กะเพรารักษาโรคได้จริงหรือ

กะเพรา คือพืชชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหาร มีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย นอกจากจะเป็นพืชที่ขึ้นชื่อเรื่องการนำมาทำอาหารยอดนิยมอย่างผัดกะเพราแล้ว ผู้คนยังใช้เป็นยาอายุรเวชปรับสมดุลความเครียดภายในร่างกาย โดยนำใบ ก้าน และเมล็ดของกะเพรามารักษาอาการป่วยต่าง ๆ

กะเพรา

สรรพคุณทางยาของพืชชนิดนี้เป็นที่กล่าวถึงในหลายประการ ไม่ว่าจะช่วยรักษาไข้หวัด เบาหวาน โรคหอบ หลอดลมอักเสบ ปวดหู ปวดศีรษะ ท้องไม่ดี หรือความเครียด อีกทั้งยังเชื่อว่าช่วยต้านพิษงูหรือแมงป่องและนำมาไล่ยุงด้วย

กะเพรารักษาโรคได้จริงหรือไม่

นอกจากกะเพราจะนิยมนำมาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลายแล้ว ผู้คนยังนำมาใช้เพื่อบำรุงและรักษาปัญหาสุขภาพหลายอย่าง ซึ่งสรรพคุณทางยาของพืชชนิดนี้ได้รับการกล่าวอ้างมายาวนาน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่หยิบยกประเด็นดังกล่าวไปศึกษาและได้ผลลัพธ์ออกมาหลากหลายแง่มุม ดังนี้

ป้องกันมะเร็ง

มะเร็งหรือเรียกอีกอย่างว่าเนื้อร้าย คือภาวะที่เซลล์เติบโตผิดปกติ โดยมะเร็งมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรืออื่น ๆ อีกทั้งยังปรากฏอาการของโรคแตกต่างกันไปตามชนิดของมะเร็ง นับเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญ หลายคนใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคดังกล่าว

กะเพรานับเป็นพืชอีกชนิดที่ผู้คนเชื่อว่ามีสรรพคุณป้องกันมะเร็ง ประเด็นนี้ถูกนำมาศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างหลากหลาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาสรรพคุณของกะเพราที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งช่องปาก โดยนำเอาสารสกัดทั้งชนิดน้ำและผงจากใบกะเพราเข้มและกะเพราอ่อนมาทดลองกับเซลล์มะเร็งช่องปาก พร้อมทั้งวัดผล พบว่าสารสกัดจากใบกะเพราทั้ง 2 ชนิดมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งช่องปากอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่ากะเพราลดการแพร่กระจายของเนื้อร้ายได้ โดยงานวิจัยที่ศึกษาในหลอดทดลองได้ศึกษาสรรพคุณของกะเพราที่ช่วยต้านการกระจายเซลล์มะเร็งและอาการอักเสบ พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพราที่มีความเข้มข้น 250 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรขึ้นไป ช่วยลดจำนวนการแพร่เชื้อของเซลล์มะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังลดการอักเสบของเซลล์ สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้น ซึ่งนำสารสกัดจากใบกะเพรามาทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับอ่อน พบว่ากะเพรามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งตับอ่อนไม่ให้แบ่งตัว แพร่กระจาย หรือลุกลาม อีกทั้งยังทำลายเซลล์เหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่าสารสกัดจากใบกะเพรามีสารอาหารบางอย่างที่ช่วยต้านมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองจากงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้จำเป็นต้องศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลรับรองสรรพคุณทางยาดังกล่าว เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้ศึกษาในห้องทดลอง จึงไม่อาจชี้ชัดว่ากะเพราช่วยต้านมะเร็งได้จริง ทั้งนี้ วิธีป้องกันมะเร็งที่ได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพทำได้โดยเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่สูบบุหรี่ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างเหมาะสม

ควบคุมโรคเบาหวาน

เบาหวานคือปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้ว ตับอ่อนจะผลิตอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด โดยร่างกายจะย่อยอาหารและลำเลียงสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนอินซูลินจะลำเลียงกลูโคสออกจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเปลี่ยนกลูโคสไปเป็นพลังงานไม่ได้ เนื่องจากร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอหรืออินซูลินทำงานได้ไม่ดี

ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออาการป่วยของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตอันรวมไปถึงการเลือกรับประทานอาหาร งานวิจัยชิ้นหนึ่งวัดประสิทธิภาพใบกะเพราที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด พบว่ากะเพราส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารลดลงระหว่างเข้ารับการทดลอง โดยระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลงร้อยละ 17.6 ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารลดลงร้อยละ 7.3

