การรักษา ริดสีดวง
โรคริดสีดวงทวารสามารถรักษาได้หลายวิธี โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองที่บ้านก่อนในขั้นแรกควบคู่ไปกับการใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด คัน หรือเจ็บบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับชนิดของโรคริดสีดวงทวารว่าเกิดขึ้นภายในหรือภายนอก
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวาร
การดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมบางอย่างสามารถช่วยบรรเทาอาการจากโรคริดสีดวงทวารได้ เช่น
รับประทานอาหารที่มีกากใย
ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มมากขึ้น เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืช จะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ถ่ายออกได้ง่าย และบรรเทาอาการปวดให้ลดลงขณะถ่าย
รับประทานยาระบาย
การรับประทานยาระบายหรือยากลุ่มที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม เช่น ยามิลค์ออฟแมกนีเซีย (Milk of Magnesia) หรือยาระบายแมกนีเซีย โดยตัวยาจะช่วยดึงน้ำเข้าสู่ลำไส้ จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
แช่น้ำอุ่น
การแช่น้ำอุ่นเป็นประจำเพื่อลดอาการเจ็บปวดบริเวณทวารหนักจะช่วยบรรเทาอาการจากริดสีดวงทวารได้ โดยแช่ก้นลงในน้ำอุ่นประมาณ 10–15 นาที วันละ 2–3 ครั้ง
ดูแลความสะอาดบริเวณที่เป็นริดสีดวงอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวารควรดูแลบริเวณที่เป็นริดสีดวงอย่างสม่ำเสมอ และพยายามไม่ให้เกิดความเปียกชื้น เมื่อต้องทำความสะอาดผิวบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร ควรใช้น้ำอุ่นหรือทิชชู่เปียกแบบไร้แอลกอฮอล์หรือน้ำหอม ซึ่งมีความอ่อนนุ่มกว่ากระดาษทิชชู่ธรรมดา
หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือน้ำหอมในการทำความสะอาด รวมถึงการใช้กระดาษทิชชู่ที่อาจสร้างความระคายเคืองได้
ประคบเย็น
หากมีอาการบวมบริเวณริดสีดวงทวาร ผู้ป่วยอาจทำการประคบเย็นร่วมด้วย
ใช้ยากลุ่มสารสกัดจากฟลาโวนอยด์
ฟลาโวนอยด์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของหลอดเลือด จึงสามารถช่วยลดอาการอักเสบของแผลริดสีดวงได้ ตัวอย่างสารสกัดจากฟลาโวนอยด์ที่ใช้รักษาริดสีดวงทวาร เช่น สารสกัดไดออสมิน (Diosmin) 450 มิลลิกรัมผสมกับสารสกัดเฮสเพอริดิน (Hesperidin) 50 มิลลิกรัม
โดยสารสกัดดังกล่าวสามารถใช้รักษาได้ทั้งริดสีดวงชนิดเรื้อรังและริดสีดวงชนิดเฉียบพลัน แต่จะมีระยะเวลาในการใช้แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำก่อนการใช้ และอาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีใยอาหารร่วมด้วย เพื่อช่วยให้หลอดเลือดกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น โดยมีตัวอย่างคำแนะนำในการใช้สารสกัดมีดังนี้
- ริดสีดวงชนิดเรื้อรัง
ผู้ที่มีอาการริดสีดวงชนิดเรื้อรังให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง พร้อมมื้ออาหาร
- ริดสีดวงชนิดเฉียบพลัน
ผู้ที่มีอาการริดสีดวงชนิดเฉียบพลันให้รับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหารในช่วง 4 วันแรก จากนั้นรับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง พร้อมมื้ออาหารต่อไปเป็นเวลา 3 วัน และสุดท้ายให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหาร
การรักษาริดสีดวงทวารทางการแพทย์
วิธีการรักษาริดสีดวงทวารทางการแพทย์ มีดังนี้
การใช้ยารักษาริดสีดวงทวาร
การใช้ยาเป็นการรักษาควบคู่ไปกับการดูแลตนเอง โดยรับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือคันหรือให้ทุเลาลง
นอกจากนี้ยังมียาทาในรูปแบบครีมหรือยาเหน็บทวาร ซึ่งจะมีส่วนผสมของยาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือยาชาที่มีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวดและคันได้เป็นอย่างดี แต่ควรระวังการใช้ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์นานเกินกว่า 1 สัปดาห์โดยไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะตัวยาอาจส่งผลให้ผิวบางลงได้
การใช้ยางรัด (Rubber Band Ligation)
การใช้ยางรัดเป็นวิธีรักษาโรคริดสีดวงชนิดภายในที่มีเลือดออกในระดับไม่รุนแรง โดยแพทย์จะใช้ยางเล็ก ๆ รัดรอบฐานของริดสีดวงทวารเพื่อตัดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น ทำให้ริดสีดวงทวารเกิดการฝ่อและแห้งภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดเลือดออกหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นได้
การฉีดยา (Sclerotherapy)
การฉีดยาจะเป็นการฉีดสารละลายเข้าในเส้นเลือดบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร เพื่อให้หลอดเลือดเกิดการตีบและหดตัวกลับเข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดเล็กน้อยขณะฉีดยา
การจี้ริดสีดวงทวาร
การจี้ริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ อินฟราเรด หรือเครื่องจี้ไฟฟ้า (Bipolar Coagulation) เป็นวิธีเฉพาะที่ใช้รักษาริดสีดวงทวารชนิดภายในที่มีขนาดเล็กและเลือดออกโดยการใช้ความร้อนหรือเลเซอร์จี้ไปที่หัวริดสีดวงทวาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษา
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีใช้การรักษาโรคริดสีดวงทวารที่อยู่ในระยะรุนแรง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดเอาริดสีดวงออก (Hemorrhoidectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่แพทย์จะผ่าเพื่อเลาะเอาเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารออก เป็นวิธีที่ให้ผลการรักษาได้ดีและมีโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำน้อย แต่อาจมีผลข้างเคียง อาจทำให้ปัสสาวะไม่ออกแล้วเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้
- การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือเย็บติด (Stapled Hemorrhoidectomy/Stapled Hemorrhoidopexy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือคล้ายเครื่องยิงลวดในการตัด เย็บ และผูกหัวริดสีดวง ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นเลือดที่จะไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวารจนให้เกิดการฝ่อและหลุดไป เหมาะสำหรับการรักษาริดสีดวงทวารชนิดภายในเท่านั้น