กำจัดขน วิธีไหนปลอดภัยและได้ผลที่สุด

การกำจัดขนที่ไม่พึงประสงค์ทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการแวกซ์ ถอน โกน ไปจนถึงเลเซอร์ขน แต่หากลองพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียหรือเทคนิคการกำจัดขนในแต่ละวิธี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ก็อาจช่วยให้เลือกวิธีกำจัดขนที่ตรงใจและเหมาะสมได้ง่ายขึ้น

กำจัดขน

ทำความรู้จักกับเส้นขน

เส้นขนพบได้ตามทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และริมฝีปาก ซึ่งแต่ละเส้นประกอบไปด้วยโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเคราติน (Keratin) เช่นเดียวกับในเล็บ โดยโปรตีนชนิดนี้จะงอกขึ้นมาจากรูขุมขนภายใต้ชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ เส้นขนแต่ละส่วนบนร่างกายมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกัน เส้นขนบนใบหน้าบริเวณแก้มหรือหน้าผากจะมีสีค่อนข้างอ่อน ขณะที่ขนตา ขนคิ้ว ขนจมูก ผม และขนตามแนวสันกรามของเพศชาย หรือขนบริเวณจุดซ่อนเร้นมักมีสีเข้มกว่า ทั้งยังมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามวัยหรือสุขภาพของแต่ละคนในช่วงนั้นได้

เส้นขนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ขนเวลลัส (Vellus Hair) เป็นขนอ่อนที่มีลักษณะสั้น บาง และสีอ่อน มักพบตามใบหน้าบางส่วน หน้าอก และหลังของผู้หญิง แต่ผู้หญิงบางคนอาจมีขนชนิดนี้สีเข้มและสังเกตเห็นได้ชัดกว่าคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีสีผิวค่อนข้างคล้ำ ซึ่งขนเวลลัสนี้มีหน้าที่รักษาอุณหภูมิของร่างกายบริเวณนั้น ๆ ให้คงที่

สำหรับขนอีกประเภทเรียกว่าขนเทอร์มินัล (Terminal Hair) มีลักษณะเส้นใหญ่ หนา และยาวกว่าขนประเภทแรก โดยทั่วไปเป็นเส้นผมบนหนังศีรษะ ขนรักแร้ หรือขนบริเวณจุดซ่อนเร้น แต่ในผู้ชายจะพบขนชนิดนี้ตามใบหน้าและร่างกายส่วนอื่นด้วย เช่น หน้า ขา หรือหลัง โดยมีหน้าที่ช่วยปกป้องผิวหนังจากการกระแทกและเสียดสี

กำจัดขนด้วยวิธีใดได้บ้าง

การกำจัดขนไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ทำเพื่อความสวยงามเป็นหลัก แต่บางกรณีอาจเป็นการรักษาความผิดปกติของขนตามร่างกาย เช่น ภาวะขนดก โรคมนุษย์หมาป่า (Hypertrichosis) ที่มีขนยาวปกคลุมทั่วทั้งตัว โรครูขุมขนอักเสบขนคุด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกำจัดขนแต่ละวิธีล้วนมีข้อดี ข้อจำกัด และผลลัพธ์หลังการทำแตกต่างกันไป โดยวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน มีดังนี้

วิธีดึงเส้นขนออกทั้งราก เป็นวิธีการกำจัดขนแบบชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วย หรือใช้แวกซ์ถอนขนออกมาทั้งเส้น ซึ่งทำได้หลายเทคนิค ดังนี้

การถอน เป็นวิธีกำจัดขนด้วยการใช้แหนบหรือที่ถอนขนดึงเส้นขนออกมาทั้งเส้น มักใช้ถอนขนเฉพาะส่วนหรือตามบริเวณที่ขนขึ้นไม่มาก การถอนควรดึงเส้นขนบริเวณโคน เพื่อไม่ให้ขาดออกจากกัน และควรเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังใช้ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ โดยผลลัพธ์หลังการทำจะคงอยู่ประมาณ 3-8 สัปดาห์ จึงจะมีเส้นขนงอกขึ้นมาใหม่