แม้ผลการทดลองข้างต้นจะแสดงสรรพคุณของกะเพราที่ช่วยควบคุมโรคเบาหวาน แต่งานวิจัยนี้ศึกษากับหนูทดลอง จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่ากะเพราส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้จริง ประเด็นดังกล่าวต้องศึกษากับมนุษย์ต่อไป ผู้ที่รับประทานกะเพราเพื่อหวังสรรพคุณดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากสารอาหารบางอย่างในกะเพราอาจส่งผลต่อภาวะสุขภาพหรือยารักษาโรคบางชนิด ทั้งนี้ วิธีรักษาเบาหวานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยคือเข้ารับการรักษาจากแพทย์และรับประทานยารักษาโรคดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ลดอาการโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันจะส่งผลต่อเซลล์ประสาทในสมอง โดยค่อย ๆ ทำลายเซลล์ประสาทหรือทำให้เซลล์ประสาทตาย หากเซลล์ประสาทในสมองซึ่งทำหน้าที่ผลิตโดปามีนถูกทำลาย ระดับโดปามีนจะลดลงและก่อให้เกิดความผิดปกติกับสมอง อันนำไปสู่สัญญาณหรืออาการของโรคพาร์กินสัน นอกจากเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แล้ว หลายคนยังนิยมบริโภคพืชหรือสมุนไพรต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีสรรพคุณรักษาอาการป่วยของโรคนี้

กะเพราได้ชื่อว่าช่วยควบคุมอาการของโรคเกี่ยวกับระบบประสาท งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาสรรพคุณกะเพราที่ส่งผลต่อโรคพาร์กินสัน โดยตัดแต่งพันธุกรรมเซลล์ประสาทของแมลงหวี่ให้เสมือนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แล้วให้แมลงหวี่กินสารสกัดจากใบกะเพราเป็นเวลา 21 วัน พร้อมทั้งวัดผล พบว่าสารสกัดจากกะเพราช่วยให้แมลงหวี่สูญเสียการเคลื่อนไหวน้อยลงและลดการทำลายเซลล์ประสาทในสมองอย่างมีนัยสำคัญ

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ากะเพราช่วยควบคุมอาการป่วยของโรคพาร์กินสัน เนื่องจากงานวิจัยนี้ทดลองกับสัตว์ จำเป็นต้องทดลองกับมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนและเที่ยงตรงกว่านี้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี โดยเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายครบถ้วน รวมทั้งอาหารไฟเบอร์สูงหรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และการทรงตัว รวมทั้งเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงตกจากที่สูงหรือหกล้ม เช่น ยืนให้เต็มฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง เลี่ยงแบกของขณะเดิน หรือไม่เดินถอยหลัง

เสริมสร้างสติปัญญา

ผู้ที่มีสติปัญญาดีจะจดจำ เรียนรู้ และใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หากสุขภาพกายดีย่อมส่งผลให้สุขภาพสมองดีตามไปด้วย อย่างไรก็ดี สติปัญญาถดถอยได้ เนื่องจากมีโอกาสที่สมองจะทำงานไม่ได้ดีเสมอไป ส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ ใช้ภาษา และจดจำสิ่งต่าง ๆ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากขึ้นอาจมีปัญหาดังกล่าวตามมาอันส่งผลต่อการดำเนินชีวิต

พฤติกรรมการใช้ชีวิตนับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของสมอง ซึ่งหมายรวมไปถึงการรับประทานอาหาร กะเพราถือเป็นอาหารที่ได้ชื่อว่าช่วยบำรุงสมอง แม้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นจะแสดงคุณประโยชน์ดังกล่าว แต่ผลการทดลองเหล่านั้นล้วนเป็นผลการทดลองที่ได้จากสัตว์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ลองศึกษาประเด็นนี้กับมนุษย์ เพื่อวัดประสิทธิภาพของกะเพราที่ส่งผลต่อสติปัญญาและความเครียดของผู้คน พบว่าผู้ที่รับประทานแคปซูลที่มีสารสกัดใบกะเพราวันละ 300 มิลลิกรัม นานกว่า 30 วัน สมองทำงานดีขึ้นและช่วยลดความเครียด

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาในระยะสั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานกะเพราหรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกะเพรา เนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงหรือเกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อันเกิดจากปฏิกิริยาของสารอาหารในกะเพรากับภาวะสุขภาพหรือยารักษาโรคที่ใช้อยู่ นอกจากนี้ ยังมีวิธีบำรุงสมองให้สุขภาพดีซึ่งทำได้ง่ายและปลอดภัย โดยเลือกรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีเต็มเมล็ด เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม

ลดอาการวิตกกังวลทั่วไป

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักเกิดอาการกังวลเมื่อตกในอยู่สถานการณ์เคร่งเครียดซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้ อาการดังกล่าวจัดเป็นภาวะวิตกกังวลทั่วไป โดยมักปรากฏอาการป่วยคล้ายโรคแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวเนื่องกับอาการกังวลอื่น ๆ

สรรพคุณทางยาของกะเพราไม่เพียงรักษาปัญหาสุขภาพกาย แต่ยังช่วยดูแลภาวะสุขภาพจิต โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 35 ราย รับประทานแคปซูลที่มีสารสกัดจากต้นกะเพราปริมาณ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังรับประทานอาหาร พร้อมเข้ารับการวัดผลประเมินทางจิตวิทยา พบว่ากะเพราช่วยลดอาการป่วยจากภาวะวิตกกังวลทั่วไป รวมทั้งอาการที่เกี่ยวเนื่องกับความเครียดและภาวะซึมเศร้า อาจกล่าวได้ว่ากะเพรามีคุณสมบัติในการรักษาภาวะวิตกกังวลทั่วไป รวมทั้งอาจใช้เป็นสารต้านอาการวิตกกังวลได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ได้ผลการรับรองที่ชัดเจน จึงไม่อาจสรุปว่ากะเพราช่วยลดอาการของภาวะวิตกกังวลทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจริง ทั้งนี้ งานวิจัยข้างต้นนั้นศึกษากับกลุ่มตัวอย่างบางส่วนภายในระยะเวลาสั้น โดยทั่วไปแล้ว การรักษาภาวะดังกล่าวต้องใช้เวลาหลายเดือน และบางรายอาจต้องใช้เวลารักษาเป็นปี ผู้ป่วยโรคนี้ควรพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาด้วยยาและจิตบำบัด รวมทั้งปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ได้แก่ ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารระงับประสาท เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย นอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ดูแลสุขภาพช่องปาก

โรคเหงือกอักเสบนับเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมนำพืชหรือสมุนไพรต่าง ๆ มาใช้รักษาปัญหาดังกล่าว กะเพรานับเป็นพืชอีกชนิดที่นิยมนำมาใช้ดูแลสุขภาพช่องปาก งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประเด็นนี้ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองให้ใช้น้ำยาบ้วนปากจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มกะเพรา กลุ่มคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) และกลุ่มน้ำเกลือ พบว่าผู้ที่บ้วนปากด้วยกะเพรามีระดับคราบพลัคและอาการเหงือกอักเสบลดลงอย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผู้ที่ใช้คลอร์เฮกซิดีน อีกทั้งยังไม่เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้จำเป็นต้องศึกษากับกลุ่มคนจำนวนมากกว่านี้ เพื่อดูประสิทธิภาพของกะเพราในการลดคราบพลัคและอาการเหงือกอักเสบต่อไป    

รับประทานกะเพราอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ

โดยทั่วไป กะเพราเป็นเมนูที่เห็นได้บ่อยบนโต๊ะอาหาร การรับประทานกะเพราในปริมาณพอดีจะไม่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่บริโภคกะเพราเพื่อหวังสรรพคุณทางยาควรคำนึงถึงภาวะสุขภาพตนเองเป็นสำคัญ ดังนี้

  • การรับประทานกะเพราระยะสั้นอาจปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรบริโภคกะเพราติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อรักษาปัญหาสุขภาพ เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการแพทย์ว่าจะปลอดภัย
  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรควรเลี่ยงการรับประทานกะเพรา เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการใช้พืชชนิดนี้สำหรับสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ควรหยุดบริโภคหรือใช้กะเพราก่อนวันเข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากกะเพรามีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เสี่ยงเลือดออกมากขึ้นระหว่างและหลังผ่าตัดได้
  • ผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาที่ชะลอการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ แอสไพริน โคลพิโดเกรล อีนอกซาพาริน เฮพาริน ทิโคลพิดีน วาร์ฟาริน หรือยาอื่น ๆ ห้ามบริโภคกะเพรา เนื่องจากกะเพรามีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับกะเพราอาจทำให้เสี่ยงเกิดรอยช้ำและเลือดออกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นนี้
  • ผู้ที่ใช้ยาเพนโทบาร์บิทอล ควรปรึกษาแพทย์หรือเลี่ยงการบริโภคกะเพรา เนื่องจากยานี้ทำให้เกิดอาการง่วงซึม หากบริโภคร่วมกับกะเพราอาจทำให้ง่วงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว