ขิง ดีต่อสุขภาพจริง หรือแค่มโน

ขิง เป็นพืชที่มีเหง้าใต้ดิน ภายนอกเหง้าเป็นน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีขาวหรือเหลืองอ่อน มักนำมาปรุงอาหารเพราะส่งกลิ่นหอม นอกจากนี้ ขิงยังใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่ม สบู่ และเครื่องสำอางทั้งหลายเช่นกัน ด้านประโยชน์ต่อสุขภาพ มีความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ขิงรักษาโรคหลากหลายชนิดมาอย่างยาวนาน เช่น โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารอย่างท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะ อาหารไม่ย่อย อาการเมารถเมาเรือ คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร

ขิง

คุณสมบัติของขิงเชื่อว่าประกอบด้วยสารที่อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และลดการอักเสบ โดยนักวิจัยส่วนใหญ่คาดว่าเป็นสารที่ออกฤทธิ์ในกระเพาะอาหารและลำไส้ และสารนี้อาจส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาทส่วนที่ควบคุมอาการคลื่นไส้ด้วย แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังไม่ชัดเจนนัก และคุณสมบัติด้านอื่น ๆ มีข้อมูลน้อยกว่า ซึ่งประโยชน์ของขิงต่อสุขภาพที่เราเชื่อกันนั้น ขณะนี้ทางวิทยาศาสตร์มีข้อมูลชี้แจงไว้ดังนี้

การรักษาที่อาจได้ผล

อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีหรือเอดส์ สรรพคุณบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนของขิงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคนี้ที่มักได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรค โดยจากการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 102 คน แบ่งให้กลุ่มหนึ่งรับประทานขิง 500 กรัม อีกกลุ่มรับประทานยาหลอกวันละ 2 ครั้ง ในช่วง 30 นาทีก่อนจะได้รับยารักษาโรคเอดส์อย่างยาต้านรีโทรไวรัส เป็นเวลาทั้งหมด 14 วัน พบว่าขิงช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีได้

อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังจากการผ่าตัด ขิงอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากการผ่าตัดได้เช่นเดียวกัน โดยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ว่าการรับประทานขิง 1-1.5 กรัม ในช่วง 1 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดนั้นดูเหมือนจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้นในระหว่าง 24 ชั่วโมงหลังได้รับการผ่าตัด

งานวิจัยหนึ่งทดลองแบ่งคนไข้จำนวน 122 คนที่รับการผ่าตัดต้อกระจกให้รับประทานแคปซูลขิง 1 กรัม และอีกกลุ่มได้รับแคปซูลขิง 500 มิลลิกรัม แต่แบ่งให้ 2 ครั้งก่อนผ่าตัด ซึ่งผลลัพธ์พบว่าคนไข้ในกลุ่มหลังมีอาการคลื่นไส้อาเจียนน้อยครั้งและมีความรุนแรงของอาการน้อยกว่า โดยงานวิจัยนี้พบว่าการใช้ขิงนั้นน่าจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อรับประทานเป็นประจำและสม่ำเสมอโดยแบ่งปริมาณการใช้

นอกจากนี้ การทดลองทาน้ำมันขิงบริเวณข้อมือของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด พบว่าช่วยป้องกันอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จากผู้เข้ารับการผ่าตัดทั้งหมด ทว่าการใช้ขิงช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมกับยาลดคลื่นไส้อาเจียนนั้นอาจให้ผลได้ไม่ดีนัก รวมทั้งการใช้ขิงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการคลื่นไส้อาเจียนน้อยอยู่แล้วก็อาจไม่ได้ผลเช่นกัน

อาการแพ้ท้อง การรับประทานขิงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือเวียนศีรษะ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ช่วยยืนยันคุณสมบัตินี้เป็นการทดลองในหญิงที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ จำนวน 120 คน ซึ่งเผชิญอาการแพ้ท้องทุกวันนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และไม่รู้สึกดีขึ้นแม้จะเปลี่ยนการรับประทานอาหารแล้วก็ตาม หลังจากรับประทานสารสกัดจากขิง 125 มิลลิกรัม ซึ่งเทียบเท่ากับขิงแห้ง 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง 4 วัน ผลลัพธ์ได้แสดงให้เห็นว่าขิงอาจสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะการรักษาทางเลือกต่ออาการแพ้ท้องได้

นับว่าสอดคล้องกับอีกงานวิจัยก่อนหน้าที่ชี้ว่าการรับประทานขิง 1 กรัมต่อวัน ติดต่อนาน 4 วัน สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องได้ อย่างไรก็ตามการใช้ขิงสำหรับคุณประโยชน์ด้านนี้อาจเห็นการรักษาได้ช้ากว่าหรือให้ผลดีไม่เทียบเท่าการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติช่วยลดอาการแพ้ท้องของขิงยังมีข้อจำกัดและพบผลลัพธ์ที่ไม่สม่ำเสมอ โดยมีบางการทดลองที่ชี้ว่าขิงอาจไม่ได้มีส่วนช่วยในการลดอาการแพ้ท้องเช่นกัน

อาการวิงเวียนศีรษะ อาการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการคลื่นไส้นี้อาจบรรเทาให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้คุณประโยชน์จากขิง จากงานวิจัยที่ทดลองด้วยการให้ผู้ที่มีอาการบ้านหมุน และตากระตุกจากการกระตุ้นโดยใช้อุณหภูมิรับประทานผงเหง้าขิง ปรากฏว่าเหง้าขิงช่วยลดอาการวิงเวียนศีรษะได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก แต่ไม่ได้ช่วยลดระยะเวลาหรือชะลอการกระตุกของตามากนัก

โรคข้อเสื่อม มีการศึกษาบางงานที่ชี้ว่าขิงอาจมีสรรพคุณลดอาการเจ็บที่เกิดจากโรคข้อเสื่อม จากการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากขิงชนิดหนึ่ง (Zintona EC) ในปริมาณ 250 กรัม วันละ 4 ครั้ง พบว่าช่วยลดอาการปวดข้อเข่าหลังจากการรักษาเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนอีกงานวิจัยที่ใช้สารสกัดจากขิงผสมกับข่า พบว่าให้ผลลัพธ์ในการช่วยลดอาการเจ็บขณะยืน อาการเจ็บหลังเดิน และอาการข้อติด

นอกจากนี้ มีการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างขิงและยาแก้ปวด โดยให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบในกระดูกสะโพกและข้อเข่ารับประทานสารสกัดขิง 500 มิลลิกรัมทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ขิงให้ผลบรรเทาอาการปวดได้เทียบเท่ากับการใช้ยาไอบูโพรเฟน 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง และยังมีงานวิจัยที่แนะนำว่าการนวดด้วยน้ำมันที่มีส่วนผสมของขิงและส้มอาจช่วยบรรเทาอาการปวดและเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเข่าได้ด้วย

อาการปวดประจำเดือน นอกจากอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม การศึกษาบางงานยังชี้ว่าขิงอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เช่น การทดลองในนักศึกษามหาวิทยาลัย 120 คน โดยให้รับประทานผงเหง้าขิงครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งในช่วง 2 วันก่อนเริ่มมีประจำเดือนต่อเนื่องไปจนถึง 3 วันแรกของการมีประจำเดือน รวมทั้งหมดเป็น 5 วัน พบว่าผงเหง้าขิงมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของขิงและยาลดอาการปวดประจำเดือนอย่างเมเฟนามิค (Mefenamic acid) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) 400 มิลลิกรัม ในอาสาสมัคร 150 คน โดยแบ่งกลุ่มรับประทานแคปซูลขิงหรือยาแต่ละชนิดในปริมาณ 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วัน โดยเริ่มตั้งแต่มีประจำเดือน ผลลัพธ์ปรากฏไปในทิศทางเดียวกันกับงานวิจัยแรก คือ ขิงมีประสิทธิภาพบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนไม่แตกต่างกับการใช้ยาเมเฟนามิคหรือไอบูโพรเฟน

การรักษาที่อาจไม่ได้ผล

อาการเมารถและเมาเรือ นับเป็นสรรพคุณของขิงที่มีการกล่าวถึงกันมาก ทว่าแม้ขิงอาจจะช่วยลดอาการวิงเวียนได้ แต่สำหรับการวิงเวียนคลื่นไส้ที่เกิดจากการเดินทางนั้น งานวิจัยส่วนมากระบุว่าขิงอาจไม่มีส่วนช่วยได้จริง เช่น การแบ่งกลุ่มให้นักเรียนนายเรือ 80 คนที่ไม่คุ้นเคยกับการออกเรือท่ามกลางทะเลที่มีคลื่นแรง รับประทานเหง้าขิง 1 กรัม เทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานยาหลอก ปรากฏว่ากลุ่มที่รับประทานขิงนั้นมีอาการคลื่นไส้และวิงเวียนน้อยลงจริงแต่อยู่ในระดับเล็กน้อยเท่านั้น หรือในอีกงานวิจัยที่ชี้ว่าการรับประทานผงขิงในปริมาณ 500 กรัม 1,000 กรัม หรือเหง้าขิงสด 1,000 มิลลิกรัม ต่างไม่มีส่วนช่วยในการป้องกันอาการเมารถหรือการทำงานของกระเพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับอาการเมารถที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใด

การรักษาที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อการระบุประสิทธิภาพ

อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด อีกหนึ่งสรรพคุณคือลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แต่หลักฐานเกี่ยวกับการใช้ขิงในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดนั้นยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ว่าจะมีส่วนช่วยได้จริงหรือไม่ การศึกษาหนึ่งที่ชี้ถึงประโยชน์ข้อนี้ของขิง โดยให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลขิงที่ประกอบด้วยขิง 0.5-1.5 กรัม เทียบกับยาหลอก ตั้งแต่ 3 วันก่อนวันทำเคมีบำบัดนานต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วัน พบว่า มีระดับความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษาน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทานแคปซูลขิง แต่เห็นผลได้ชัดในกลุ่มที่ใช้แคปซูลขิง 0.5 กรัม กับ 1 กรัมเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่รับประทานแคปซูลขิง 1.5 กรัมกลับได้ผลน้อยกว่า แสดงว่าการรับประทานขิงในปริมาณมากจึงอาจไม่ได้ทำให้อาการคลื่นไส้ดีขึ้นอย่างที่น่าจะเป็น

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่โต้แย้งข้อสนับสนุนดังกล่าวซึ่งเป็นงานวิจัยที่เผยว่าการรับประทานขิงไม่ได้มีประสิทธิภาพดีไปกว่าการใช้ยาแก้คลื่นไส้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ขัดแย้งกันนี้ คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากปริมาณขิงที่ใช้ทดลองนั้นแตกต่างกัน รวมถึงช่วงเวลาที่เริ่มรักษาด้วย ขิงจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในด้านนี้แล้วเห็นผลหรือไม่คงต้องมีการพิสูจน์เพิ่มเติมต่อไป

โรคเบาหวาน คุณสมบัติของขิงต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานในปัจจุบันยังมีผลการศึกษาที่ไม่แน่นอน งานวิจัยหนึ่งพบว่าการรับประทานขิง 2 กรัม นาน 12 สัปดาห์ สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม ระดับไขมันในเลือด และสารมาลอนไดอัลดีไฮด์ที่แสดงถึงระดับอนุมูลอิสระในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังบางชนิดจากโรคเบาหวานได้ ในขณะเดียวกัน มีงานวิจัยอื่น ๆ ที่แนะนำว่าขิงนั้นส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดจริง แต่กลับไม่มีผลต่อระดับอินซูลิน หรือบางงานวิจัยบอกว่าขิงมีผลกับอินซูลิน แต่กลับไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งผลการศึกษาที่ต่างกันนั้นอาจมาจากปริมาณขิงหรือระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานในแต่ละการทดลองนั้นไม่เท่ากันนั่นเอง

อาหารไม่ย่อย มีการวิจัยศึกษาประสิทธิภาพของขิงในผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อยจำนวน 11 คน โดยให้รับประทานแคปซูลที่ประกอบด้วยขิง 1.2 กรัมหลังจากการอดอาหาร 8 ชั่วโมง ผลปรากฏว่าขิงช่วยกระตุ้นให้กระเพาะเกิดการย่อยอาหารและเกิดการบีบตัวของกระเพาะส่วนปลาย ทว่าการรับประทานขิงนั้นไม่มีผลต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารหรือสารเปปไทด์ในลำไส้ อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมการทดลองนี้มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่าขิงช่วยลดอาการอาหารไม่ย่อยได้แน่นอนเพียงใด

อาการเมาค้าง เชื่อกันว่าการดื่มน้ำขิงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเมาค้างซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ สำหรับประโยชน์ข้อนี้มีงานวิจัยเมื่อนานมาแล้วที่แนะนำว่าการผสมขิงกับเปลือกด้านในของส้มเขียวหวาน และน้ำตาลทรายแดงก่อนดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยลดอาการเมาค้างในภายหลัง รวมถึงอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสีย อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวยังถือว่าคลุมเครืออยู่มากและไม่อาจรับรองได้ว่าเป็นผลมาจากขิงจริง ๆ หรือส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใช้ประกอบ

ลดคอเลสเตอรอล คุณสมบัติของขิงซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลนั้นได้มีการทดลองโดยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงรับประทานแคปซูลขิงวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 กรัม ผลลัพธ์ระบุว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานยาหลอก ขิงมีประสิทธิภาพช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการใช้ขิงลดระดับคอเลสเตอรอลจะให้ผลดีจนสามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยภาวะนี้ได้หรือไม่คงต้องรอการศึกษาในอนาคตที่ชัดเจนกันต่อไป

อาการเจ็บกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย คุณสมบัติด้านการบรรเทาปวดและลดการอักเสบของขิงจะช่วยลดอาการเจ็บจากการออกกำลังกายได้ด้วยหรือไม่นั้นยังคงคลุมเครือและเป็นที่โต้แย้งกันอยู่เช่นกัน จากการทดลองหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมรับประทานขิงสดหรือขิงที่ทำให้สุกด้วยความร้อนแล้ว 2 กรัมอย่างต่อเนื่องนาน 11 วัน พบว่าทั้งขิงสดและขิงสุกต่างมีส่วนช่วยลดอาการเจ็บกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายแบบหดยืดกล้ามเนื้อได้ในระดับปานกลางไปจนถึงระดับมาก

ทว่าอีกงานวิจัยหนึ่งกลับพบผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม จากการให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ทำกิจกรรมออกกำลังกายยืดหดกล้ามเนื้อแบบเดียวกัน รับประทานขิง 2 กรัมในช่วง 24 ชั่วโมงและ 48 ชั่วโมงหลังจากการออกกำลังกาย พบว่าไม่ได้ส่งผลให้อาการเจ็บกล้ามเนื้อ การอักเสบ หรือบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายลดลง แต่ผู้วิจัยพบว่าการรับประทานขิงอาจช่วยให้อาการเจ็บกล้ามเนื้อค่อย ๆ ดีขึ้นในแต่ละวัน แม้อาจไม่เห็นผลได้ทันที

อาการปวดศีรษะไมเกรน มีการศึกษากับผู้ป่วย 100 คน ที่เคยมีอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลันโดยให้รับผงขิงหรือยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลันอย่างซูมาทริปแทน (Sumatriptan) พบว่าความพอใจของผู้ป่วยใน 2 ชั่วโมงหลังจากการใช้ยาหรือขิงนั้นไม่ต่างกัน ผงขิงจึงอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยารักษาไมเกรน และมีผลข้างเคียงจากการใช้ที่ดีกว่ายาซูมาทริปแทน ซึ่งนับว่าเป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจและอาจนำไปสู่การศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีการใช้ขิงเป็นสมุนไพรทางเลือกเพื่อรักษาอาการเจ็บจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งในไทยเอง จากการศึกษา นักวิจัยบางคนคาดว่าสารพฤกษาเคมีในเหง้าขิงนั้นมีประโยชน์ต่อการรักษาและบรรเทาอาการจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ด้วยคุณสมบัติที่อาจช่วยให้กระดูกไม่ถูกทำลายจากโรคนี้ อย่างไรก็ตาม การเกิดโรครูมาตอยด์นั้นมีความซับซ้อน การศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับโมเลกุลที่เป็นสาเหตุและสารพฤกษาเคมีในขิงต่อการช่วยยับยั้งการเกิดโรคยังจำเป็นต้องได้มีการศึกษามากกว่านี้

ลดน้ำหนัก จากความเชื่อที่ว่าการดื่มน้ำขิงอาจช่วยลดน้ำหนักหรือเร่งการเผาผลาญ ทางวิทยาศาสตร์เองนั้นได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องดื่มขิงร้อนต่อการใช้พลังงานของร่างกาย ความรู้สึกอยากอาหาร ความอิ่ม และความเกี่ยวโยงกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเผาผลาญในชายที่มีภาวะน้ำหนักเกิน พบว่าการดื่มน้ำขิงร้อนหลังอาหารเช้าช่วยเผาผลาญพลังงานและความรู้สึกอยากอาหารลงไปได้ และคาดว่าน้ำขิงอาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวยังเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กในชายที่มีน้ำหนักเกิน 10 คนเท่านั้น

เพิ่มความอยากอาหาร มีการกล่าวถึงสรรพคุณของขิงที่ดีต่อระบบย่อยอาหารและลดอาการเบื่ออาหาร ทว่าข้อนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นจริงและไม่อาจอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของขิงในการกระตุ้นความอยากอาหารได้ในปัจจุบัน

ป้องกันโรคหวัด จากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ มีการทดลองโดยใช้ขิงแห้งและขิงสดมาทำเป็นเครื่องดื่มน้ำขิงร้อน เพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัสอาร์เอสวี (Human Respiratory Syncytial Virus) ผลลัพธ์พบว่าน้ำขิงที่ได้จากขิงสดมีประสิทธิภาพต่อต้านการสะสมของเชื้อไวรัสบริเวณเยื่อบุผิวทางเดินหายใจด้วยการป้องกันการยึดเกาะหรือการแพร่เข้าสู่เซลล์ร่างกายของไวรัสได้ ซึ่งหากในอนาคตมีการศึกษาด้านนี้เพิ่มเติมก็อาจช่วยให้ทราบถึงคุณประโยชน์ในการป้องกันโรคหวัดของขิงได้ชัดเจนกว่านี้

ภาวะความดันโลหิตสูง ขิงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงบางคนสรรหามาลองใช้ โดยคาดว่าอาจมีคุณประโยชน์ต่อระบบการไหลเวียนโลหิตและช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ หลอดเหลือด แต่การศึกษาถึงประสิทธิภาพต่อการลดระดับความดันโลหิตในมนุษย์นั้นยังมีอยู่น้อยมากและเป็นการทดลองด้วยการใช้ขิงในปริมาณน้อย ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพการรักษาได้เช่นเดียวกับประโยชน์อีกหลายข้อของขิง

ผมบาง ศีรษะล้าน เชื่อกันว่าหนึ่งในเคล็ดลับแก้ผมบางคือการนำเอาขิงมาบดประคบร้อนหรือใช้ขิงผิงไฟพออุ่น ก่อนบดให้ละเอียดแล้วทาบนหนังศีรษะ โดยเชื่อว่าจะช่วยลดการขาดหลุดร่วงและกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้ แต่ข้อดีด้านนี้ของขิงนั้นยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ผู้ที่ต้องการลองทำตามจึงควรใช้อย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย

ใช้ขิงอย่างไรจึงจะปลอดภัย?

