กัดลิ้นตัวเองมักเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ขณะเคี้ยวอาหาร นอนหลับ ระหว่างเล่นกีฬา การประสบอุบัติเหตุ หรืออาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีอาการชัก ซึ่งการกัดลิ้นตัวเองจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ลิ้นบวมแดง ลิ้นแตกเป็นแผล และมีเลือดออก โดยทั่วไป อาการเหล่านี้มักดีขึ้นหลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้น และดูแลบาดแผลอย่างเหมาะสม
เมื่อกัดลิ้นตัวเองจนเป็นแผลควรดูแลรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากลิ้นเป็นอวัยวะสำคัญในช่องปากที่ทำหน้าที่รับรสชาติ ช่วยในการเคี้ยวเละการกลืนอาหาร รวมถึงช่วยในการพูดและการออกเสียงต่าง ๆ ให้ชัดเจน ระยะเวลาการรักษาลิ้นที่เป็นแผลจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลที่เกิดขึ้น แต่กรณีที่แผลลึก อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของการกัดลิ้นตัวเอง
การกัดลิ้นตัวเองพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบบ่อยในเด็ก คนส่วนใหญ่มักกัดลิ้นตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่บางครั้งอาจเป็นอาการของโรคบางอย่างได้เช่นกัน การกัดลิ้นตัวเองอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น
- กัดลิ้นขณะรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเวลาที่รีบเคี้ยวอาหาร เวลาที่รับประทานอาหารร้อนหรือเย็นจัด หรือขณะพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
- กัดลิ้นตัวเองขณะหลับ
- กัดลิ้นขณะเล่นกีฬา หรือเมื่อประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน ตกจากที่สูง
- กัดลิ้นหลังจากใช้ยาชาขณะทำฟัน
- กัดลิ้นจากความเครียด ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ของร่างกายคล้ายกับคนที่ชอบกัดเล็บ
- กัดลิ้นขณะมีอาการชัก ผู้ป่วยโรคลมชักบางคนอาจกัดลิ้นตัวเองได้
การรักษาเมื่อกัดลิ้นตัวเอง
การกัดลิ้นตัวเองมักทำให้รู้สึกเจ็บ มีอาการบวม หรือเกิดแผลที่ลิ้น ซึ่งวิธีการดูแลแผลจากการกัดลิ้นตัวเอง ได้แก่
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อกัดลิ้นตัวเอง มีขั้นตอนดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือสวมถุงมือยาง
- บ้วนปากด้วยน้ำเปล่า น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าผสมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อที่แผล แต่สำหรับเด็กเล็กไม่ควรให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าผสมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ เพราะเด็กอาจกลืนลงคอได้
- สังเกตแผล หากแผลไม่ลึกและเลือดไหลไม่มาก ให้กดห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซพันแผล
- เมื่อเลือดหยุดไหลแล้วให้ใช้ก้อนน้ำแข็งประคบที่แผลโดยตรง หรือจะอมน้ำแข็งไว้ในปากก็ได้ เพื่อลดอาการบวม และหากมีอาการบวมบริเวณริมฝีปาก สามารถประคบด้วยผ้าสะอาดผืนบางห่อน้ำแข็ง
อย่างไรก็ตาม หากเลือดไหลไม่หยุด เลือดออกมาก มีอาการปวดมาก หรือมีอาการอื่น เช่น ฟันโยกจากการประสบอุบัติเหตุหรือเล่นกีฬา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ควรปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง
การดูแลแผลให้หายเร็ว
ในระหว่างที่แผลจากการกัดลิ้นตัวเองยังไม่หายดี ควรปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารอ่อนที่สามารถเคี้ยวและกลืนง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เช่น เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด ซึ่งอาจทำให้เจ็บหรือแสบแผลมากขึ้น
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าแผลจะหายดี
- รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และประคบเย็นบริเวณแผลวันละ 2–3 ครั้ง เพื่อลดอาการเจ็บปวดและบวม
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อทำความสะอาดช่องปากและบรรเทาอาการเจ็บปวดแผล
กัดลิ้นตัวเอง สังเกตอาการที่ควรไปพบแพทย์
โดยทั่วไป แผลจากการกัดลิ้นตัวเองมักหายได้เองหลังจากดูแลแผลภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ที่มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- มีเลือดออกมาก หรือเลือดไหลไม่หยุดหลังจากประคบเย็นไปแล้วประมาณ 15 นาที
- เป็นแผลลึก หรือแผลยาวไปถึงอีกฝั่งของลิ้น หรือมีแผลถึงริมฝีปาก ซึ่งควรได้รับการเย็บแผลโดยแพทย์
- มีสิ่งสกปรกหรือสิ่งแปลกปลอมปนอยู่ในแผล ซึ่งอาจเกิดจากการกัดลิ้นตัวเองขณะประสบอุบัติเหตุ
- มีฟันโยก ฟันหัก
- ปวดแผลมาก แม้จะรับประทานยาแก้ปวดไป 2 ชั่วโมงแล้วก็ยังไม่หายปวด
- ไม่สามารถอ้าหรือหุบปากได้สนิท กลืนและบ้วนน้ำหรืออาหารลำบาก
- มีอาการแผลติดเชื้อ เช่น แผลบวมแดง มีหนองไหลออกจากแผล มีไข้
- มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ ผิวซีด และตัวเย็น
การกัดลิ้นตัวเองมักเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่กรณีที่กัดลิ้นตัวเองบ่อย ๆ เช่น กัดลิ้นขณะหลับ เล่นกีฬา ติดนิสัยกัดลิ้นตัวเองเมื่อเกิดความเครียด ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำให้การรักษา โดยแพทย์อาจแนะนำให้สวมหมวก หน้ากาก หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันการกัดลิ้นตัวเองไว้ในปาก รวมถึงคนที่กัดลิ้นตัวเองขณะเกิดอาการลมชัก ควรรักษาอาการตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการกัดลิ้นตัวเองขณะที่อาการกำเริบ