หากวิเคราะห์จากยอดผู้เสียชีวิตในประเทศไทยในตอนนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุมากกว่าช่วงวัยอื่น เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่จำนวนการเสียชีวิตจากโรคนี้มากที่สุด เราจึงควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากโรคและเพิ่มความใส่ใจในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงนี้เป็นพิเศษ
COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดได้จากการสูดเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย หรือสัมผัสโดนเชื้อก่อนแล้วนำมาสัมผัสปาก จมูก หรือตา หากผู้สูงอายุเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงและเสียชีวิต มาดูกันว่าปัจจัยใดที่เพิ่มความเสี่ยงนี้ให้มากขึ้น บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
ทำไมผู้สูงอายุจึงไวต่อ COVID-19 มากกว่าวัยอื่น ?
ปกติแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอายุ 60-84 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 4-11 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปจะอยู่ที่ประมาณ 10-27 เปอร์เซ็นต์ โดยมักมีแนวโน้มก่ออาการรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากร่างกายที่เสื่อมสภาพไปตามอายุและโรคประจำตัว ดังนี้
-
มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมสภาพ อีกทั้งผู้สูงอายุบางรายยังอาจรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ร่างกายจึงกำจัดเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายได้ยาก และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น
-
มีโรคประจำตัวรุนแรงหรือเรื้อรัง
งานวิจัยจำนวนหนึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาสุขภาพรุนแรงหรือเรื้อรังอย่างโรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ อาจเสี่ยงเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงสูงกว่าผู้ป่วยในช่วงอายุอื่น
ผู้สูงอายุรับมือกับ COVID-19 ได้อย่างไร
ผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสลงได้ และคนในครอบครัวสามารถลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุเพียงทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควรอยู่แต่ในบ้านเท่าที่จะเป็นไปได้ หันมาติดต่อกับคนอื่น ๆ ผ่านทางโทรศัพท์แทนการไปมาหาสู่กัน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ประมาณ 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ ทดแทนในกรณีที่ไม่มีน้ำและสบู่
- ควรสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ หากตนเองมีอาการไอหรือจาม หรือจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน สถานที่สาธารณะ หรือบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน
- เว้นระยะห่างต่อกันอย่างน้อย 2 เมตร และอยู่ให้ห่างจากคนที่มีอาการป่วยใด ๆ ก็ตาม
- เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน หรือยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำให้พร้อม เพื่อลดการออกไปพบปะผู้คนและอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้สูงอายุ
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคตามพื้นผิวสิ่งของหรือจุดที่คนในบ้านสัมผัสเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู หน้าต่าง เก้าอี้ หรือราวจับ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวและออกไปยังสถานที่สาธารณะหรือที่พลุกพล่าน หากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน คนในครอบครัวควรอยู่ให้ห่างจากผู้สูงอายุและรีบทำความสะอาดร่างกายทันทีที่กลับเข้าบ้าน
- ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงดีหรือได้นัดหมายกับแพทย์ล่วงหน้า อาจปรึกษาแพทย์ในการงดไปที่โรงพยาบาล หรือขอรับยาและเลื่อนนัดในช่วงการระบาดของโรค เพื่อลดโอกาสในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- พักจากการอ่านหรือการฟังข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 และลองหากิจกรรมผ่อนคลายร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อคลายเครียด ลดความกังวลใจและความเบื่อหน่าย
สุดท้ายนี้ การหมั่นดูแลและสังเกตความผิดปกติของผู้สูงอายุอยู่เสมอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนในครอบครัว เพื่อความปลอดภัย ห่างไกลจากการติดเชื้อไวรัส และอยู่เป็นที่รักของลูกหลานได้นานยิ่งขึ้น หากผู้สูงอายุหรือคนในครอบครัวมีความกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โรคประจำตัว หรือการเจ็บป่วยอื่นใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422