ขิงเมื่อใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารโดยทั่วไปนั้นเชื่อว่าน่าจะปลอดภัย แต่สำหรับบางคนการรับประทานขิงอาจทำให้มีอาการข้างเคียง เช่น เกิดความรู้สึกไม่สบายท้อง มีแก๊สในกระเพาะ แสบร้อนกลางอก ท้องเสีย และมีรายงานเกี่ยวกับการมีเลือดประจำเดือนออกมากว่าปกติในหญิงบางราย ส่วนการใช้ขิงทาลงบนผิวหนังนั้นน่าจะปลอดภัยหากใช้อย่างเหมาะสมในช่วงระยะสั้น ๆ แต่ก็อาจก่อการระคายเคืองในบางคนได้เช่นกัน ทั้งนี้การใช้หรือรับประทานขิงยังควรระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีต่อไปนี้

  • งานวิจัยหลายงานแนะว่าหญิงตั้งครรภ์น่าจะสามารถรับประทานขิงเพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้องได้อย่างไม่เป็นอันตรายต่อทารก โดยอัตราความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติต่อเด็กในครรภ์มีไม่เกินกว่า 1-3 เปอร์เซ็นต์ และไม่ปรากฏว่าขิงส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือการมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย แต่มีข้อกังวลว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าไม่ควรใช้ขิงในช่วงใกล้เวลาคลอด และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้
  • การรับประทานขิงในระหว่างให้นมบุตรยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอจะยืนยันได้ว่าปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุด
  • การรับประทานขิงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ผู้ที่มีปัญหาด้านการมีเลือดออกผิดปกติควรใช้อย่างระมัดระวัง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในรับประทานขิง เพราะอาจส่งผลให้ระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้ และอาจจำเป็นต้องปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวานโดยแพทย์เสียก่อน
  • การรับประทานขิงในปริมาณมากเกินไปอาจกระทบต่อโรคเกี่ยวกับหัวใจที่เป็นอยู่จนอาการแย่ลงได้
  • มีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญบางคนว่าขิงอาจไปเพิ่มการไหลของน้ำดี ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีควรใช้อย่างรอบคอบ
  • การใช้ขิงร่วมกับยารักษาโรคที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของโรคอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการฟกช้ำหรือมีเลือดออก เช่น แอสไพริน (Aspirin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) อีนอกซาพาริน (Enoxaparin) เฮพาริน (Heparin) และวาร์ฟาริน (Warfarin)

ปริมาณการใช้โดยปลอดภัย

การใช้หรือรับประทานขิงเพื่อจุดประสงค์ในการรักษาโรคตามการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือและน่าจะปลอดภัยในปัจุบัน มีการใช้ดังนี้

การรับประทาน

  • อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ รับประทานวันละ 1 กรัม โดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ในช่วง 30 นาทีก่อนรับยาต้านรีโทรไวรัส เป็นเวลานาน 14 วัน
  • อาการปวดประจำเดือน รับประทานสารสกัดจากขิงวันละ 4 ครั้ง นาน 3 วันตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน และรับประทานผงขิงวันละ 1,500 กรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ 2 วันก่อนก่อนเริ่มมีประจำเดือนและรับประทานอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 ของการมีประจำเดือน
  • อาการแพ้ท้อง ใช้วันละ 500-2,500 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง นานตั้งแต่ 3 วันถึง 3 สัปดาห์
  • โรคข้อเสื่อม เคยมีการศึกษาด้วยสารสกัดจากขิงหลายชนิดและมีปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารสกัดชนิดนั้น ๆ
  • อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด รับประทานผงเหง้าขิง 1-2 กรัม ในช่วง 30-60 นาทีก่อนได้รับยาระงับความรู้สึก และมีบางงานวิจัยที่ให้รับประทานขิง 1 กรัมหลังรับการผ่าตัดแล้ว 2 ชั่วโมง

การทาลงบนผิวหนัง

  • โรคข้อเสื่อม ใช้เจลที่มีส่วนประกอบของขิงและไพล วันละ 4 กรัม โดยแบ่งทาวันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์

การบำบัดด้วยการสูดดม

  • อาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด ใช้น้ำมันหอมระเหยจากขิงเพียงอย่างเดียวหรือผสมกับสเปียร์มินท์ เปปเปอร์มินท์ และกระวานเทศ โดยสูดหายใจเข้าผ่านทางจมูกและหายใจออกทางปาก 3 ครั้งหลังจากการผ่าตัด