ขริบหนังหุ้มปลาย เป็นอย่างไร ดีจริงไหม

ขริบหนังหุ้มปลาย (Circumcision) เป็นการผ่าตัดนำผิวหนังที่หุ้มปลายอวัยวะเพศชายออก โดยหลัก ๆ แล้ววิธีนี้จะทำเพื่อช่วยรักษาผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปิดหนังหุ้มปลาย หนังหุ้มปลายโป่งพองขณะปัสสาวะ หรือมักพบการสะสมของคราบขี้เปียกใต้หนังหุ้มปลาย 

บางคนอาจเข้าใจว่าการขริบหนังหุ้มปลายจะทำเฉพาะในเด็กแรกเกิด แต่อันที่จริงแล้ววิธีนี้สามารถทำได้ในทุกวัย เช่น เด็กโตบางคนที่หนังหุ้มปลายมีปัญหาแต่ไม่ได้ขริบตอนเด็กก็อาจมารับการขริบในวัยนี้ได้ ทั้งนี้ การขริบมักทำในเด็กวัยที่เริ่มโต หรือวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากปัญหาเปิดหนังหุ้มปลายไม่ได้ในเด็กบางคนอาจหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขริบ

ขริบหนังหุ้มปลาย

ทำไมจึงต้องขริบหนังหุ้มปลาย 

สาเหตุในการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีอยู่หลายอย่าง เช่น หนังหุ้มปลายแน่นเกินไปที่จะดึงกลับ หรือบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางอนามัยก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์

นอกจากนั้น การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้ดูแลสุขอนามัยได้ง่าย เนื่องจากสามารถทำความสะอาดได้สะดวกขึ้น
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบโดยปกติ ผู้ชายมีความเสี่ยงน้อยในการเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่จะพบมากในผู้ชายที่ไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลาย ซึ่งการติดเชื้อที่รุนแรงอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเกี่ยวกับไตในภายหลังได้
  • ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดของอวัยวะเพศชาย ในบางรายที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตีบ เปิดไม่ได้ (Phimosis) อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่หนังหุ้มปลายหรือที่ปลายอวัยวะเพศ
  • ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งองคชาต แม้ว่ามะเร็งอวัยวะเพศชายจะพบได้น้อยมาก แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยลงไปอีกในผู้ชายที่มีการขริบหนังหุ้มปลาย นอกจากนั้น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีการขริบหนังหุ้มปลาย ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าปกติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายไม่เหมาะกับผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด และไม่เหมาะกับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดที่ยังต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล รวมไปถึงเด็กที่มีความผิดปกติของอวัยวเพศ เช่น ภาวะที่ท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ (Hypospadia)

ขั้นตอนการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการขริบเป็นเด็ก แพทย์จะให้เด็กงดรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มก่อนทำการขริบ เมื่อถึงเวลาผ่าตัดแพทย์จะให้ยาสลบ จากนั้นจะผ่าตัดหนังหุ้มปลายออก เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะเย็บแผลและพันแผลผ่าตัดด้วยผ้าพันแผล

ส่วนในกรณีที่ผู้เข้ารับการขริบเป็นผู้ใหญ่ ขั้นตอนต่าง ๆ ก็จะคล้ายกันกับของเด็ก แต่อาจใช้เพียงการฉีดยาชาเฉพาะที่แทนการใช้ยาสลบ และมักต้องทำการเย็บแผลร่วมด้วยเพื่อให้เลือดหยุดไหล

การดูแลหลังการขริบหนังหุ้มปลาย

หลังจากที่ขริบหนังหุ้มปลายเรียบร้อยแล้ว โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 7–10 วัน ในการฟื้นตัว โดยบริเวณปลายอวัยวะเพศจะมีอาการเจ็บแสบและมีอาการบวมแดงหรือช้ำในช่วงต้น นอกจากนั้นอาจสังเกตเห็นคราบสีเหลืองที่บริเวณปลายของอวัยวะเพศ

ในขณะที่กำลังฟื้นฟูรักษาอยู่นั้น สามารถทำความสะอาดได้ตามปกติ โดยสำหรับทารกควรเปลี่ยนผ้าพันแผลทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อมพร้อมกับทาปิโตรเลียมเจลลี่ที่ปลายอวัยวะเพศเพื่อไม่ให้ติดผ้าอ้อม รวมถึงควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยครั้งและใส่แบบหลวม ๆ และเมื่อแผลหายเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็สามารถล้างทำความสะอาดด้วยสบู่และน้ำในขณะอาบน้ำได้ตามปกติ

สำหรับผู้ใหญ่ ให้เลือกสวมชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไปประมาณ 2–3 วัน เพื่อป้องกันแผลเกิดการระคายเคือง และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนอย่างน้อยในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด 

นอกจากนี้ ควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังผ่าตัด เช่น ไข้ขึ้น ปัสสาวะลำบากหรือไม่ปัสสาวะภายใน 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัด บวมและปวดรุนแรง พบหนองหรือน้ำเหลือง มีเลือดออกมาก แผลมีกลิ่นเหม็นเน่า 

ความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการขริบหนังหุ้มปลาย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดจากการขริบหนังหุ้มปลายคือ การมีเลือดออก การติดเชื้อ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยาสลบนอกจากนั้น ในบางครั้งยังอาจเกิดปัญหากับหนังหุ้มปลาย เช่น

  • หนังหุ้มปลายอาจถูกขริบออกสั้นเกินไปหรือยาวเกินไป
  • หนังหุ้มปลายอาจฟื้นฟูได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • หนังหุ้มปลายอาจกลับไปยึดติดใหม่ ซึ่งอาจต้องได้รับการผ่าตัดอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดกับการขริบหนังหุ้มปลายจะพบได้ไม่บ่อยนัก โดยปัญหาหลักส่วนใหญ่จะเกิดในระยะสั้นคือ มีเลือดออกหรือซึมจากการผ่าตัด มีการติดเชื้อจากการขริบหนังหุ้มปลายหรือรูท่อปัสสาวะ หรือเกิดความระคายเคืองที่ส่วนปลายของอวัยวะเพศชายจากการสัมผัสกับปัสสาวะ

ส่วนปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะยาว ได้แก่ ท่อปัสสาวะตีบแคบ หรือเกิดแผลเป็นที่อวัยวะเพศชายจากการติดเชื้อและความผิดพลาดจากการผ่าตัด