Ergonomics หรือการยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับคนทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพหรืออาการบาดเจ็บตามร่างกายอันเนื่องมาจากการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งบทความนี้จะมาช่วยแนะแนวทางในการปรับสภาพโต๊ะทำงานของทุกคนให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะการทำงานในปัจจุบันอาจทำให้หลายคนต้องนั่งอยู่กับที่หรืออยู่ในท่าทางเดิม ๆ เป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้นานวันเข้าก็อาจกระทบต่อสุขภาพของเราได้ไม่น้อย โดยอาจสังเกตได้จากอาการอักเสบหรือปวดตามกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ หลัง แขน ขา หรือข้อมือ ซึ่งหลายคนอาจรู้จักดีในชื่อกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) นั่นเอง
ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานด้วย Ergonomics
หลัก Ergonomics นั้นไม่ใช่การปรับเพียงท่าทางการนั่งเท่านั้น แต่ยังต้องใส่ใจในเรื่องของเก้าอี้ โต๊ะทำงาน ไปจนถึงระยะห่างของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวด้วย โดยจะมีรายละเอียดให้เรานำไปปรับใช้ได้ดังนี้
ท่านั่งทำงาน
ท่านั่งที่ดีคือท่านั่งที่ลำตัวตรง นั่งเต็มก้น และหลังแนบไปกับพนักพิง ไม่ก้มตัวหรือเอี้ยวตัวมากเกินไป ไม่นั่งหลังค่อม โดยศีรษะจะต้องอยู่ในระนาบเดียวกันกับกระดูกสันหลัง ตามองตรงไปด้านหน้าห่างจากหน้าจอประมาณ 45–60 เซนติเมตร สามารถก้มหน้าได้บ้างแต่ไม่ควรก้มต่ำเกิน 20 องศา
หัวไหล่ควรอยู่ในท่าทางที่สบายโดยไม่ยกหรือห่อไหล่ แขนส่วนล่างและต้นขาทั้งสองข้างให้วางในแนวขนานกับพื้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าแขนกับข้อศอกและขากับหัวเข่าของเราจะทำมุมประมาณ 90 องศา และเท้าก็ควรวางแนบสนิทกับพื้นด้วยเช่นกัน
เก้าอี้เพื่อสุขภาพ
เก้าอี้ Ergonomics เป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนลงทุนและใช้เวลาเลือกสรรเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีในระยะยาว เนื่องจากมีส่วนช่วยรองรับสรีระของผู้นั่ง และยังสามารถปรับความสูงต่ำของเก้าอี้หรือขยับตำแหน่งของที่วางแขนได้ เอื้อให้ผู้นั่งอยู่ในท่านั่งที่เหมาะสมมากขึ้น หากเก้าอี้ที่ใช้อยู่ไม่มีส่วนรองรับบริเวณเอวสามารถใช้หมอนใบเล็ก ๆ หมอนรองเอว หรือเบาะรองหลังแทนได้
โต๊ะทำงาน
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ระดับของโต๊ะทำงานควรอยู่พอดีกับข้อศอกของคนเรา เพื่อให้ขยับทำงานได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยโต๊ะต้องไม่สูงจนต้องยกแขนหรือไหล่ขึ้น และไม่ต่ำจนต้องก้มตัวลงไปทำงาน
นอกจากนี้โต๊ะทำงานยังควรมีพื้นที่มากพอให้วางและขยับขา เข่า และเท้าเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หากโต๊ะไม่สามารถปรับความสูงต่ำได้อาจต้องหาอุปกรณ์มารองขาโต๊ะหรือปรับระดับเก้าอี้ทดแทน
หน้าจอคอมพิวเตอร์
ปกติแล้วหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากคนทำงานประมาณ 1 ช่วงแขน และควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อยแต่ไม่ควรไม่เกิน 2 นิ้ว หากสูงหรือต่ำกว่านั้นอาจส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยคอหรือตาล้าได้ โดยอาจหาหนังสือ แท่นวาง หรือโต๊ะขนาดเล็กมารองหน้าจอ เพื่อให้ระดับความสูงของจอพอดีกับตัวเองมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้นยังควรปรับแสงจากหน้าจอให้อยู่ในระดับพอดี วางหน้าจอไว้ในบริเวณที่มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ปราศจากแสงสะท้อนหรือแสงกะพริบจากภายนอกรบกวนสายตา เพื่อป้องกันตาล้า เคืองตา หรือแสบตา
ที่วางเท้า
ความสูงของเก้าอี้หรือโต๊ะที่ไม่สัมพันธ์กันส่วนสูงของผู้นั่งอาจทำให้เท้าลอยหรือไม่อยู่แนบสนิทกับพื้น จึงรู้สึกนั่งไม่สบายตัว นั่งไม่เต็มก้น หรือเผลอไปนั่งในท่าที่ทำร้ายสุขภาพอย่างท่านั่งไขว่ห้าง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก การไหลเวียนของเลือด หรือกล้ามเนื้อตามมา
โดยหนึ่งในอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหาเท้าลอยหรือเท้าไม่ติดพื้นก็คือที่วางเท้าหรือเก้าอี้ขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยปรับระดับความสูงและต่ำของเท้า เอื้อให้เราอยู่ในท่านั่งที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพ โดยขาและเข่าของผู้นั่งจะทำมุม 90 องศาโดยอัตโนมัติ และทำให้สบายตัวมากยิ่งขึ้นได้
อุปกรณ์สำนักงาน
การจัดวางตำแหน่งของอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเครื่องเขียน กรรไกร ตัวหนีบ ที่เย็บกระดาษ หรือโทรศัพท์ตั้งโต๊ะให้อยู่ใกล้มือก็เป็นส่วนหนึ่งของหลัก Ergonomics ที่อาจช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานได้เช่นกัน เนื่องจากการวางอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยครั้งไว้ใกล้มือและเอื้อมถึงจะทำให้เราไม่ต้องก้ม เอี้ยวตัว หรือบิดตัวไปหยิบนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับใช้หลัก Ergonomics แล้ว การเปลี่ยนพฤติกรรมจากนั่งทำงานเป็นยืนทำงาน ลุกเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยขึ้น หรือหมั่นบริหารร่างกายขณะทำงานอยู่เสมอก็เป็นวิธีที่อาจช่วยให้เราห่างไกลจากปัญหาสุขภาพคอ บ่า ไหล่ หลัง แขน และขาได้ และในกรณีที่พบสัญญาณอาการปวดตามร่างกาย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