ขวดนมเป็นของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่ลูกอ่อนที่ควรเตรียมพร้อมไว้และเลือกใช้ให้เหมาะกับลูกน้อย แต่นอกจากการเลือกซื้อ ควรศึกษาวิธีทำความสะอาดและเก็บรักษาขวดนมอย่างถูกต้องด้วย เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ อาการท้องเสีย หรืออาเจียน เป็นต้น
เลือกซื้อขวดนมแบบไหนดี ?
ในปัจจุบันขวดนมตามท้องตลาดมีให้เลือกซื้อหลายรูปแบบ แต่ก็เป็นเรื่องยากในการระบุลักษณะขวดนมที่เหมาะสำหรับทารกอย่างชัดเจน เพราะขวดนมแต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ผลิต หรือรูปทรงของขวดนม เป็นต้น
โดยข้อดีและข้อเสียของวัสดุผลิตขวดนมแต่ละชนิด มีดังนี้
ขวดนมพลาสติก
- ข้อดี น้ำหนักเบา ทนทาน ไม่แตกง่าย
- ข้อเสีย อายุการใช้งานสั้นกว่าแบบแก้ว หากเป็นขวดนมมือสองหรือขวดนมเก่าที่ใช้แล้วก็อาจมีสาร BPA (Bisphenol A) ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งสารนี้ทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเพศในร่างกาย และอาจรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อได้
ขวดนมแก้ว
- ข้อดี ใช้งานได้นาน และสามารถทำความสะอาดด้วยวิธีการต้มได้
- ข้อเสีย หนักกว่าขวดนมแบบพลาสติก และอาจหล่นแตกได้ แต่ขวดนมแก้วบางรุ่นก็ถูกออกแบบให้มีปลอกหุ้มพลาสติกกันแตก
ขวดนมแบบใช้แล้วทิ้ง
- ข้อดี ใช้งานสะดวก ทำความสะอาดง่าย เหมาะสำหรับใช้เมื่อต้องเดินทาง ด้านนอกเป็นพลาสติก ด้านในเป็นถุงปลอดเชื้อ เมื่อใช้งานเสร็จก็สามารถถอดทิ้งและเปลี่ยนขวดใหม่ได้ทันที
- ข้อเสีย ค่าใช้จ่ายสูง เพราะถุงปลอดเชื้อมีราคาสูง และใช้ได้แค่ครั้งเดียว
ขวดนมสแตนเลส
- ข้อดี มีความทนทานสูง แตกยาก
- ข้อเสีย มีราคาสูง
นอกจากนี้ รูปทรงและลักษณะของขวดนมแต่ละชนิดก็อาจแตกต่างกัน ดังนี้
- ขวดนมทรงมาตรฐาน มีลักษณะเป็นทรงกระบอก อาจมีส่วนโค้งเว้าด้านข้างที่ช่วยให้ง่ายต่อการเทนม ทำความสะอาด และกะปริมาณนมด้วยตาเปล่า
- ขวดนมคอโค้ง ขวดนมลักษณะนี้จะมีคอขวดโค้ง จับได้ถนัดมือ ซึ่งทำให้นมอยู่ก้นขวดและช่วยป้องกันเด็กดูดลมเข้าไป แต่อาจเติมนมได้ลำบาก เพราะต้องเอียงขวดหรือใช้กรวยเพื่อเทนม
- ขวดนมคอกว้าง ขวดนมมีปากดูดกว้างและตัวกระบอกสั้น โดยเชื่อว่าขวดที่มีลักษณะคล้ายกับเต้านมแม่นี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทารกที่ต้องดื่มนมจากขวดสลับกับนมจากอกแม่
- ขวดนมแบบมีช่องระบายอากาศ ขวดจะมีท่อคล้ายหลอดอยู่ตรงกลางสำหรับระบายลมและฟองอากาศ ซึ่งเชื่อว่าขวดแบบนี้สามารถป้องกันอาการโคลิคและการเกิดแก๊สในท้องได้ แต่อาจลำบากในการประกอบ จัดเก็บ และทำความสะอาดขวดนม เพราะมีอุปกรณ์หลายชิ้น
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกซื้อขวดนมสัก 2-3 แบบมาลองใช้กับลูกน้อยก่อน แล้วค่อยสังเกตดูว่าแบบไหนเหมาะกับเด็กมากที่สุด จึงค่อยซื้อแบบดังกล่าวมาใช้เพิ่มต่อไป
