ก้นลาย แก้ได้ ไม่ยาก

ก้นลาย (Butt Stretch Marks) คือ รอยแตกบริเวณก้นที่เกิดขึ้นจากการยืดและหดตัวของผิวหนัง เริ่มแรกอาจมีสีแดงชมพู หรือสีน้ำตาล และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีที่สว่างกว่าสีผิวปกติ มีลักษณะเป็นรอยบาง ยาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น หน้าท้อง หน้าอก แขนช่วงบน ต้นขา ไหล่ เป็นต้น ก้นลายรวมถึงรอยแตกที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่มักจะสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่มีรอยแตกเองหรือผู้พบเห็น

ก้นลาย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาก้นลาย

ก้นลายมีสาเหตุมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของผิวหนัง เนื้อเยื่อในชั้นผิวหนังแท้ยืดที่มากเกินไปหรือเกิดการฉีกขาด ทำให้เส้นเลือดในชั้นผิวหนังเด่นชัดขึ้นมา จึงมองเห็นรอยแตกในช่วงแรกเป็นสีแดงชมพู หรือสีม่วง เมื่อเส้นเลือดหดตัวลงร่วมกับชั้นไขมันใต้ผิวหนังทำให้รอยแตกเปลี่ยนเป็นสีขาวในที่สุด ก้นลายเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การเจริญเติบโต ในวัยเด็ก เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น โดยในเด็กผู้ชายอาจมีรอยแตกที่บริเวณหลังหรือไหล่ร่วมด้วย และในเด็กผู้หญิงอาจมีรอยแตกที่บริเวณหน้าอก สะโพก หรือต้นขาร่วมด้วย
  • น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้นลายอาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ร่างกายมีน้ำหนักเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็วหรือในช่วงเวลาอันสั้น รวมถึงนักเพาะกายและนักกีฬาก็สามารถเกิดรอยแตกตามร่างกายได้เนื่องจากขนาดของมัดกล้ามเนื้อที่เปลี่ยนแปลงไป
  • การตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนที่ผลิตออกมาเพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มและความยืดหยุ่นให้กับเอ็นบริเวณกระดูกเชิงกรานและผิวหนัง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาก้นลายและรอยแตกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายขยายใหญ่ขึ้น เช่น หน้าท้อง หน้าอก ต้นขา เป็นต้น
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาแก้อักเสบที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ยารับประทานชนิดเม็ด สเปรย์พ่นทางจมูกหรือปาก ยาที่ใช้ฉีดเข้าร่างกาย รวมถึงชนิดทาตามผิวหนังชนิดเจล ครีม หรือโลชั่น นอกจากจะใช้เพื่อรักษาอาการอักเสบแล้ว ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ยังส่งผลข้างเคียงทำให้คอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนช่วยรักษาความยืดหยุ่นในชั้นผิวหนังมีปริมาณลดลงอีกด้วย  
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มอาการคุชชิ่ง (Cushing's Syndrome) ซึ่งร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรืออาการมาแฟนซินโครม (Marfan Syndrome) ที่เป็นผลมาจากความผิดพลาดของยีน (Gene) ซึ่งเป็นหน่วยที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม ทำให้ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อและผิวหนังลดลง มักทำให้เกิดรอยแตกร่วมด้วยที่บริเวณไหล่ สะโพก และเอว
  • กรรมพันธุ์ หากพบว่ามารดามีปัญหาก้นลายหรือรอยแตกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สมาชิกคนอื่นในครอบครัวก็มีแนวโน้มที่จะพบปัญหาก้นลายและรอยแตกได้เช่นเดียวกัน ก้นลายเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ แต่จะพบในเพศหญิงได้มากกว่า

วิธีการรักษาปัญหาก้นลาย

ก้นลายหรือรอยแตกที่อยู่ในช่วงที่มีลักษณะเป็นสีแดงชมพู มีแนวโน้มที่รักษาให้จางลงได้มากกว่า วิธีการรักษาแบ่งได้ 2 วิธี คือ การรักษาด้วยตนเอง และการรักษาทางการแพทย์ ปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยตนเอง จะเป็นการรักษาที่ทำเองได้ที่บ้าน เน้นการเพิ่มความนุ่ม ความชุ่มชื่น และกระตุ้นคอลลาเจนให้ผิวหนังด้วยการทาครีม เจล หรือโลชั่น โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังต่อไปนี้

  • เทรติโนอิน (Tretinoin) จะประกอบไปด้วยเรตินอยด์ (Retinoid) อาจช่วยทำให้รอยแตกจางลงได้ และยังใช้ในการรักษารอยเหี่ยวย่นได้อีกด้วย แต่หากใช้ในปริมาณที่มากหรือบ่อยเกินกว่าที่ฉลากกำหนดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผิวแดง แห้ง หรือลอก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ และไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร เพราะยาอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและส่งผลต่อทารกได้
  • สารสกัดจากเมล็ดลูพิน (Lupin Seed Extracts) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนที่ชั้นผิวหนัง
  • สารสกัดจากใบบัวบก (Centella Asiatica Extracts) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มคอลลาเจนและสร้างเนื้อเยื่อที่ชั้นผิวหนัง และยังนำไปใช้สมานแผลได้
  • สารสกัดจากหอมหัวใหญ่ (Onion Extract) และกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่ารอยแตกจางลงหลังใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่องนาน 12 สัปดาห์
  • น้ำมันอัลมอนด์ขม (Bitter Almond Oil) ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่าการใช้น้ำมันอัลมอนด์ขมนวดที่ผิวหนังในขณะตั้งครรภ์ทำให้พบรอยแตกได้น้อยกว่าผู้ที่ใช้น้ำมันอัลมอนด์ขมเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีการนวดร่วมด้วย
  • น้ำมันมะกอก โกโกบัตเตอร์ เชียบัตเตอร์ และวิตามินอีออยล์ เป็นผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่อาจช่วยเพิ่มความนุ่มชุ่มชื่นให้กับผิวหนังได้

การรักษาทางการแพทย์ ยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่ช่วยรักษาปัญหาก้นลายให้หายสนิทได้ ในปัจจุบันจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนให้ผิวหนัง อาจต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเลือกรักษาได้หลายวิธีดังต่อไปนี้

  • การรักษาด้วย Pulsed Dye Laser เพื่อจัดการกับหลอดเลือดใต้ผิวหนังที่เป็นรอยแตก การรักษาด้วยวิธีนี้มักไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทิ้งรอยที่ผิวหนังได้
  • การรักษาด้วย Fractional CO2 Laser ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่ารอยแตกจางลงหลังรักษาด้วยวิธีนี้เป็นจำนวน 5 ครั้งอย่างต่อเนื่อง
  • การรักษาด้วย Microdermabrasion เป็นเทคนิคการกรอหน้าด้วยเกร็ดอัญมณี ผลจากงานศึกษาวิจัยงานหนึ่งพบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้ร่วมกับการผลัดเซลล์ผิวจะช่วยให้รอยแตกที่มีลักษณะเป็นสีแดงชมพูจางลงได้

ทั้งนี้ในการรักษาบางวิธียังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งอาจจะไม่เห็นผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ลักษณะรอยแตก หรือลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคล เป็นต้น

แนวทางการป้องกันปัญหาก้นลาย

ก้นลายป้องกันไม่ได้ แต่ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาก้นลายได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • การรับประทานอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย ไม่ควรเพิ่มหรือลดน้ำหนักตัวอย่างเร่งด่วนหรือในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักไม่ควรลดน้ำหนักมากกว่า 0.5 กิโลกรัมในเวลาหนึ่งสัปดาห์ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี สังกะสี และซิลิคอน เช่น ส้ม พริก สตรอว์เบอร์รี่ แบล็กเคอร์แรนท์ บร็อกโคลี่ กะหล่ำดาว ถั่ว เป็นต้น เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้ผิวหนังและร่างกาย
  • การเลือกรับประทานอาหารในช่วงการตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารที่หลายหลายและไม่จำเจ เพื่อรักษาสมดุลของสารอาหารในร่างกายของมารดาและทารก โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน ขนมปัง รวมถึงผลไม้และพืชผักชนิดต่าง ๆ