การฉีดอินซูลินเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคเบาหวาน โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นจะต้องกินอาหารอย่างระมัดระวัง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการใช้ยาอย่างอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
อินซูลินเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการและรักษาโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ซึ่งโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน หรือโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของหลอดเลือดอื่น ๆ
โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจได้รับอินซูลินในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และอาจจำเป็นจะต้องฉีดอินซูลินด้วยตนเอง ดังนั้น การทราบถึงวิธีการฉีดอินซูลินอย่างเหมาะสมจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยต่อการรักษาได้
ความสำคัญของการฉีดอินซูลิน
อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ โดยจะช่วยเคลื่อนย้ายน้ำตาลกลูโคสจากกระแสเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน แต่ร่างกายของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่สามารถผลิตอินซูลินเองได้ ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายจะไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ในกระบวนการดังกล่าวได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม โรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดอาจทำให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ ทำให้น้ำตาลกลูโกสสะสมอยู่ในกระแสเลือดแทน ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องได้รับการฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย โดยแต่ละคนอาจใช้อินซูลินชนิดที่แตกต่างกัน
โดยทั่วไปสามารถจำแนกชนิดของอินซูลินตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ได้ดังนี้
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting) ใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 15–20 นาทีหลังการฉีด มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อการฉีดไปแล้ว 1–3 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ต่อเนื่องนานสูงสุดประมาณ 5 ชั่วโมง
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปกติ (Regular หรือ Short-Acting) ใช้เวลาในการออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาทีหลังการฉีด มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อการฉีดไปแล้ว 2–5 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ต่อเนื่องได้นานสูงสุดประมาณ 6–8 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องฉีดอินซูลินชนิดนี้ก่อนรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate–Acting) ใช้เวลาประมาณ 2–4 ชั่วโมงในการเข้าสู่กระแสเลือด มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อการฉีดไปแล้ว 4–12 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ต่อเนื่องได้นานสูงสุดประมาณ 16–24 ชั่วโมง
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-Acting) ใช้เวลาในประมาณ 4 ชั่วโมงในการเข้าสู่กระแสเลือดและมีฤทธิ์ต่อเนื่องได้นานสูงสุดประมาณ 24 ชั่วโมง
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานเป็นพิเศษ (Ultra Long-Acting) มีประสิทธิภาพต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 36 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจใช้อินซูลินหลายชนิดรวมกัน แต่ปริมาณและชนิดของอินซูลินที่ใช้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
วิธีการฉีดอินซูลินด้วยตนเอง
การฉีดอินซูลินด้วยตนเองให้ถูกต้องและปลอดภัยนั้นเริ่มต้นด้วยการล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง เลือกบริเวณที่จะฉีดอินซูลิน และทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นหรือแอลกอฮอล์ โดยบริเวณที่อินซูลินจะออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุดคือ หน้าท้อง แต่ก็สามารถฉีดอินซูลินที่ต้นแขน สะโพก ก้น หรือต้นขาได้เช่นกัน
ในการฉีดอินซูลินควรฉีดให้ห่างจากจุดที่ฉีดในครั้งล่าสุดอย่างน้อย 1 เซนติเมตรหรือครึ่งนิ้ว และห้ามฉีดอินซูลินในบริเวณที่เป็นรอยช้ำหรือเป็นแผล เพราะอาจทำให้อินซูลินเข้าสู่ร่างกายได้ไม่ดี
หากผู้ป่วยฉีดอินซูลินด้วยปากกา ควรคลึงขวดให้อินซูลินรวมเป็นเนื้อเดียวกันทุกครั้งก่อนใช้ และลองกดอินซูลินออก 1 ยูนิตเพื่อตรวจดูว่าปากกาใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ แล้วค่อยฉีดเข้าร่างกายตามปริมาณที่กำหนด โดยควรแทงเข็มตั้งฉากเข้าใต้ผิวหนังจนมิดเข็มและกดเดินยาจนถึงเลข 0
หากฉีดอินซูลินโดยการใช้ไซริงค์ ควรเปิดให้อากาศเข้าไปในขวดอินซูลิน แล้วค่อยดูดอินซูลินเข้าสู่ไซริงค์และเคาะไซริงค์เบา ๆ เพื่อไล่ฟองอากาศออก จากนั้นหยิกบริเวณที่ฉีดเบา ๆ ก่อนฉีดเข้าร่างกาย โดยให้ตั้งเข็มเป็นมุม 90 องศา ค่อย ๆ ดันไซริงค์จนหมด ค้างเข็มไว้ 5 วินาทีก่อนจะดึงเข็มออก และกดบริเวณที่ฉีดไว้ 5–10 วินาที
ข้อควรรู้ในการฉีดอินซูลิน
หลังการฉีดอินซูลิน ผู้ป่วยควรทิ้งเข็มที่ใช้คู่กันกับปากกาฉีดอินซูลินหรือไซริงค์ทันที โดยให้วางปลอกเข็มไว้บนโต๊ะและเสียบเข็มฉีดยาเข้าไปในปลอกดังกล่าว เพราะการใช้เข็มหรือปากกาฉีดอินซูลินซ้ำจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
รวมทั้งผู้ป่วยควรอ่านฉลากที่แนบมากับยาหรืออุปกรณ์อย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย และหากมีข้อสงสัยในการฉีดอินซูลิน สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อศึกษาการวิธีใช้และวิธีกำจัดอุปกรณ์ที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเก็บอินซูลินให้พ้นจากแสงแดดและสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง หากเป็นขวดที่ยังไม่เปิดใช้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 2–8 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง และหากสังเกตเห็นว่าอินซูลินเปลี่ยนเป็นสีหม่น มีก้อนหรือเกล็ดอยู่ภายใน หมดอายุ หรืออินซูลินอยู่นอกตู้เย็นนานกว่า 1 เดือน ผู้ป่วยไม่ควรใช้อินซูลินเหล่านี้
เพื่อให้การรักษาโรคเบาหวานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาเบาหวานทุกชนิดที่ใช้ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพราะการใช้ยารักษาโรคเบาหวานอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ได้
ในกรณีที่สงสัยว่าตนเองได้รับอินซูลินมากหรือน้อยเกินไป มีอาการอื่น ๆ หลังได้รับอินซูลิน เช่น มีก้อนแข็งในบริเวณที่ฉีด หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบาก เวียนหัว ตามัว หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด