การรักษา สิว
การรักษาและการใช้ยาต้องขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิวด้วย ในเบื้องต้นทำได้โดยใช้ยาหรือครีมตามร้านขายยาที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. โดยให้เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำ
ถ้าเป็นสิวหัวดำ สิวหัวขาว หรือสิวอักเสบเล็ก ๆ ก็สามารถใช้ครีมหรือเจลที่เป็นตัวยาเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ซึ่งออกฤทธิ์ลดการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว รวมทั้งทำให้ผิวแห้งลดการสะสมน้ำมันในชั้นผิวหนัง ใช้รักษาอาการสิวที่มีความรุนแรงในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
หากซื้อยารักษาด้วยตนเองแล้วพบผลข้างเคียงอย่างหายใจติดขัด อึดอัดในลำคอ หน้าบวม ตาบวม หน้ามืดจะเป็นลม ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์ในทันที
แต่หากมีสิวขึ้นจำนวนมากหรือรักษาด้วยตนเองแล้วการอักเสบของสิวยังไม่ทุเลาลง ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง ซึ่งกระบวนการรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทของสิวและระดับความรุนแรงของการอักเสบ ครอบคลุมไปถึงการรักษาและป้องกันรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวด้วย ได้แก่ การใช้ยา และการบำบัดต่าง ๆ
โดยแพทย์กับผู้ป่วยจะปรึกษากันถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี ก่อนจะเลือกวิธีในการรักษาดังนี้
การรักษาด้วยยา แบบยาทาเฉพาะที่
มีทั้งรูปแบบครีมและเจล ผู้ป่วยต้องทาเนื้อยาตามจุดที่เกิดสิว โดยทาหลังล้างหน้าให้สะอาดแล้วเช็ดหน้าให้แห้งแล้วประมาณ 15 นาที ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่ใช้ยา อาจมีอาการระคายเคือง ผิวแห้ง หรือมีจุดสีแดงที่ผิว แต่ผลการรักษาจะปรากฏตามมาในภายหลัง หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่หายจากสิว หรือมีผลข้างเคียงอื่นอย่างอาการแพ้ยา แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาชนิดอื่นในการรักษาต่อไป
การใช้ยารักษาจะช่วยให้อาการค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ บางคนอาการแย่ลงก่อนแล้วดีขึ้น ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจน โดยอาจใช้เวลารักษาหลายเดือนไปจนถึงหลายปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอักเสบและปัญหาสุขภาพของแต่ละบุคคล ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการแพ้ยา สถานะการตั้งครรภ์หรือการวางแผนมีบุตร เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายได้
ตัวอย่างยาที่ใช้รักษาสิวตามใบสั่งแพทย์และคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่
เรตินอยด์ (Retinoid)
เป็นสารที่ได้มาจากวิตามินเอ แรก ๆ ใช้ยาทาสามครั้งต่อสัปดาห์ในตอนเย็น หลังจากนั้นใช้ทาวันละครั้งเพื่อให้ผิวคุ้นเคยกับสาร ยาตัวนี้จะช่วยป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
ยาจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง และลดรอยแดงจากสิว โดยอาจใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษา เช่น ในช่วงแรกอาจใช้ยาปฏิชีวินะควบคู่กับเรตินอยด์ โดยให้ทายาปฏิชีวนะในตอนเช้าและทาเรตินอยด์ในตอนเย็น
หรือใช้ร่วมกับเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ เพื่อลดปฏิกิริยาดื้อยาปฏิชีวนะ เช่น ใช้คลินดามัยซิน (Clindamycin) ร่วมกับเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ และอีริโทรมัยซิน (Erythromycin) ร่วมกับเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์
แดพโซน (Dapsone)
เป็นยารักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียและการอักเสบของผิวหนัง ใช้ร่วมกับเรตินอยด์เพื่อประสิทธิผลทางการรักษาสูงสุด อาจมีผลข้างเคียงอย่างผิวแห้งและเป็นรอยแดง
การรักษาด้วยยา แบบยารับประทาน
ตัวอย่างยารักษาสิวชนิดรับประทาน เช่น
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic)
ใช้ลดเชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบ ใช้เมื่อผู้ป่วยเป็นสิวอักเสบในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง สามารถใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบทาได้ โดยแพทย์จะจ่ายยาตามความเหมาะสม
ส่วนผลข้างเคียงที่อาจพบจากการใช้ยา เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน เวียนศีรษะ ทำให้ให้ผิวไวต่อแดด โดยตัวยาที่ใช้ คือ ยากลุ่มเตตราซัยคลีน (Tetracycline) อย่างยาดอกซีซัยคลีน (Doxycycline) หรือยากลุ่มแมคโครไลน์ (Macrolide) ซึ่งเหมาะกับสตรีมีครรภ์และเด็กอายุต่ำหว่า 8 ปีที่ใช้ยากลุ่มเตตราซัยคลีนไม่ได้
ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive)
เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยและวัยรุ่นเพศหญิง เพราะตัวยามีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ส่งผลต่อกระบวนการผลิตขนและน้ำมัน ลดความเสี่ยงของการอุดตันจนทำให้เกิดสิว แต่มีผลข้างเคียง คือ อาการปวดหัว คลื่นไส้ ปวดหน้าอก น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีเลือดไหลก่อนมีประจำเดือน และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgen)
จะลดผลกระทบที่เกิดจากการมีฮอร์โมนเพศชายสะสมที่ต่อมไขมันใต้ผิวมากเกินไป จนทำให้เกิดการผลิตขนและน้ำมันมากจนเสี่ยงต่อการเกิดสิว อาจนำมาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้หญิงหรือวัยรุ่นเพศหญิงรับประทานยาปฏิชีวนะแล้วไม่ได้ผล โดยมีผลข้างเคียง อย่างอาการปวดเต้านมและปวดประจำเดือนมาก
ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin)
ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ใช้ในผู้ที่มีสิวอักเสบระดับรุนแรงมากหรือที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาสิวด้วยวิธีอื่น ๆ โดยผู้ที่ใช้ยาต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงอันตรายที่อาจพบได้ เช่น ทารกในครรภ์พิการรุนแรงแต่กำเนิด ตับและตับอ่อนอักเสบ ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
การรักษาด้วยวิธีการบำบัด
การบำบัดทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
การกดสิว
ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วสิวหัวดำและสิวหัวขาวยังไม่หมดไป โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือช่วยในการบีบเอาสิ่งที่อุดตันภายในสิวออกมา ผลข้างเคียง คือ อาจเกิดร่องรอยหรือรอยแผลเป็นได้
การผลัดเซลล์ผิว
ใช้กระบวนการทางเคมีมาช่วยในการรักษา เช่น การใช้กรดซาลิเซลิกเพื่อขัดลอกผิวชั้นนอก ลดการอุดตันของน้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยจะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ ยกเว้นการรับประทานยาเรตินอยด์ เพราะจะทำให้ผิวแพ้ง่ายและระคายเคือง ผลข้างเคียงที่พบ คือ อาจเกิดรอยแดง ผิวพุพอง หรือหลุดล่อนออกมา
การฉีดสเตียรอยด์ (Steroid)
เป็นการรักษาสิวก้อนลึกและสิวซีสต์ ทำให้การบวมอักเสบของสิวหายไปโดยที่ไม่ต้องบีบสิวออกมา ด้วยการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปยังบริเวณที่เป็นสิว โดยมีผลข้างเคียง คือ ทำให้ผิวบางอาจเห็นรอยเส้นเลือดใต้ผิวหนังได้
การฉายแสง (Light Therapy)
เป็นการฉายแสงเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดสิวอักเสบ การฉายแสงต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อควบคุมคุณภาพและปริมาณของแสงให้เหมาะสม การรักษาด้วยการฉายแสงอาจมีผลข้างเคียง คือ เจ็บบริเวณที่ฉายแสง รอยแดงชั่วคราว ผิวบริเวณที่ฉายแสงจะมีความไวต่อแสงแดด และมีโอกาสแพ้แสงมากขึ้น
การรักษารอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว
ผู้ที่มีแผลเป็นจากสิวสามารถดูแลรอยแผลได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- การฉีดฟิลเลอร์ แพทย์จะฉีดสารเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อทำให้ผิวตึงและรอยแผลเป็นดูจางลง เช่น พวกคอลลาเจนหรือไขมัน แต่เป็นการรักษาที่คงอยู่เพียงชั่วคราวและสารเหล่านั้นก็จะสลายไป หากรักษาด้วยวิธีนี้ต้องไปฉีดฟิลเลอร์เป็นระยะ ๆ ผลข้างเคียง คือ อาจเกิดการบวม แดง หรือรอยช้ำเป็นจ้ำเลือดบริเวณผิวหนังได้
- การผลัดเซลล์ผิวเป็นการใช้กรดที่มีความเข้มข้นสูงในการขัดผิวทั้งเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้ว และบริเวณชั้นผิวหนังที่ลึกลงไปที่เป็นรอยแผลเป็น
- การทำเลเซอร์ (Laser Resurfacing) เพื่อกำจัดเซลล์ผิวเก่าที่ไม่พึงประสงค์บริเวณที่เกิดรอยแผลเป็น และเป็นการกระตุ้นให้ผลัดเซลล์ผิวใหม่
- การฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์ผิวเก่า และกระตุ้นชั้นผิวหนังให้สร้างเซลล์ผิวใหม่ วิธีนี้จะใช้เวลาในการทำน้อยกว่าวิธีอื่น แต่ต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น
- การกรอผิว จะช่วยรักษารอยแผลเป็นที่รุนแรงด้วยการใช้เครื่องกรอซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ในการขัดเอาเซลล์ผิวเก่าที่เสียและตายแล้วบริเวณรอยแผลเป็นออกไป หลังจากกรอเอาผิวที่เป็นรอยแผลเป็นออกไปแล้ว ผิวบริเวณนั้นก็จะกลมกลืนกับผิวบริเวณโดยรอบ
- การทำศัลยกรรมผิวหนัง โดยแพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อบริเวณหลุมสิวหรือแผลเป็นที่เกิดจากสิวออกไป แล้วเย็บหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่แทนที่