ก้อนใต้รักแร้อาจเป็นเรื่องน่ากังวลใจสำหรับหลายคน โดยอาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็กไปจนถึงก้อนขนาดใหญ่ใต้ผิวหนังบริเวณรักแร้หรือบริเวณเนื้อส่วนเกินใต้รักแร้ บางคนอาจมีอาการปวดบวมร่วมด้วย ก้อนใต้รักแร้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวม การสะสมของเนื้อเยื่อไขมัน และฝี เป็นต้น
ก้อนใต้รักแร้พบได้ทั้งเพศชายและหญิง ซึ่งโดยส่วนมากมักยุบลงเองภายในเวลาไม่นานโดยไม่เป็นอันตราย แต่กรณีที่ก้อนใต้รักแร้เกิดจากการติดเชื้อและมะเร็ง ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมกับแพทย์
อาการที่พบเมื่อมีก้อนใต้รักแร้
ก้อนใต้รักแร้มีขนาดตั้งแต่เล็กเท่าเมล็ดถั่ว ไปจนถึงใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ อาจเป็นก้อนนิ่มหรือแข็ง บางครั้งอาจกลิ้งไปมาใต้ผิวหนังเมื่อใช้มือกด สามารถขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย และอาจยุบลงเมื่ออยู่นิ่ง ๆ
นอกจากนี้ ก้อนใต้รักแร้อาจบวมแดง มีหนอง รู้สึกอุ่นและเจ็บ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีอาการ และหากเกิดการติดเชื้ออาจทำให้มีหนองไหลออกจากก้อนใต้รักแร้ และทำให้มีไข้ร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนใต้รักแร้
ก้อนใต้รักแร้อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ต่อมน้ำเหลืองโต
ต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ใต้รักแร้ คอ หลังหู และขาหนีบ ภายในต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการที่เชื้อโรค เช่น ไวรัสและแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองจะดักจับเชื้อโรคเอาไว้ภายในและทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมและโตขึ้น
นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต มีดังนี้
- การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหรือเส้นประสาทแขน ซึ่งอาจเกิดจากการยืดของกล้ามเนื้อมากเกินไป และการถูกชนหรือกระแทกอย่างแรงบริเวณต้นแขน
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE)
- โรคภูมิแพ้ เช่น การแพ้ยา และสารในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวใต้วงแขน
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) และชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)
2. ปัญหาเกี่ยวกับรูขุมขน
ปัญหาเกี่ยวกับเส้นขนและรูขุมขนบริเวณรักแร้อาจทำให้เกิดการอักเสบและมีก้อนใต้รักแร้ เช่น
- การอักเสบของต่อมเหงื่อ (Hidradenitis Suppurativa) ทำให้เกิดตุ่มนูนแดง และรู้สึกเจ็บ มักเกิดบริเวณซอกพับตามร่างกาย เช่น รักแร้ หน้าอก และขาหนีบ
- ฝี และฝีฝักบัว (Carbuncle) เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน พบบ่อยบริเวณรักแร้ หากเกิดการอักเสบรุนแรงจะเกิดเป็นฝี ซึ่งเป็นตุ่มแข็งที่มีหนองสะสมอยู่ภายใน และหากเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะเกิดเป็นฝีหลายหัวขึ้นเป็นกลุ่ม เรียกว่าฝีฝักบัว
- ซีสต์ (Cysts) ซึ่งเป็นถุงน้ำ ภายในมักประกอบด้วยน้ำหรือไขมัน เช่น ซึสต์ไขมันใต้ผิวหนัง (Epidermal Inclusion cyst) และซีสต์ที่เกิดบริเวณรูขุมขน (Pilar Cysts)
- รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) จากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้เกิดตุ่มแดงหรือตุ่มหนองขนาดเล็กบริเวณรูขุมขน ทำให้มีอาการคัน แสบร้อน และอาจบวมขึ้นได้
- ขนคุด เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน ทำให้เส้นขนไม่สามารถขึ้นมาบนชั้นผิวหนังได้ตามปกติ ทำให้เกิดตุ่มนูนที่รูขุมขน และผิวบริเวณนั้นแห้งหยาบ
3. เนื้องอกไขมัน (Lipoma)
เนื้องอกไขมันเกิดจากการที่เนื้อเยื่อไขมันสะสมและเจริญเติบโตใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นก้อนนูนนิ่ม กดแล้วสามารถขยับไปมาใต้ผิวหนังได้ โดยอาจเกิดจากกรรมพันธุ์และโรคทางพันธุกรรม เนื้องอกไขมันมักเกิดขึ้นที่คอ ไหล่ รักแร้ และแขน เป็นต้น โดยปกติแล้วไม่เป็นอันตราย แต่ในบางกรณีอาจมีขนาดใหญ่จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
4. มะเร็งเต้านม
โดยปกติแล้ว ก้อนใต้รักแร้มักไม่ได้เกิดจากโรคมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ก้อนมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ทำให้เกิดก้อนนูนแข็งใต้รักแร้ นอกจากนี้ ก้อนใต้รักแร้อาจเกิดจากเนื้องอกบริเวณเต้านมส่วนเกินที่ใต้รักแร้ได้
ผู้หญิงควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือนในช่วง 2–3 วันแรกหลังประจำเดือนหมด ซึ่งจะตรวจได้อย่างแม่นยำที่สุด หากคลำพบก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
5. สาเหตุอื่น ๆ
นอกจากสาเหตุข้างต้น ก้อนใต้รักแร้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การระคายเคืองผิวจากการโกนขนรักแร้ ผื่นคัน แผลพุพอง (Impetigo) ติ่งเนื้อใต้รักแร้ เต้านมอักเสบ (Mastitis) และผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด-19
แนวทางการรักษาก้อนใต้รักแร้
การรักษาก้อนใต้รักแร้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ บางครั้งก้อนใต้รักแร้อาจยุบลงได้เองโดยไม่ต้องรักษา โดยเราสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ก้อนให้ก้อนรักแร้หายไป แต่หากก้อนใต้รักแร้ไม่หายไป หรือมีอาการรุนแรงขึ้น อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
การดูแลตัวเอง
ผู้ป่วยควรสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการโกนขนรักแร้ และการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับใต้วงแขนขณะที่มีก้อนใต้รักแร้ ทำความสะอาดรักแร้ด้วยสบู่ที่อ่อนโยน และประคบอุ่นวันละ 2–3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดและบวม
หากมีอาการปวดอาจรับประทานยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณก้อนใต้รักแร้ที่หาซื้อได้เอง เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน
ผู้ที่มีอาการแพ้ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่และครีมทาผิวบริเวณรักแร้ ซึ่งอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น และหากมีอาการแพ้ยาที่ใช้อยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับปริมาณหรือเปลี่ยนตัวยาตามดุลพินิจของแพทย์
การรักษาโดยแพทย์
หากก้อนใต้รักแร้ไม่ยุบลงหลังจากดูแลตัวเอง แพทย์อาจรักษาเพิ่มเติมตามสาเหตุของอาการที่ตรวจพบ เช่น
- ก้อนใต้รักแร้ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องนอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ
- ก้อนใต้รักแร้ที่เกิดจากการอักเสบของต่อมเหงื่อ แพทย์อาจให้ทาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะ รับประทานยาฮอร์โมน ฉีดสเตียรอยด์ รวมทั้งการเลเซอร์ และการผ่าตัดระบายหนองออก
- หากผู้ป่วยมีขนคุดบริเวณใต้รักแร้บ่อย ๆ แพทย์อาจแนะนำให้เลเซอร์ขนรักแร้ เพื่อกำจัดขนรักแร้และขนคุดใต้ผิวหนัง และทำให้เส้นขนขึ้นช้าลง
- ก้อนใต้รักแร้ที่เกิดจากเนื้องอกไขมันและซีสต์ อาจรักษาด้วยการเจาะหรือดูดของเหลวที่อยู่ภายในหรือผ่าตัดเอาก้อนใต้รักแร้ออก
- ก้อนใต้รักแร้ที่เกิดจากมะเร็ง แพทย์จะใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน เช่น เคมีบำบัด ฉายแสง และผ่าตัด
หากก้อนใต้รักแร้ไม่ยุบลงภายใน 2 สัปดาห์ มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ไม่กลิ้งไปมาใต้ผิวหนัง มีขนาดใหญ่ขึ้น รูปร่างเปลี่ยนไป มีอาการปวด หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัดออกไปแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หากตรวจพบเร็วจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีก้อนใต้รักแร้พร้อมกับน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งที่ควรไปพบแพทย์ และหากมีก้อนใต้รักแร้ร่วมกับอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว และมีหนองไหลออกจากก้อนใต้รักแร้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที