การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า (Depression)
การได้รับการรักษาจากแพทย์ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้า เพราะยิ่งตรวจพบได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่นั้นจำเป็นต้องทำโดยแพทย์และจิตแพทย์เท่านั้น ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีความเป็นไปได้ว่ากำลังป่วยด้วยภาวะซึมเศร้า หรือเห็นว่าบุคคลใกล้ชิดอาจกำลังป่วยด้วยภาวะซึมเศร้าจึงควรไปพบแพทย์และเพื่อรับการตรวจที่แน่ชัด และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย
โดยการตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้า แพทย์จะดำเนินการตามกระบวนการดังต่อไปนี้
การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
ในเบื้องต้น แพทย์จะใช้การตรวจร่างกายและถามคำถามเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย เพราะบางครั้งภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นอาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสุขภาพทางกายชนิดอื่นได้
แบบประเมินภาวะซึมเศร้า (Depression Screening Tests)
แพทย์จะถามคำถามเพื่อตรวจสอบภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วย โดยจะสอบถามถึงอาการในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งอาจใช้แบบสอบถามประเมินภาวะซึมเศร้า เพื่อให้แพทย์เข้าใจภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยและวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การประเมินภาวะซึมเศร้าชนิดอื่น ๆ เพื่อวัดระดับความรุนแรงของอาการโรคซึมเศร้าประกอบด้วย เช่น แบบสอบถาม PHQ–9 แบบสอบถาม BDI
การวินิจฉัยตามคู่มือ DSM–5
DSM–5 เป็นคู่มือสำหรับวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตต่าง ๆ รวมถึงโรคซึมเศร้า เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychiatric Association) ซึ่งสถานพยาบาลจะใช้คู่มือนี้วินิจฉัยอาการทางจิต
การประเมินอาการและวินิจฉัยปัญหาทางสุขภาพจิต (Psychiatric Evaluation)
วิธีนี้เป็นวิธีที่จิตแพทย์จะตรวจผู้ป่วยที่มีอาการจากภาวะซึมเศร้า เพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย และนำผลตรวจที่ได้ไปวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อตัวผู้ป่วยแต่ละคน
โดยการตรวจส่วนมากจะเป็นการถามถึงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น อาการที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ การใช้สารเสพติด สภาพแวดล้อมของสังคมที่ผู้ป่วยอยู่ พฤติกรรมการนอนหลับ พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของผู้ป่วย ประวัติการป่วยด้วยภาวะทางจิตใจของบุคคลในครอบครัว และอื่น ๆ อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละคนและดุลยพินิจของจิตแพทย์
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab Tests)
ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจปัสสาวะหรือการตรวจเลือด นับเป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัย เพื่อให้แน่ใจว่าอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด
โดยขั้นตอนนี้ แพทย์อาจตรวจหาภาวะโลหิตจาง โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนต่าง ๆ รวมถึงระดับของแคลเซียมและวิตามินดีด้วย เพราะการตรวจพบโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการแทรกซ้อนย่อมทำให้ได้รับการรักษาโรคนั้น ๆ พร้อมทั้งช่วยให้ภาวะซึมเศร้าทุเลาลงไปได้ในคราวเดียวกัน
ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีการทำงานของตับและไตผิดปกติหรือเป็นโรคอื่นด้วย แพทย์อาจตรวจผลเลือดเพื่อทดสอบสารอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย การทำงานของตับและไต
การตรวจชนิดอื่น ๆ เช่น การทำ CT scan หรือ MRT ของสมอง เพื่อแยกการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงอย่างเนื้องอกสมองออกไป หรือทำ Electrocardiogram (ECG) เพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ ทำ Electroencephalogram (EEG) เพื่อบันทึกการทำงานคลื่นไฟฟ้าของสมอง