ข้อควรระวังในการเลือกซื้อขวดนม
การเลือกซื้อขวดนมมีข้อควรระวัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมพลาสติกใสและพลาสติกโพลีคาร์บอเนต โดยสังเกตง่าย ๆ ได้จากเลข 7 หรือตัวอักษร PC ที่พิมพ์อยู่บนผลิตภัณฑ์ เพราะขวดนมดังกล่าวอาจปนเปื้อนสาร BPA เมื่อโดนความร้อนสูง จึงห้ามทำความสะอาดขวดนมชนิดนี้ด้วยการต้ม แต่ควรอุ่นในไมโครเวฟหรือใส่ในเครื่องล้างจานแทน
- เลือกซื้อขวดนมพลาสติกสีขุ่นหรือทึบแสง เพราะทำจากพลาสติกพอลิเอทิลีนหรือพอลิโพรไพลีนที่ปลอดจากสาร BPA โดยมีวิธีการดูง่าย ๆ ด้วยการเลือกซื้อขวดนมที่มีสัญลักษณ์เลข 2 หรือเลข 5 บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นพลาสติกชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
- สังเกตรอยแตกหรือรอยร้าวบริเวณขวดนมทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะรอยต่าง ๆ อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย
วิธีทำความสะอาดและเก็บขวดนมอย่างถูกต้อง
ในช่วงปีแรก ทารกจะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตค่อนข้างสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น ท้องเสีย อาเจียน หรือเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เป็นต้น การดูแลรักษาขวดนมให้สะอาดจึงอาจเป็นอีกทางที่ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อดังกล่าวได้
หลายคนอาจเลือกทำความสะอาดขวดนมด้วยการใช้น้ำสบู่ธรรมดาหรือเลือกใช้การฆ่าเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่นั่นอาจยังไม่สะอาดปลอดภัยเพียงพอ เพราะการทำความสะอาดขวดนมที่ถูกต้องควรใช้ทั้ง 2 วิธีรวมกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับทารก
การล้างขวดนม
โดยวิธีการทำความสะอาดขวดนมก่อนนำไปฆ่าเชื้อ มีดังนี้
- ล้างขวดนม จุกนม และอุปกรณ์ให้นมอื่น ๆ ด้วยน้ำร้อนและสบู่ทันทีที่ใช้งานเสร็จ
- ใช้แปรงทำความสะอาดที่เป็นแปรงสำหรับล้างขวดและล้างจุกนมโดยเฉพาะ และควรกลับด้านในจุกนมออกมาล้างให้สะอาดด้วย แต่ห้ามใช้น้ำเกลือล้าง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
- นำอุปกรณ์ทั้งหมดมาล้างด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง โดยเปิดให้น้ำไหลผ่านก่อนนำไปฆ่าเชื้อเป็นขั้นตอนสุดท้าย
การฆ่าเชื้อขวดนม
สำหรับการฆ่าเชื้อขวดนมและอุปกรณ์ให้นม สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การต้ม เป็นวิธีฆ่าเชื้อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทำได้โดยนำขวดนมและอุปกรณ์ให้นมอื่น ๆ ลงไปต้มในหม้อที่มีน้ำเดือดและปิดฝาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที แต่ก่อนต้มขวดนมควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีฟองอากาศอยู่ในขวดนมหรือจุกนม และขวดนมที่จะนำไปต้มผลิตจากวัสดุที่ทนความร้อนได้ นอกจากนี้ ควรตรวจสภาพจุกนมอย่างสม่ำเสมอ เพราะการต้มทำให้จุกนมเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
การอุ่นในไมโครเวฟ การนำขวดนมไปอุ่นร้อนในไมโครเวฟเป็นวิธีการฆ่าเชื้อที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะใช้เวลาเพียง 1.5 นาที และคงความสะอาดไว้ได้ถึง 3 ชั่วโมงหากเก็บไว้ในที่สะอาดปลอดเชื้อ และยังไม่ทิ้งกลิ่นหรือรสชาติไว้บนขวดนมอีกด้วย โดยการนำขวดนมเข้าไมโครเวฟก็ไม่ควรบิดเกลียวฝาขวดนมจนสุด แต่อาจแง้มฝาไว้เล็กน้อยเพื่อลดการก่อตัวของอากาศภายในขวดนม และควรระวังเรื่องความร้อน เพราะขวดนมตอนอุ่นเสร็จใหม่ ๆ อาจร้อนจัดเมื่อไปจับหรือสัมผัสโดน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ไมโครเวฟนึ่งขวดนมได้ด้วยเช่นกัน โดยใช้ที่นึ่งขวดนมสำหรับไมโครเวฟโดยเฉพาะ และปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจใช้เวลานึ่งนาน 3-8 นาที รวมเวลาพักขวดนมให้เย็นแล้ว ทั้งนี้ ห้ามนำวัสดุที่เป็นโลหะเข้าไมโครเวฟ และระยะเวลาในการฆ่าเชื้อขวดนมด้วยไมโครเวฟแต่ละเครื่องนั้นอาจไม่เท่ากัน เพราะมีกลไกการทำงานและระดับความร้อนที่ต่างกัน
การใช้เครื่องนึ่งขวดนม เป็นอีกวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะใช้เวลาเพียง 12 นาทีซึ่งรวมเวลาพักขวดนมให้เย็นแล้ว และคงความสะอาดไว้ได้ถึง 6 ชั่วโมงหากเก็บไว้ในที่สะอาดปลอดเชื้อ โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัดในการใช้เครื่องนี้ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าวัสดุของขวดนมสามารถใช้กับเครื่องนึ่งขวดนมได้อย่างปลอดภัย สำหรับการวางขวดนมลงในเครื่องนึ่ง ควรเปิดฝาและคว่ำขวดนมลง ซึ่งจะช่วยฆ่าเชื้อโรคภายในขวดนมได้อย่างทั่วถึง
การแช่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ โดยมีวิธีการใช้ทั่วไป คือ นำน้ำยาหรือเม็ดฟู่ฆ่าเชื้อไปละลายกับน้ำเย็นในภาชนะที่ไม่ใช่พลาสติก จากนั้นนำขวดนมและอุปกรณ์ให้นมอื่น ๆ แช่ไว้เป็นเวลา 30 นาที ปิดภาชนะดังกล่าวให้มิดชิด และควรเปลี่ยนน้ำที่ใช้แช่ทุก ๆ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรตรวจให้มั่นใจก่อนว่าขวดนมหรือจุกนมไม่มีฟองอากาศอยู่ภายในก่อนนำลงไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ และควรใช้ลูกสูบเพื่อไม่ให้ขวดนมลอยขึ้นมาเหนือน้ำ
เมื่อไหร่ที่ควรเปลี่ยนขวดนม ?
ข้อสังเกตที่บ่งบอกว่าควรเปลี่ยนขวดนม มีดังนี้
- สังเกตเห็นว่าขวดนมดูไม่เหมาะมือทารกหรือเด็กอาจถือขวดไม่ถนัด
- ขวดนมมีรอยแตก ร้าว รอยขีดข่วน หรือรอยรั่ว
- สีของขวดนมเปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นเหม็น