การสวนล้างช่องคลอด คือการใช้น้ำหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ ฉีดเข้าช่องคลอด โดยบางคนอาจสวนล้างเพื่อทำความสะอาดช่องคลอดในช่วงประจำเดือนหรือหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือช่วยกำจัดกลิ่น อย่างไรก็ตาม การสวนล้างช่องคลอดอาจไม่ช่วยให้ช่องคลอดสะอาดขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างการติดเชื้ออีกด้วย
การสวนล้างช่องคลอดอาจเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะช่องคลอดสามารถผลิตตกขาวหรือสารคัดหลั่งเพื่อชะล้างหรือทำความสะอาดเลือดประจำเดือน น้ำอสุจิ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ ภายในช่องคลอดได้เอง ดังนั้น หากต้องการทำความสะอาดของช่องคลอด ควรทำความสะอาดเพียงบริเวณภายนอกของอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ต่อสุขภาพของช่องคลอดที่อาจตามมา
รู้จักความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสวนล้างช่องคลอด
ผู้หญิงหลายคนมีความเชื่อว่าการสวนล้างช่องคลอดอาจช่วยในเรื่องต่าง ๆ เช่น ช่วยทำความสะอาดช่องคลอด ช่วยกำจัดกลิ่น ช่วยล้างเลือดประจำเดือนและล้างน้ำอสุจิหลังการมีเพศสัมพันธ์ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การทำความสะอาดภายในช่องคลอดด้วยการสวนล้างอาจไม่มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดหรือช่วยในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมา อีกทั้งการสวนล้างช่องคลอดเป็นประจำอาจทำให้กรดหรือแบคทีเรียดีภายในช่องคลอดขาดความสมดุล และเพิ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น
1. การติดเชื้อในช่องคลอด
ภายในช่องคลอดมีเชื้อแบคทีเรียดีอาศัยอยู่ การสวนล้างช่องคลอดอาจชะล้างแบคทีเรียดีเหล่านั้นออกไป ซึ่งส่งผลให้สภาพแวดล้อมภายในช่องคลอดเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา และอาจนำไปสู่ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อราในช่องคลอดได้
นอกจากนี้ เมื่อเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกไป อาจทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เริม หนองใน เชื้อเอชไอวี (HIV)
2. ความผิดปกติของการตั้งครรภ์
การสวนล้างช่องคลอดมักส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ให้แก่ผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ โดยผู้ที่สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำอาจพบความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ได้หลายอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด การท้องนอกมดลูก หรือภาวะแท้ง นอกจากนี้ การสวนล้างช่องคลอดยังอาจส่งผลให้มีบุตรยากอีกด้วย
3. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID)
การสวนล้างช่องคลอดขณะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดหรือติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้เชื้อถูกดันขึ้นไป และเกิดการติดเชื้อบริเวณปากมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบได้ โดยภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นอาการอันตรายที่ควรได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
4. โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI)
การสวนล้างช่องคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ ถึงแม้ว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในอุจจาระเข้าสู่ท่อปัสสาวะ แต่การสวนล้างช่องคลอดอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ป้องกันการติดเชื้อถูกกำจัด อีกทั้งยังก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุท่อปัสสาวะ ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน
5. โรคปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)
ผู้หญิงที่สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำมักมีโอกาสในการเป็นโรคปากมดลูกอักเสบมากกว่าปกติ โดยโรคปากมดลูกอักเสบมักเกิดจากการสวนล้างช่องคลอดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่มีส่วนผสมต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณปากมดลูก ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบของปากมดลูกได้
การทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดอย่างถูกวิธี
โดยปกติแล้ว ช่องคลอดสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดภายในช่องคลอด แต่ควรทำความสะอาดบริเวณภายนอกของช่องคลอดด้วยน้ำและสบู่สูตรอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เพราะอาจก่อให้เกิดระคายเคืองได้
โดยการทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดหรือบริเวณอวัยวะเพศหญิง ควรทำเป็นประจำทุกวัน ซึ่งสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้
- ใช้มือข้างหนึ่งแหวกเปิดผิวหนังบริเวณแคมนอกเบา ๆ
- ใช้น้ำล้างทำความสะอาดก่อน จากนั้นใช้สบู่ถูเบา ๆ เพื่อทำความสะอาดบริเวณภายนอกของช่องคลอด ทั้งนี้ ควรระวังไม่ให้สบู่ไหลเข้าช่องคลอด เพราะอาจเกิดอาการระคายเคืองได้
- ล้างสบู่ออกด้วยน้ำสะอาด
- ใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพื่อป้องกันความอับชื้น
นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดพื้นที่บริเวณระหว่างปากช่องคลอดและรูทวารด้วย โดยใช้น้ำและสบู่ในการทำความสะอาดจากหน้าไปหลัง หรือจากปากช่องคลอดไปยังรูทวาร เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียจากรูทวารที่อาจแพร่กระจายเข้าสู่ช่องคลอดได้
การดูแลความสะอาดของอวัยวะเพศหญิงอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตสุขภาพของช่องคลอด หากมีตกขาวผิดปกติ รู้สึกเจ็บ แสบ หรือคันภายในช่องคลอด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดก่อนไปพบแพทย์ เพราะอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยและการรักษาได้