การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัญหาสุขภาพใดได้บ้าง

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) คือ การตรวจเลือดที่ใช้วัดสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ตรวจอาการต่าง ๆ เมื่อปรากฏอาการดังกล่าว เช่น อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หรือรอยช้ำ รวมทั้งตรวจหาปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การตรรวจความสมบูรณ์ของเลือด

การตรวจนี้จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและจำนวนเซลล์ในเลือด ซึ่งจะตรวจส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเลือด ดังนี้

  • เซลล์เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ รวมทั้งลำเลียงคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปที่ปอดด้วย จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงจะแสดงผลว่าผู้ป่วยประสบภาวะโลหิตจางหรือไม่ รวมทั้งแสดงการสร้างและทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น ค่าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากเลือดที่ไหลเวียนจากหัวใจลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซที่ปอดไม่เพียงพอ หรือมีการสร้างเม็ดเลือดแดงมากขึ้น ส่วนค่าที่ลดลงเกิดจากการขาดวิตามินบี 12 บี 6 หรือธาตุเหล็ก รวมทั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือการสร้างจากไขกระดูกผิดปกติ นอกจากนี้ แพทย์จะดูรูปร่างของเม็ดเลือดแดง เพื่อวินิจฉัยแยกโรคต่าง ๆ เช่น ธาลัสซีเมีย หรือภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก บางครั้งอาจปรากฏมาลาเรียอยู่ในเม็ดเลือดด้วย
  • เซลล์เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ต้านเชื้อโรค โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะทำลายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีจำนวนน้อยกว่า เมื่อร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวยังใช้ตรวจหาการติดเชื้อและปฏิกิริยาร่างกายที่ตอบสนองต่อการรักษามะเร็ง
  • ค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit) คือสัดส่วนของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่อัดแน่นเทียบกับปริมาตรของเลือดทั้งหมด ค่านี้จะแสดงภาวะโลหิตจางหรือความข้นของเลือด โดยผู้ที่ประสบภาวะช็อค ขาดน้ำอย่างรุนแรง หรือมีจำนวนเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น จะมีค่าฮีมาโตคริตสูง ส่วนผู้ที่ประสบภาวะโลหิตจาง ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือด หรือมีเลือดออกรุนแรง จะมีค่าฮีมาโตคริตต่ำ
  • ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) คือโปรตีนที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนในเซลล์เม็ดเลือดแดง การตรวจฮีโมโกลบินจะช่วยวัดจำนวนฮีโมโกลบินที่มีในเลือด รวมทั้งวัดประสิทธิภาพของร่างกายในการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ผู้ที่มีค่าฮีโมโกลบินลดลง อาจเกิดจากการเสียเลือด ขาดสารอาหาร หรือภาวะโลหิตจาง
  • เกล็ดเลือด คือเซลล์เลือดชนิดหนึ่งที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด กล่าวคือ หากร่างกายได้รับบาดเจ็บจนเลือดออก เกล็ดเลือดจะพองและจับตัวกันจนมีลักษณะเหนียว เพื่อช่วยหยุดเลือดที่ไหลออกมา ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำเกินไปจะห้ามเลือดให้หยุดไหลไม่ได้ ส่วนผู้ที่มีเกล็ดเลือดสูงเกินไปจะเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทำเพื่ออะไร ?

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนับเป็นการตรวจเลือดทั่วไป มักใช้ตรวจหาภาวะสุขภาพด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ตรวจสุขภาพโดยรวม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเป็นประจำ เพื่อดูสุขภาพโดยรวม รวมทั้งตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะโลหิตจาง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • วินิจฉัยปัญหาสุขภาพ ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า มีไข้ บวมอักเสบ มีรอยช้ำ หรือเลือดออก อาจต้องเข้ารับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยวิธีนี้จะช่วยวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว ทั้งนี้ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดยังยืนยันผลการติดเชื้อในกรณีที่คาดว่าผู้ป่วยรายนั้นได้รับเชื้อบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย
  • สังเกตและติดตามปัญหาสุขภาพ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือด จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจนี้ เพื่อสังเกตและติดตามอาการป่วยที่เกิดขึ้น
  • สังเกตและติดตามการรักษาโรค แพทย์จะทำการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแก่ผู้ป่วยที่ใช้ยาซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือด
  • ตรวจการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาบางอย่าง ผู้ป่วยบางรายที่เข้ารับการรักษาด้วยยาหรือการฉายรังสี จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อการรักษาดังกล่าว
  • ตรวจประเมินร่างกายก่อนผ่าตัด ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อดูระดับของเลือดว่าสูงหรือต่ำก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทำอย่างไร

