Racism หรือการเหยียดเชื้อชาติ เป็นคำที่หลายคนคงเคยได้ยินตามสื่อกันมานาน โดยเป็นผลมาจากการแบ่งชนชั้นของคนในสังคม แต่เดิมคนผิวขาวมักเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า จึงมักกีดกันผลประโยชน์ และสร้างความเกลียดชังต่อคนที่มีเชื้อชาติหรือสีผิวต่างกับตัวเอง เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีสถานะด้อยกว่า จึงนำไปสู่พฤติกรรมการใช้คำพูดด่าทอ ล้อเลียน เหยียดหยาม ข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย
เหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติมีทั้งคนเอเชียผิวเหลืองและคนผิวดำหลายเชื้อชาติ ซึ่งถูกกดขี่และแบ่งแยกผ่านการใช้กฎหมาย และต้องเจอกับการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจเป็นเวลานาน ยิ่งไปกว่านั้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความเกลียดชังต่อกลุ่มชาวเอเชียยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะถูกเหมารวมว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา การเหยียดเชื้อชาติจึงเป็นการสร้างบาดแผลทางกายและใจให้กับเหยื่อในระยะยาว
Racism กับผลกระทบต่อสุขภาพ
เมื่อเราเผชิญกับเหตุการณ์ตึงเครียดและอันตราย สมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) จะกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นหรือที่เรียกว่า ภาวะต่อสู้หรือหลบหนี (Fight or Flight Mode)
สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น ม่านตาขยาย ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเร็วขึ้น แต่ร่างกายจะกลับสู่สภาวะปกติเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป
อย่างไรก็ตาม หากเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของระบบฮอร์โมน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยอาจทำให้ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ความจำ การนอนหลับ เกิดโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
สอดคล้องกับผลการวิจัยหนึ่งที่ระบุว่า หญิงชาวแอฟริกันอเมริกันที่เผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติในชีวิตประจำวัน อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น เช่น ไขมันส่วนเกิน ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังยังส่งผลต่อพฤติกรรมของคนที่เผชิญกับปัญหา Racism อีกด้วย เช่น ใช้สุราหรือสารเสพติด มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง บางคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก มีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนรวมที่เคยชื่นชอบ และมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น
Racism รับมืออย่างไรให้เหมาะสม
รูปแบบของ Racism ในสังคมไทยมักพบในการเหยียดหรือล้อเลียนสีผิว ซึ่งเกิดจากค่านิยมชื่นชอบคนที่มีผิวขาวซึ่งได้รับการปลูกฝังมาเป็นเวลานาน แม้ปัจจุบันการเหยียดสีผิวจะเริ่มลดลง แต่อาจพบเห็นการบูลลี่ (Bully) ได้ทั้งในชีวิตจริงและในโลกออนไลน์ การรับมือกับการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้
1. ปรับความคิดของตัวเองและตอบโต้อย่างสุภาพ
หากถูกเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวควรตอบโต้อย่างมีสติ อย่างการนิ่งเฉยเพื่อลดความรุนแรง เพราะเมื่อผู้กระทำเห็นว่าเรานิ่งเฉย อาจรู้สึกเบื่อและเลิกพฤติกรรมเหล่านั้นไปเอง หรืออาจเลือกตอบโต้อย่างสุภาพ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในการถูกเหยียด และเดินออกมาจากเหตุการณ์นั้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่และสภาพแวดล้อมที่มีการกลั่นแกล้งและคุกคาม หากถูกคุกคามผ่านโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ควรหยุดพักและทำกิจกรรมอื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับความคิดเห็นในแง่ลบที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกเหยียดเชื้อชาติไม่ควรโทษตัวเอง เพราะปัญหาเรื่อง Racism ไม่ได้เกิดจากตัวเรา การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากคนอื่นโดยกำเนิด ทั้งเชื้อชาติและสีผิว ไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ แต่เกิดจากอคติของผู้กระทำที่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้อื่น
2. ดูแลตัวเอง
การดูแลตัวเอง (Self-Care) เป็นวิธีช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจจากความเหนื่อยล้าและความเครียดในแต่ละวัน โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง
นอกจากนี้ ควรจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้น โดยอาจจะอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงสบาย ๆ ทำสมาธิ และจดบันทึกความรู้สึกของตัวเองในแต่ละวัน
3. พูดคุยกับคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ
การพูดคุยกับคนที่พร้อมรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทและคนในครอบครัว จะช่วยให้เราได้ระบายความเครียดและความไม่สบายใจได้ดีกว่าการรับมือกับปัญหาโดยลำพัง
ในกรณีที่ถูกข่มขู่และทำร้าย ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ ควรจดบันทึกและเก็บหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้งหรือคุกคาม เพื่อปรึกษาคนในครอบครัวและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป แต่หากไม่สามารถรับมือกับปัญหาด้วยตัวเอง และเกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่างนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษา
เราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหา Racism ได้โดยศึกษาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และหลักสิทธิมนุษยชนจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อเป็นกระบอกเสียงส่งต่อความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเท่าเทียมแก่คนในสังคม ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาการเหยียดเชื้อชาติได้
ผู้ปกครองควรปลูกฝังและเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติที่ถูกต้องให้ลูกตั้งแต่เด็ก สอนให้ลูกเข้าใจว่าความแตกต่างของสีผิว เชื้อชาติ เพศ และรูปลักษณ์ เป็นเรื่องปกติในสังคม ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันได้ การเหยียดผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและอาจนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น และควรสอนให้ลูกแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียอย่างระมัดระวัง
ประเด็นเรื่อง Racism ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หลายคนอาจตกเป็นเหยื่อของการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวในหลายรูปแบบ ทั้งการถูกเหยียดโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ การรณรงค์เพื่อหยุดการเหยียดเชื้อชาติต้องอาศัยความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคลและความร่วมมือกันของคนในสังคม เพื่อพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนได้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข