียในกระบวนการเผาผลาญพลังงานถูกเก็บสะสมมากขึ้นในขณะการออกกำลัง ทำให้เกิดการกระตุกได้บ่อยในบริเวณแขน ขา และหลัง
  • การกระตุกของกล้ามเนื้อจากความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท (Nervous Ticks) สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย
  • การได้รับคาเฟอีนและสารกระตุ้นอื่น ๆ มากเกิน ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย
  • การขาดสารอาหารและวิตามิน เช่น วิตามินดี วิตามินบี หรือแคลเซียม ส่วนใหญ่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา น่อง และมือกระตุก
  • ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหดตัวและกระตุก มักเกิดกับกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ เช่น ขา แขน หรือลำตัว
  • สารนิโคตินที่พบในบุหรี่และสารเสพติดประเภทอื่น ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อขากระตุกได้ง่าย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาเม็ดฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ง่ายในบริเวณมือ แขน หรือขา จึงควรแจ้งแพทย์ เพื่อขอให้เปลี่ยนยาชนิดใหม่หรือลดปริมาณความเข้มข้นของยาลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่เกิดการกระตุกอยู่เป็นประจำอาจเป็นผลมาจากโรคหรือปัญหาความผิดปกติทางด้านระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อมหรือโรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Muscular Dystrophy) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis/Lou Gehrig’s Disease: ALS) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง SMA (Spinal Muscular Atrophy: SMA) หรือโรคไอแซค ซินโดรม (Isaac’s Syndrome)

การวินิจฉัยอาการกล้ามเนื้อกระตุก

ในขั้นแรกจะเป็นการสอบถามประวัติทางการแพทย์ รายละเอียดของอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ระยะเวลาและความถี่ในการเกิด บริเวณที่มีอาการ อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือไม่ ไปจนถึงความผิดปกติอื่น ๆ จากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจด้านอื่นเพิ่มเติม โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ป่วยและสาเหตุที่คาดว่าจะเป็นไปได้ เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเกลือแร่ในเลือด (Electrolytes) การทำงานของต่อมไทรอยด์ และสารเคมีอื่น ๆ ในเลือด
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีที สแกน (CT Scan) บริเวณกระดูกไขสันหลังและสมอง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG)
  • การนํากระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Studies)
  • การถ่ายภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) ที่กระดูกไขสันหลังหรือสมอง

การตรวจวินิจฉัยจะช่วยให้แพทย์ทราบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเกิดเป็นประจำมักมีสาเหตุมาจากโรคหรือความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ การตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยให้การรักษาทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในระยะยาว

การรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

อาการกล้ามเนื้อกระตุกทั่วไปมักไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะอาการจะค่อย ๆ ลดลงและหายไปเองภายใน 2-3 วัน แต่ในรายที่เกิดกล้ามเนื้อกระตุกมากอาจบรรเทาอาการให้ดีขึ้นด้วยการใช้ยา

ตัวอย่างกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุก

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเบต้าเมทาโซน ยาเพรดนิโซโลน
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants) เช่น คาริโซโพรดอล ยาไซโคลเบนซาพรีน 
  • ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blockers) เช่น โบทูลินัมท็อกซิน ชนิดเอ โบทูลินัมท็อกซิน ชนิดบี 
  • ยาคลายเครียด (Tranquilizers) เช่น ยาโคลนาซีแพม 

ภาวะแทรกซ้อนของอาการกล้ามเนื้อกระตุก

กล้ามเนื้อกระตุกเป็นอาการที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการบ่อยและปล่อยจนเรื้อรังโดยไม่หาสาเหตุและรักษาอาการให้หายขาดอาจทำให้โรคที่ซ่อนอยู่ไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคลมชัก ภาวะเกลือแร่ต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในระยะยาวจากตัวโรคตามมา

การป้องกันอาการกล้ามเนื้อกระตุก

อาการกล้ามเนื้อกระตุกอาจป้องกันได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถลดโอกาสและความเสี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมันอย่างเนื้อไก่หรือเต้าหู้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ร่างกายและเส้นประสาทได้พักฟื้น
  • พยายามไม่เครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือออกกำลังกาย
  • จำกัดปริมาณคาเฟอีนจากเครื่องดื่มหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปให้อยู่ในระดับที่พอดีต่อวัน เพราะคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้
  • ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินจัดเป็นตัวกระตุ้นที่อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท และยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดแล้วเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก เช่น ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอให้เปลี่ยนยาเป็นชนิดอื่นทดแทน