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดมีรายละเอียดแต่ละขั้นตอน ดังนี้

  • แพทย์จะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะเจาะเลือดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจะรัดสายยางรอบแขนส่วนบน เพื่อให้เส้นเลือดโป่งขึ้น
  • แพทย์จะสอดเข็มเข้าไปที่เส้นเลือด เพื่อเจาะเอาตัวอย่างเลือดออกมาประมาณ 1 ขวดแก้วขนาดเล็ก หรือมากกว่านั้น
  • หลังจากเจาะเลือดแล้ว แพทย์จะคลายสายยางที่รัดแขนออก และปิดแผลบริเวณที่เจาะเข็มเข้าไปด้วยผ้าพันแผลให้เรียบร้อยเพื่อห้ามเลือด

ขั้นตอนการตรวจเลือดอาจทำให้รู้สึกไม่สบายเล็กน้อยเมื่อสอดเข็มเข้าไปที่เส้นเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นลมหรือเวียนศีรษะเมื่อเห็นเลือด ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีรอยช้ำเล็กน้อย ซึ่งจะหายภายใน 2-3 วัน ขั้นตอนการเจาะเลือดนี้ใช้เวลาเพียง 2-3 นาที จากนั้นจะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจในห้องทดลอง ซึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หรือ 1 วันหลังตรวจ จึงจะได้ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

สำหรับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดให้กับทารก จะเจาะเลือดที่ส้นเท้าเด็ก โดยแพทย์จะทำความสะอาดผิวบริเวณส้นเท้า และใช้เข็มขนาดเล็กทิ่มบริเวณดังกล่าว จากนั้นจึงบีบเอาเลือดมาจำนวน 1 ขวดแก้วขนาดเล็กสำหรับนำไปใช้ตรวจต่อไป

ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดบอกอะไรได้บ้าง ?

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะปรากฏผลการตรวจที่ต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์ที่อยู่ในเลือด แพทย์จะวัดผลและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยจากผลการตรวจดังกล่าว ผู้ที่มีความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดในระดับผิดปกติ อาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดอีกครั้ง รวมทั้งทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยวัดและยืนยันผลการวินิจฉัยที่ได้ ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ผลการตรวจปกติ และผลการตรวจผิดปกติ ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

  • ผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดสูงเกินไป
    • ระดับของเซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน หรือความเข้มของเลือดสูงเกินไป อาจเกิดจาก
      • ขาดน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เช่น เกิดจากท้องร่วง เหงื่อออกมากเกินไป หรือใช้ยาขับน้ำสำหรับรักษาความดันโลหิตสูง
      • ป่วยเป็นโรคไตที่มีการผลิตฮอร์โมนอิริโธรพออีติน (Erythropoietin) ในปริมาณสูง
      • ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจหรือปอด
      • ประสบภาวะเลือดแดงข้น (Polycythemia Vera)
      • สูบบุหรี่
    • ระดับของเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงเกินไป (Leukocytosis) เกิดจาก
      • ใช้ยาบางอย่าง เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์
      • เกิดการติดเชื้อ
      • ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคลูปัสหรือโรคพุ่มพวง (Lupus) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคภูมิแพ้
      • ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
      • เกิดความเครียดทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง
      • เนื้อเยื่อถูกทำลาย
    • ระดับของเกล็ดเลือดสูงเกินไป อาจเกิดจาก
      • ประสบภาวะเลือดออก
      • ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง
      • ขาดธาตุเหล็ก
      • มีปัญหาเกี่ยวกับไขกระดูก
  • ผลการตรวจผิดปกติ ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดที่จัดว่าผิดปกตินั้น แบ่งออกเป็นผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดสูงเกินไป และผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดต่ำเกินไป ดังนี้
  • ผลการตรวจปกติ จำนวนเซลล์เม็ดเลือดจะมีระดับที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ปกติมักมีระดับของจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ฮีโมโกลบิน ความเข้มของเลือด และจำนวนของเกล็ดเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป ทั้งนี้ ระดับของเซลล์เม็ดเลือดที่ใช้ประเมินความปกติของห้องทดลองแต่ละแห่งอาจต่างกัน เนื่องจากใช้การวัดหรือตัวอย่างในการทดสอบที่ต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลการตรวจที่ได้
  • ผู้ที่มีเซลล์เม็ดเลือดต่ำเกินไป
    • ระดับของเซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน หรือความเข้มของเลือดต่ำเกินไป อาจเกิดจาก
      • ประสบภาวะเสียเลือด ซึ่งเกิดจากการได้รับบาดเจ็บกะทันหัน หรือมีปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นระยะยาว เช่น ประจำเดือนมามาก
      • ไขกระดูกฝ่อ ซึ่งเกิดจากการฉายรังสี ติดเชื้อ หรือเนื้องอก
      • ประสบภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis)
      • ป่วยเป็นโรคมะเร็ง รวมทั้งได้รับการรักษาโรคมะเร็ง
      • ป่วยเป็นโรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือข้ออักเสบรูมาตอยด์
      • ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
      • ประสบภาวะติดเชื้อระยะยาว เช่น ไวรัสตับอักเสบ
      • ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 หรือวิตามินบี 6
      • ป่วยเป็นมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลม่า (Multiple Myeloma)
    • ระดับของเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำเกินไป อาจเกิดจาก
      • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งตับถูกทำลาย
      • ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคลูปัสหรือโรคพุ่มพวง
      • ประสบภาวะไขกระดูกฝ่อ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อ เนื้องอก การฉายรังสี หรือเกิดพังผืดในร่างกาย
      • ได้รับยาที่ใช้ทำเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง
      • ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือม้าม หรือโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของไขกระดูก
      • ประสบภาวะม้ามโต
      • ติดเชื้อที่เกิดจากไวรัส เช่น โรคเอดส์ หรือโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
      • ใช้ยาบางอย่าง
    • ระดับเกล็ดเลือดต่ำเกินไป อาจเกิดจาก
      • ประสบภาวะโลหิตจาง
      • ป่วยเป็นโรคที่ส่งผลให้เกล็ดเลือดถูกทำลาย
      • ตั้งครรภ์
      • ประสบภาวะม้ามโต
      • ประสบภาวะไขกระดูกฝ่อ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อ เนื้องอก การฉายรังสี หรือเกิดพังผืดในร่างกาย
      • ได้รับยาที่ใช้ทำเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง

ความเสี่ยงจากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดมีโอกาสเกิดปัญหาระหว่างเจาะตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจน้อยมาก อย่างไรก็ตาม  ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบจากการตรวจบ้าง ดังนี้

  • มีรอยช้ำ ผู้ป่วยอาจเกิดรอยช้ำเล็กน้อยบริเวณที่ถูกเจาะเลือด ให้กดบริเวณดังกล่าวไว้สักพัก เพื่อลดโอกาสเกิดรอยช้ำ
  • หลอดเลือดดำอักเสบ ผู้ที่ได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด อาจประสบภาวะหลอดเลือดดำอักเสบหลังแพทย์เจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ โดยหลอดเลือดดำจะบวมขึ้น ให้ลองประคบอุ่นบริเวณดังกล่าววันละหลายครั้ง เพื่อบรรเทาอาการหลอดเลือดดำอักเสบ
  • เลือดออกมากขึ้น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับภาวะเลือดออกหรือเกิดลิ่มเลือด รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาเจือจางเลือด (Blood-Thinning) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการเจาะเลือดสำหรับนำไปตรวจ เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเลือดออกอาจมีปัญหาเลือดไม่หยุดไหลได้ ส่วนผู้ที่ใช้ยาเจือจางเลือด แอสไพริน หรือวาฟาริน อาจประสบภาวะเลือดออกมากขึ้น