การวางท่าทางหรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเหมาะสม จะช่วยป้องกันการเจ็บปวดหรือการบาดเจ็บของร่างกาย และอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจหรือปรับสภาพอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ เพราะช่วยให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น และช่วยลดอาการปวดเมื่อยจากการอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมลงไปด้วย แม้อาจต้องอาศัยความพยายามและใช้เวลาอยู่บ้าง แต่การพยายามพัฒนาบุคลิกภาพและจัดวางท่าทางของร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในที่สุด
การจัดท่าทางร่างกาย (Posture) คือ อะไร ?
การจัดท่าทางร่างกาย เป็นวิธีจัดวางโครงสร้างร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ท่าทางร่างกายที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น การนั่ง การยืน และการนอน เป็นต้น และท่าทางร่างกายเมื่อมีการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การวิ่ง และการก้มตัวหยิบของ เป็นต้น โดยการจัดวางท่าทางต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญ ซึ่งตำแหน่งของกระดูกสันหลังถือเป็นหัวใจสำคัญของการวางท่าทางร่างกายที่เหมาะสม
ท่าทางต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ?
การวางท่าทางร่างกายที่ไม่ถูกต้องอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากมาย เพราะกระดูกซี่โครงถูกจำกัดการเคลื่อนไหวและกระบังลมถูกกดทับ ซึ่งอาจส่งผลให้ความจุของปอดลดลงและอาจทำให้หายใจผิดปกติ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรืออาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ อย่างระบบกระดูกและกล้ามเนื้อไม่ประสานงานไปในทิศทางเดียวกัน กระดูกสันหลังเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย มีอาการปวดตามร่างกาย เช่น ปวดกราม ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดเข่า ปวดบั้นท้าย ปวดเท้า เป็นต้น ความยืดหยุ่นของร่างกายลดลงซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวข้อต่อและการทรงตัวจนเพิ่มความเสี่ยงให้หกล้มได้ง่าย ระบบย่อยอาหารทำงานยากขึ้น และเสียบุคลลิกภาพด้วย
ท่าทางร่างกายที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ?
กุญแจสำคัญของการวางท่าทางร่างกายอย่างเหมาะสมอยู่ที่ตำแหน่งของกระดูกสันหลัง โดยกระดูกสันหลังแบ่งเป็น 3 ส่วนโค้งที่สำคัญ ได้แก่ คอ หลังส่วนกลาง และหลังส่วนล่าง ซึ่งการรักษาท่าทางที่เหมาะสมต้องรักษาตำแหน่งของ 3 ส่วนโค้งนี้เอาไว้ให้ดี
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบท่าทางร่างกายได้ด้วยการทดสอบกับกำแพง โดยยืนหันหลังชิดกำแพงให้ศีรษะ ไหล่ และบั้นท้ายสัมผัสกับกำแพง แล้ววางเท้าห่างจากกำแพงประมาณ 2-4 นิ้ว จากนั้นนำมือไปไว้บริเวณหลังส่วนล่างที่เป็นช่องว่างระหว่างหลังและกำแพง เพื่อตรวจสอบส่วนโค้งของหลังส่วนล่าง หากพบว่ามีช่องว่างมากเกินไป ให้ลดการแอ่นพุงลง เพื่อให้หลังส่วนล่างเข้าใกล้กับกำแพงมากขึ้นและทำให้ช่องว่างน้อยลง แต่หากมีช่องว่างเหลือน้อยเกินไป ให้แอ่นหลังเล็กน้อยพอให้สามารถสอดมือผ่านระหว่างหลังส่วนล่างกับกำแพงได้ จากนั้นให้เดินออกมาจากกำแพงในขณะที่ยังรักษาท่าทางร่างกายที่เหมาะสมเอาไว้ และให้กลับไปยืนชิดกำแพงอีกครั้งเช่นเดิม เพื่อตรวจสอบท่าทางที่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้ทราบคร่าว ๆ ได้ว่าท่าท่างร่างกายตามปกติของเราแตกต่างจากท่าทางที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด
จะปรับปรุงท่าทางร่างกายให้ดีขึ้นได้อย่างไร ?
- ออกกำลังกาย ทั้งการเล่นโยคะ รำไทชิ และการออกกำลังอื่น ๆ ที่ช่วยฝนฝึกร่างกายและฝึกกล้ามเนื้อแกนกลาง อาจมีส่วนทำให้โครงสร้างหรือท่าทางร่างกายเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้อท้องอ่อนแอลง รวมทั้งทำให้บริเวณเชิงกรานและกระดูกสันหลังเกิดปัญหาได้ หรืออาจทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งมีส่วนทำให้ท่าทางร่างกายแย่ลงได้อีกด้วย
- คอยระวังท่าทางของตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน เช่น ขณะเดิน นั่งดูโทรทัศน์ หรือล้างจาน เป็นต้น
- สวมรองเท้าที่ทำให้รู้สึกสบาย และควรเลือกใส่รองเท้าส้นเตี้ย เพราะรองเท้าส้นสูงอาจทำให้เสียสมดุลการทรงตัวและทำให้การเดินผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อมีความตึงเครียดมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อท่าทางร่างกายได้ในที่สุด
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจัดโต๊ะทำงานหรือโต๊ะกินข้าวอยู่ในระดับความสูงที่พอเหมาะกับตนเอง
- ขณะยืน ให้พยายามยืนตัวตรง ยืดอกและเก็บพุง ทิ้งน้ำหนักส่วนใหญ่ไปที่เนินปลายฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง ตั้งศีรษะให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ปล่อยแขนลงมาให้อยู่ข้างลำตัวตามธรรมชาติ และควรยืนให้เท้าทั้ง 2 ข้างกางกว้างเท่าประมาณหัวไหล่
- ขณะนั่ง ให้ปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งบ่อยครั้งเข้าไว้ ควรลุกออกไปเดินบ้างเป็นครั้งคราว และหมั่นยืดกล้ามเนื้ออยู่เสมอ เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ โดยหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง แต่ให้วางเท้าบนพื้นโดยให้ข้อเท้าเยื้องไปหน้าหัวเข่าเล็กน้อย ให้ข้อศอกวางอยู่แนบลำตัวทำมุมระหว่าง 90 - 120 องศา ระหว่างที่นั่งควรผ่อนคลายหัวไหล่ ไม่นั่งหลังโก่งหรือแอ่นหลังมากเกินไป
- หากเก้าอี้ที่ใช้นั่งไม่สามารถรองรับหลังได้อย่างเหมาะสม อาจใช้หมอนหรือที่รองหลังโดยเฉพาะ เพื่อช่วยรองรับส่วนโค้งของหลังส่วนล่าง และควรใช้เก้าอี้ที่มีเบาะรองรับต้นขาและสะโพกอย่างพอดี เพื่อให้แน่ใจว่าต้นขาและสะโพกขนานกับพื้น