การถอนเป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และทำได้เองที่บ้าน แต่มักใช้เวลานานในแต่ละครั้ง โดยจะรู้สึกเจ็บปวดเล็กน้อยหรือบวมแดงบริเวณที่ถอนชั่วคราว รวมทั้งเสี่ยงเกิดขนคุดได้ หากดึงเส้นขนขาดจากกัน

การแวกซ์ เป็นการกำจัดขนอีกวิธีที่ช่วยถอนขนออกมาทั้งเส้น ส่วนใหญ่เป็นการแวกซ์ร้อน ซึ่งจะใช้ขี้ผึ้งอุ่น ๆ ป้ายผิวบริเวณที่ต้องการกำจัดขนและวางทับด้วยแถบผ้าขนาดเล็กด้านบน เมื่อขี้ผึ้งแห้งจึงดึงแถบผ้าออกอย่างรวดเร็ว ทำให้เส้นขนหลุดติดมากับผ้า นอกจากนี้ ยังมีการแวกซ์อีกประเภทที่เรียกว่าแวกซ์เย็น เป็นรูปแบบแผ่นแปะสำเร็จรูปพร้อมใช้งานได้ทันที โดยจะทำเองที่บ้านหรือใช้บริการตามสถานเสริมความงามก็ได้

การแวกซ์ใช้กำจัดขนได้ทุกส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ใต้วงแขน ขา หรือบริเวณจุดซ่อนเร้น ซึ่งก่อนแวกซ์ควรปล่อยให้เส้นขนยาวอย่างน้อย 6 มิลลิเมตร เพื่อช่วยให้แวกซ์ได้ง่ายและไม่ต้องทำบ่อยครั้ง โดยระยะเวลาที่ขนจะงอกขึ้นมาใหม่อยู่ที่ประมาณ 3-6 สัปดาห์ วิธีนี้ช่วยให้ผิวเรียบเนียน ขนที่ขึ้นใหม่มีลักษณะบางและไม่แข็งเหมือนการโกน แต่อาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และมักเกิดรอยแดงหรือตุ่มนูนหลังทำ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ควรหลีกเลี่ยงการแวกซ์ขนหากผิวไหม้จากการตากแดดจัด หรือกำลังใช้ยารักษาสิวบางชนิดที่มีผลให้ผิวบอบบางลง

การโกน เป็นการกำจัดขนแบบชั่วคราวโดยใช้มีดโกนหรือเครื่องโกนขนไฟฟ้า ผู้ชายนิยมใช้วิธีนี้กำจัดขนบริเวณใบหน้าหรือโกนหนวด ส่วนผู้หญิงมักโกนขนบริเวณใต้วงแขน ขา หรือบริเวณจุดซ่อนเร้น โดยควรโกนตามแนวขน และให้ผิวบริเวณนั้นเปียกเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ขนไม่แข็งจนเกินไปและโกนได้ง่ายขึ้น สำหรับการโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้นหรือบริเวณที่ผิวบอบบางนั้นควรใช้ครีมโกนขนร่วมด้วย เพื่อป้องกันการระคายเคือง

การกำจัดขนด้วยการโกนนั้นทำได้เองที่บ้านเหมือนกับการถอนหรือดึงขน มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ค่าใช้จ่ายน้อย และใช้เวลาไม่มาก แต่ขนจะขึ้นใหม่ภายใน 1-3  ทำให้ต้องโกนบ่อย ๆ นอกจากนี้ หลังโกนอาจเกิดผื่นแดง ตุ่มนูน ระคายเคืองผิว มีขนคุด เกิดรอยบาด หรือติดเชื้อจากใบมีดโกนได้

ครีมกำจัดเส้นขน เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทครีมหรือของเหลวสำหรับทาผิวหนังในบริเวณที่ต้องการกำจัดขน โดยสารเคมีในครีมจะไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนของเส้นขนที่อยู่เหนือผิวหนังให้อ่อนยุ่ยและเช็ดออกได้ง่าย ซึ่งส่วนผสมของครีมแต่ละยี่ห้อย่อมแตกต่างกันออกไป ก่อนใช้จึงควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดทุกครั้ง และหากต้องการกำจัดขนบริเวณจุดซ่อนเร้น ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุให้ใช้สำหรับส่วนนี้โดยเฉพาะ ส่วนผู้ที่มีผิวบอบบางหรือเคยมีอาการแพ้ ควรลองทดสอบก่อนใช้โดยป้ายครีมปริมาณเล็กน้อยลงบนผิวหนัง  

วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก รวดเร็ว และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ โดยขนจะขึ้นใหม่ภายใน 2-3 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ บางรายอาจเสี่ยงมีอาการแพ้ส่วนประกอบของครีม ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองหรือแสบร้อนที่ผิวหนัง  รวมทั้งอาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ที่มีขนหยาบ

เลเซอร์ เป็นวิธีกำจัดขนโดยยิงแสงเลเซอร์ไปที่ขุมขน เพื่อให้ความร้อนช่วยทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นขน ซึ่งมักได้ผลดีกับคนที่มีผิวขาวและมีเส้นขนสีดำ เนื่องจากแสงเลเซอร์จะจับเม็ดสีเมลานินในเส้นขนสีดำได้มากกว่า ทั้งนี้ เลเซอร์ที่ใช้ในทางการแพทย์มีหลายชนิด ก่อนเข้ารับการกำจัดขนด้วยวิธีนี้ควรปรึกษากับแพทย์ถึงข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

การเลเซอร์ขนเป็นวิธีที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและให้ผลระยะยาว โดยต้องเลเซอร์ใหม่ทุก 6 เดือนถึง 1 ปี หลังเลเซอร์อาจมีรอยแดงและเกิดการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบน้ำแข็ง และควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องทำหลายครั้ง อีกทั้งควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การกำจัดขนด้วยกระแสไฟฟ้า เป็นวิธีการกำจัดขนระยะยาวเช่นเดียวกับการเลเซอร์ โดยจะใช้อุปกรณ์คล้ายเข็มขนาดเล็กสอดลงไปในรูขุมขนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานและทำให้รู้สึกเจ็บปวดมาก จึงมักใช้กำจัดขนในบริเวณเล็ก ๆ  เช่น ริมฝีปากบน คิ้ว ใต้วงแขน ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง บางรายอาจมีขนขึ้นใหม่ ผิวแห้ง ผิวตกสะเก็ด และเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

การรักษาโดยใช้ยา หากวิธีกำจัดขนข้างต้นไม่ได้ผลและรู้สึกกังวลกับขนที่ขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาแทน หรือบางรายอาจใช้ยาควบคู่ไปกับการกำจัดขนวิธีอื่น โดยตัวยาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ยาอีฟลอร์นิทีน เป็นครีมทาผิวหนังที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ มีสรรพคุณช่วยให้ขนบริเวณใบหน้าของผู้หญิงเจริญเติบโตช้าลง เนื่องจากตัวยาจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ในรูขุมขนที่เป็นตัวกระตุ้นให้ขนเจริญเติบโต แพทย์มักแนะนำให้ทายาบริเวณใบหน้าที่มีขนเพียงบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง จนเส้นขนมีลักษณะบางและอ่อนลง ทั้งนี้ บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น สิวขึ้น ผิวระคายเคือง หรือกลับไปมีขนขึ้นดังเดิมหลังหยุดใช้ยา
  • ยากลุ่มต้านฮอร์โมนเพศชาย เช่น ยาสไปโรโนแลคโตน เป็นยาช่วยลดการเจริญเติบโตของเส้นขนที่ไม่พึงประสงค์ของผู้หญิง โดยตัวยาจะยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน ทำให้ขนขึ้นน้อยลง แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้ควบคู่กับยาคุมกำเนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

กำจัดขนด้วยวิธีไหนได้ผลลัพธ์ดีที่สุด

การกำจัดขนด้วยวิธีต่าง ๆ มักให้ผลลัพธ์ในระยะสั้น ไม่นานขนก็งอกใหม่และยาวขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันไปตามแต่ละวิธี หากเป็นการกำจัดขนด้วยการใช้ไฟฟ้าและเลเซอร์อาจช่วยกำจัดขนได้นานกว่า อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีกำจัดขนขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนบุคคลเป็นหลัก แต่อย่างน้อยควรเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากเกินไปหรือผลข้างเคียงร้ายแรงตามมา ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อดี ข้อจำกัด และความปลอดภัยของวิธีกำจัดขนให้ถี่ถ้วนเสียก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำ โดยอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่สุด