กุยช่าย คุณค่าทางอาหารและสรรพคุณบำรุงร่างกาย

กุยช่าย ผักกลิ่นหอมที่สามารถกินสด ๆ เป็นเครื่องเคียง และนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นผัดกุยช่าย ขนมกุยช่าย หรือกุยช่ายทอด แต่รู้หรือไม่ว่า กุยช่ายยังถูกนำมาใช้เพื่อสรรพคุณทางยามาแต่โบราณกาลด้วย เช่น เพิ่มความต้องการทางเพศ ป้องกันโรคหลอดเลือด รักษาเบาหวาน บำรุงตับ เป็นต้น

1697 กุยช่าย rs

หลายคนมักสับสนระหว่างกุยช่ายกับต้นหอม เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ใบกุยช่ายจะมีลักษณะแบนกว่า และมีดอกเล็ก ๆ สีขาวอยู่ตรงปลาย ซึ่งสามารถนำไปกินได้เช่นกัน

สารอาหารในกุยช่าย

กุยช่ายเป็นพืชที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ ทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • วิตามินเอ มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโต
  • วิตามินซี จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอภายในร่างกาย
  • วิตามินเค ช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันภาวะมีเลือดออกได้ง่าย
  • แมงกานีส ช่วยในการทำงานของสมองและระบบประสาท
  • โพแทสเซียม ช่วยในการรักษาระดับความดันโลหิต
  • แมกนีเซียม จำเป็นต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ หัวใจ ระบบประสาท และช่วยให้กระดูกแข็งแรง
  • กากใยอาหาร ดีต่อระบบขับถ่าย ช่วยป้องกันปัญหาท้องผูก

กุยช่าย กับความเชื่อด้านสรรพคุณบำรุงสุขภาพ

แม้สรรพคุณทางยาของกุยช่ายจะเป็นที่กล่าวถึงตามตำรับยาจีน และถูกนำมาใช้บำรุงสุขภาพตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืชชนิดนี้ในปัจจุบันก็ยังมีจำนวนน้อย โดยคุณประโยชน์ของกุยช่ายที่พอจะมีการพิสูจน์ให้เห็น มีดังนี้

เพิ่มความต้องการทางเพศ ตามตำรับยาจีน กุยช่ายถูกใช้เพื่อเสริมความต้องการทางเพศและรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งในช่วงหลังมานี้มีงานวิจัยบางส่วนที่กล่าวสนับสนุนว่ากุยช่ายอาจมีคุณสมบัติด้านนี้จริง

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองให้หนูตัวผู้กินสารสกัดจากเมล็ดกุยช่าย ผลลัพธ์พบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้ทั้งหนูที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศและหนูที่มีสมรรถภาพทางเพศเป็นปกติ เช่นเดียวกับการทดลองอีกชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่พบว่าหนูตัวผู้และตัวเมียที่กินสารสกัดจากกุยช่ายมีความตื่นตัวทางเพศมากขึ้น

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากกุยช่ายอาจเป็นตัวเลือกทางธรรมชาติที่มีประโยชน์และปลอดภัยต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกมาก เนื่องจากงานวิจัยที่มีในปัจจุบันล้วนทดสอบกับหนูทดลอง และยังไม่อาจยืนยันได้ว่าหากนำมาใช้กับคนจะให้ผลลัพธ์ในแบบเดียวกัน

ป้องกันโรคหลอดเลือด นักวิจัยสันนิษฐานว่ากุยช่ายอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมีประโยชน์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต เนื่องจากมีการศึกษาในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัดกุยช่ายหยดลงบนเซลล์หลอดเลือดที่ทำงานผิดปกติ พบว่าสารสกัดกุยช่ายมีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบที่เกิดจากโรคหลอดเลือด และอาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งในระยะเริ่มต้นได้ ทว่างานวิจัยนี้ไม่ได้ให้ผู้ป่วยโรคนี้กินสารสกัดดังกล่าวโดยตรง จึงยากจะยืนยันได้ว่ากุยช่ายมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจริงหากนำไปใช้กับคน

ต้านเบาหวานและภาวะพิษต่อตับ สรรพคุณต่อสุขภาพอีกหนึ่งอย่างของกุยช่ายที่มีงานวิจัยค้นพบ คือ อาจช่วยต้านโรคเบาหวานและภาวะพิษต่อตับ โดยนักวิจัยคาดว่าอาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของกุยช่าย แต่งานวิจัยดังกล่าวทดลองกับหนูที่เป็นเบาหวาน จึงยังไม่อาจให้ข้อสรุปที่แน่ชัดได้จนกว่าจะมีการค้นคว้าและผลการทดลองที่น่าเชื่อถือต่อไปในอนาคต

กินกุยช่ายอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่สุด ?

เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ควรเลือกซื้อและเก็บถนอมกุยช่ายสดตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกซื้อกุยช่ายจากแหล่งขายที่มั่นใจได้ว่าสะอาดและปราศจากสารพิษเจือปน โดยล้างกุยช่ายให้สะอาดก่อนนำมาประกอบอาหารทุกครั้ง
  • เลือกกุยช่ายที่มีใบสีเขียวและดูสดใหม่ มีดอกกุยช่ายเล็ก ๆ ที่ยังตูมอยู่บริเวณปลายใบ หากดอกกุยช่ายบานแล้วแสดงว่าแก่เกินไป
  • หลีกเลี่ยงกุยช่ายที่ใบเหี่ยวแห้ง ใบลีบ หรือมีกลิ่นเน่าเสีย
  • เก็บกุยช่ายไว้ในช่องแช่ผักผลไม้ โดยใช้กระดาษหรือกระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ห่อกุยช่ายแล้วใส่ในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เก็บรักษากุยช่ายไว้ได้นานถึง 3 วัน

ข้อควรระวังในการใช้กุยช่ายเพื่อประโยชน์ทางการรักษา

การกินกุยช่ายในปริมาณของอาหารทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่หากกินมากเกินไปอาจทำให้ท้องเสียได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ต้องให้นมบุตรก็กินผักชนิดนี้ได้ตามปกติ ทว่าควรหลีกเลี่ยงการกินในปริมาณที่มากเกินไปหรือการใช้เป็นยา เพราะยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันความปลอดภัยได้อย่างแน่ชัดหากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการรักษา และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากต้องการทดลองใช้กุยช่ายเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงสุขภาพ